คลังคอนเฟิร์ม! บ้าน-คอนโดฯ ปล่อยเช่ารายเดือน ‘ไม่’ ถือเป็น ‘การพาณิชย์’ กรณีภาษีที่ดิน

(photo: Shutterstock)

กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกำลังจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2563 สร้างความวิตกให้ผู้ที่มีบ้าน-คอนโดฯ มากกว่าหนึ่งหลัง และอาจให้บุคคลอื่นเช่าพักว่า อาจจะถูกเก็บภาษีในหมวดพาณิชยกรรม ซึ่งจะต้องจ่ายภาษีแพงกว่าหมวดที่อยู่อาศัยหลังที่สองเกิน 10 เท่าตัว กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงมหาดไทยจึงออกโรงชี้แจง “บ้าน-คอนโดฯ ปล่อยเช่ารายเดือน” นั้นให้ถือว่าเป็น “ที่อยู่อาศัย” ไม่ใช่การพาณิชย์

“ประสงค์ พูนธเนศ” ปลัดกระทรวงการคลัง และ “ฉัตรชัย พรหมเลิศ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมชี้แจงเกี่ยวกับการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ได้แก่ ห้องชุด บ้าน โรงเรือน อาคาร ตึก ตึกแถว หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นใด ที่มีลักษณะให้บุคคลใช้เพื่อการอยู่อาศัย

ดังนั้นเพื่อไม่เกิดผลกระทบกับประชาชนที่มีจุดประสงค์หลักในการใช้ประโยชน์บนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัย กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงมหาดไทยขอชี้แจงแนวทางการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ดังนี้

  1. เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะให้บุคคลใช้เพื่อการอยู่อาศัย เช่น ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเอง ให้ญาติพี่น้องอยู่อาศัย หรือให้เช่าเพื่ออยู่อาศัย ให้เสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย
  2. ให้ครอบคลุมถึงช่วงเวลาระหว่างการก่อสร้าง หรือปรับปรุงต่อเติมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัยด้วย เช่น บ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการตกแต่ง เป็นต้น
  3. ไม่รวมถึงโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา หรือสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ขายตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด

กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยเห็นว่า แนวทางดังกล่าวจะเป็นประโยชน์และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อการอยู่อาศัยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อยซึ่งไม่มีที่พักอาศัยของตนเอง หรือที่เช่าที่อยู่อาศัย รวมถึงเจ้าของทรัพย์สินที่ให้บุคคลอื่นเพื่อการอยู่อาศัย หรือการให้บุคคลอื่นเช่าเพื่อการอยู่อาศัยด้วย

นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยลดภาระของประชาชนที่จะต้องไปติดต่อกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และยังเป็นการลดภาระให้แก่เจ้าหน้าที่ อปท. ในการสำรวจอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทยจะได้ดำเนินการแจ้งให้ อปท. ทั่วประเทศทราบและถือปฏิบัติต่อไป

สำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นเป็นภาษีที่ใช้ทดแทนภาษีโรงเรือน มีการแยกการจัดเก็บออกเป็น 3 หมวด ตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน คือ 1.ที่อยู่อาศัย (แยกเป็นบ้านหลังหลักและบ้านหลังอื่นๆ) 2.เกษตรกรรม 3.อื่นๆ (แยกเป็นพาณิชยกรรมและที่ดินว่างเปล่า) จุดประสงค์หลักของกฎหมายต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นจากการถือครองที่ดินจำนวนมาก ทำให้ที่ดินว่างเปล่าเป็นหมวดที่เสียภาษีสูงที่สุด รองลงมาคือที่ดินพาณิชยกรรม

หลังกฎหมายหลักออกมาแล้วยังเหลือกฎหมายลูกอีก 8 ฉบับ ที่กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยจะทยอยออกประกาศนับจากนี้ ซึ่งในตัวกฎหมายลูกจะเป็นรายละเอียดที่ชัดเจนว่าคำนิยามการใช้ประโยชน์ที่ดิน จะตั้งกฎเกณฑ์อย่างไร เช่น ที่ดินเกษตรกรรม ต้องมีการปลูกพืชผลอะไรในสัดส่วนเท่าไหร่ต่อพื้นที่ 1 ไร่ เพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษีแบบมี ‘ป่ากล้วยกลางเมือง’ แล้วนับเป็นที่ดินเกษตรกรรมแทนที่ดินว่างเปล่า

ประเด็นการนำบ้านหรือห้องชุดปล่อยเช่าเป็นอีกรายละเอียดหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามว่าจะนับการใช้ประโยชน์นี้ว่าเป็น “พาณิชยกรรม” หรือเป็น “บ้านหลังอื่นๆ” ซึ่งการเสียภาษีจะมีอัตราต่างกันเกิน 10 เท่าตัว เช่น หากนาย A มีบ้านให้เช่าราคา 10 ล้านบาท ถ้านับเป็นหมวดพาณิชยกรรมจะเสียภาษีที่ดินอัตรา 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาท เท่ากับนาย A ต้องเสียภาษีปีละ 30,000 บาท แต่ถ้านับว่าเป็นหมวดบ้านหลังอื่นๆ จะเสียภาษีอัตรา 0.02% หรือล้านละ 200 บาท เท่ากับนาย A เสียภาษีบ้านหลังนี้เพียงปีละ 2,000 บาท

คำยืนยันจากคลังและมหาดไทยน่าจะสร้างความโล่งใจให้นักลงทุนปล่อยเช่าได้บ้าง แต่ยังต้องรอความชัดเจนจากกฎหมายลูกกันอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะถึงเวลาแจ้งชำระภาษีที่ดินของจริงช่วงเดือนมิถุนายน 2563