กฎหมายห้ามเครื่องสำอางใช้ “เม็ดสครับ” จากพลาสติกไมโครบีดส์ ดีเดย์ 1 ม.ค. 63

ดีเดย์ 1 ม.ค. 63 บังคับใช้ กม.ห้ามเครื่องสำอางใช้พลาสติกไมโครบีดส์ หรือเม็ดบีดส์เป็นส่วนผสม เหตุย่อยสลายยาก ระบบน้ำเสียกรองออกไม่ได้ เสี่ยงปนเปื้อนระบบนิเวศ สะสมในสัตว์

มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้เครื่องสำอางที่ใช้แล้วล้างออกที่มีส่วนผสมของพลาสติกไมโครบีดส์ เป็นเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย โดยได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป

เนื่องจากพลาสติกไมโครบีดส์เป็นพลาสติกขนาดเล็กมากและสลายตัวได้ยากในธรรมชาติ เมื่อถูกชะล้างลงไปตามท่อระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสียจะไม่สามารถกรองพลาสติกไมโครบีดส์เหล่านี้ออกไปได้ ทำให้เกิดการสะสมในสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำ และอาจปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร โดยสะสมอยู่ในสัตว์น้ำที่ได้รับพลาสติกไมโครบีดส์ เช่น ปลา หอย และสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคที่รับประทานสัตว์น้ำเหล่านั้นได้

การห้ามนำพลาสติกไมโครบีดส์มาใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562 ที่ให้เลิกใช้พลาสติกไมโครบีดส์ในประเทศไทยภายในปี 2562 ตามโรดแมป (Roadmap) การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573

โดยพลาสติกไมโครบีดส์ที่ผสมอยู่ในเครื่องสำอางมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ทำความสะอาด ขัดผิว แล้วล้างออก เช่น โฟมล้างหน้า สบู่ ผลิตภัณฑ์ขัดผิวกาย ซึ่งเมื่อล้างออกจากร่างกายพลาสติกไมโครบีดส์จะถูกชะล้างลงไปตามท่อระบายน้ำ และก่อให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้บริโภคตามที่กล่าวข้างต้น

ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า การกำกับดูแลพลาสติกไมโครบีดส์ในเครื่องสำอางเป็นไปตามสากล และเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมรวมถึงคุ้มครองสุขภาพของคนไทย ขณะนี้ผู้ประกอบการรับทราบและพร้อมให้ความร่วมมือในการเลิกใช้พลาสติกไมโครบีดส์ ในผลิตภัณฑ์

โดยผู้ประกอบการรายเก่าจะผ่อนผันให้ขายได้จนถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2563 ซึ่งส่วนใหญ่ ได้เรียกคืนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีพลาสติกไมโครบีดส์เป็นส่วนประกอบออกจากท้องตลาดแล้ว หากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางใดมีความจำเป็นต้องใช้ไมโครบีดส์อาจใช้ไมโครบีดส์จากธรรมชาติเป็นการทดแทนได้