“หัวหน้า” ที่แย่ที่สุดประจำปี 2019 : หัวหน้าที่ทำงานไม่เป็น

(photo: Shutterstock)
งานวิจัยจากการสำรวจความเห็นพนักงาน 28,000 คนจาก 35 ประเทศในทวีปยุโรป พบว่า ประเภทของหัวหน้าที่แย่ที่สุดไม่ใช่หัวหน้าที่ไม่เคารพลูกน้องหรือหัวหน้าที่ไม่ให้การสนับสนุนพนักงาน แต่เป็นหัวหน้าที่ “ทำงานไม่เป็น”

ในงานวิจัยชิ้นนี้ พนักงานจะให้คะแนนหัวหน้าระดับผู้จัดการของตนเองใน 7 หมวดความสามารถที่เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้นำ คือ การให้ความเห็นต่องาน, ความเคารพต่อลูกน้อง, ให้การยอมรับและเห็นค่าของลูกน้อง, ทำงานของตนได้สำเร็จลุล่วง, กระตุ้นให้พนักงานพัฒนาตนเอง สุดท้ายคือ การสร้างทีมเวิร์กและสนับสนุนพนักงาน

โดยรวมแล้ว หากผู้จัดการท่านใดถูกประเมินคะแนนต่ำกว่า 3 เต็ม 5 จากการรวมคะแนน 7 หมวดนี้ จะถูกถือว่าเป็นหัวหน้าที่ “แย่”

ปรากฏว่า กลุ่มหัวหน้าที่ได้คะแนนต่ำที่สุด ท่ามกลางบรรดาหัวหน้าแย่ๆ คือ หัวหน้าที่ไม่สามารถทำงานของตนได้สำเร็จ

“ข้อสรุปของเราสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า หัวหน้าที่แย่มักจะเป็นคนที่ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานให้สำเร็จ” Amanda Goodall หนึ่งในนักวิจัยของงานชิ้นนี้กล่าว ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย 3 แห่ง ได้แก่ University of London, Warwick University และ University of Wisconsin

หัวหน้าที่แย่ที่สุดคือหัวหน้าที่ไม่มีประสิทธิภาพการทำงานของตนเอง (photo: Pressfoto / Freepik)

นักวิจัยกล่าวว่า ข้อสรุปนี้ตรงกับคอนเซ็ปต์ของ “Peter Principle” ซึ่งเป็นทฤษฎีที่กล่าวถึง นักบริหารที่ถูกโปรโมตขึ้นสู่ตำแหน่งเร็วเกินไปหนึ่งขั้นเมื่อวัดจากความสามารถของพวกเขา เหตุการณ์นี้นำไปสู่ผลกระทบลูกโซ่ต่อลูกน้อง เพราะลูกน้องจะต้องคลำหาทางทำงานเอาเอง เนื่องจากหัวหน้าก็ไม่รู้วิธีทำงานให้สำเร็จจึงไม่สามารถช่วยให้ลูกน้องทำงานสำเร็จได้เหมือนกัน

 

จะทำอย่างไรเมื่อคุณมี “หัวหน้าที่ทำงานไม่เป็น”

CNBC รวบรวมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ สำหรับวิธีการ ‘ดีล’ กับหัวหน้าที่ทำงานไม่เป็น ดังนี้

  • ปรับตัวมาเป็นผู้คุมการทำงานเอง
  • เปิดบทสนทนาเรื่องงานด้วยตนเอง
  • ตั้งเดดไลน์การทำงานเอง เพื่อให้งานต่างๆ เดินตามตาราง

Vicki Salemi ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพจาก Monster.com ยังกล่าวด้วยว่า หากคุณไม่เชื่อมั่นในความสามารถของหัวหน้า และคิดว่าตนเองสามารถทำได้ดีกว่า ความจริงก็คือ คุณอาจจะคิดถูก “ดังนั้นทำไมคุณไม่ลองมองหางานนอกองค์กรที่คุณอยู่ และอาจจะเป็นตำแหน่งที่สูงขึ้นด้วย” Salemi กล่าว

 

หัวหน้าแย่ลำดับต่อมา : ไม่ลงทุนในการพัฒนาตนเองของลูกน้อง

กลุ่มหัวหน้าที่แย่ในงานวิจัยยังมักจะได้คะแนนต่ำในหมวดการกระตุ้นให้พนักงานพัฒนาตนเอง ซึ่งที่จริงแล้วเป็นประเด็นสำคัญสำหรับผู้จ้างงาน เพราะ 94% ของพนักงานที่ตอบแบบสอบถามของ LinkedIn มองว่าตนเองจะอยู่กับองค์กรนานขึ้น หากองค์กรลงทุนเพื่อช่วยให้พวกเขาเรียนรู้สิ่งใหม่

(photo: pixabay.com)

แล้วถ้าคุณเจอกับหัวหน้าแบบนี้จะทำอย่างไรได้บ้าง? คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ คือ

  • คุยกับหัวหน้าถึงประเด็นที่คุณกังวล โดยให้เป็นการสื่อสารสองทาง ไม่ใช่ทางเดียว
  • ศึกษาหาวิธีการพัฒนาอาชีพการงานของตนเอง เช่น โปรแกรมการฝึกทักษะ ประชุมสัมมนา
  • ศึกษางบประมาณในบริษัทว่ามีส่วนไหนที่คุณสามารถนำมาใช้ได้ แล้วนำเสนอแผนการพัฒนาทักษะเพื่อของบส่วนนั้น

 

13% เท่านั้นที่มองว่าตนเองมีหัวหน้าที่แย่

ในเรื่องเลวร้ายยังมีเรื่องที่ดี งานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า มีเพียง 13% ของหัวหน้าทั้งหมดที่ตกอยู่ในกลุ่มหัวหน้าที่แย่ และแม้แต่กลุ่มหัวหน้าแย่ๆ เหล่านี้ มีหมวดหนึ่งที่พวกเขามักจะยังได้รับการประเมินคะแนนดีอยู่ นั่นคือความเคารพต่อลูกน้อง

“การที่หัวหน้าได้รับการประเมินเรื่องความเคารพต่อลูกน้องเป็นบวก ถือเป็นสัญญาณที่ดี” Salemi กล่าว “ความเคารพและให้ความสำคัญคือกุญแจไปสู่บรรยากาศการทำงานเชิงบวก แค่เพียงประโยคง่ายๆ อย่าง ‘ขอบคุณนะ ทำได้ดีมาก’ จะสร้างผลที่ดีได้ในระยะยาว”

แล้วคุณล่ะ มีหัวหน้าที่แย่หรือเป็นหัวหน้าที่แย่อยู่หรือเปล่า?

 

Source