“เร้ดแฮท” สำรวจลูกค้าองค์กร 870 แห่งทั่วโลก พบว่า “AI/แมชชีน เลิร์นนิ่ง” ขึ้นแท่นเทคโนโลยีที่ลูกค้าสนใจใช้งานมากที่สุด แทนที่ “บล็อกเชน” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีมาแรงของปีก่อน
เร้ดแฮทจัดสำรวจ Red Hat Global Customer Tech Outlook 2020 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 6 โดยให้ลูกค้าองค์กรของเร้ดแฮทตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงองค์กรไปสู่ดิจิทัล โดยหนึ่งในคำถาม-คำตอบที่น่าสนใจ คือคำถามที่ว่า “เทคโนโลยีใหม่ที่คุณมีแนวโน้มจะพิจารณานำมาใช้ในองค์กรมากที่สุดภายในรอบ 12 เดือนข้างหน้าคืออะไร”
และคำตอบที่เข้ามามากที่สุดมีดังนี้
1. AI/แมชชีน เลิร์นนิ่ง 30%
2. Serverless หรือ Function as a service (FaaS) 21%
3. Internet of Things (IoT) 19%
4. บล็อกเชน 12%
5. Edge/Fog Computing 6%
6. อื่นๆ 5%
โดยเร้ดแฮทให้ความเห็นว่า AI/แมชชีน เลิร์นนิ่ง ได้รับความสนใจสูงขึ้นมากอย่างน่าตกใจภายในรอบปีเดียว เนื่องจากเมื่อปีก่อน AI/แมชชีน เลิร์นนิ่ง ไม่ได้อยู่ในสามอันดับแรกด้วยซ้ำ ขณะที่ บล็อกเชน ซึ่งปีก่อนมาแรงในอันดับ 1 ปีนี้กลับตกลงไปอยู่อันดับ 4 ความสนใจของลูกค้าร่วงลงจากปีก่อนหน้าอย่างรวดเร็ว มีลูกค้าเพียง 12% ที่ยังสนใจใช้บล็อกเชนในการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม การจะปรับเปลี่ยนองค์กรไปใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ นั้น ลูกค้าเร้ดแฮทยังตอบแบบสอบถามด้วยว่าพวกเขามีอุปสรรคใหญ่ๆ 4 ข้อ คือ 1.การจัดการความเข้ากันได้หรือความซับซ้อนของซอฟต์แวร์ (29%) 2.การเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (22%) 3.กระตุ้นให้ฝ่ายไอทีเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมสำหรับการพัฒนาและทดสอบระบบ (22%) และ 4.การทำซ้ำและปรับโมเดลการทำงานให้มีประสิทธิผล (22%)
สำหรับเทคโนโลยีแต่ละข้อคืออะไรบ้าง Positioning รวบรวมคำตอบไว้ดังนี้
“AI/แมชชีน เลิร์นนิ่ง” คือระบบการเรียนรู้ด้วยตนเองของคอมพิวเตอร์ โดยมนุษย์จะป้อนข้อมูลให้คอมพิวเตอร์จดจำจนสามารถวิเคราะห์คำตอบเองได้ ยกตัวอย่างเช่น ให้ภาพสุนัขกับภาพแมวซ้ำๆ จนคอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจได้เองว่าภาพแบบไหนคือสุนัขและภาพไหนคือแมว สามารถแยกแยะได้ว่าสัตว์สองประเภทนี้ต่างกันอย่างไร
“Serverless” หมายถึง การประมวลผลแบบไร้เซิร์ฟเวอร์ ซึ่งที่จริงหมายถึงเจ้าของข้อมูลไม่ต้องลงทุนระบบเซิร์ฟเวอร์เอง แต่เอาไปฝากไว้กับบริษัทอื่นที่รับจ้างดูแลระบบ นั่นก็คือ “คลาวด์” นั่นเอง
“IoT” คำนี้คนไทยน่าจะคุ้นเคยกันมาสักพัก ระบบ IoT คือการที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าสามารถรับส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ตัวอย่างการพัฒนาเช่น ระบบโฮมออโตเมชัน ที่เราสามารถสั่งปิดเปิดไฟ ผ้าม่าน แอร์ เป็นเพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้นเป็น IoT ที่เชื่อมต่อได้ทางอินเทอร์เน็ต บางอุปกรณ์อาจจะพัฒนาให้ล้ำขึ้นไปอีกในอนาคต อย่างเช่นตู้เย็นที่มี IoT สามารถตรวจสอบของสดภายในตู้เย็นว่าขาดหรือหมดแล้วและออกคำสั่งซื้อออนไลน์อัตโนมัติได้เลย
- ‘Facebook’ ทุ่ม 78 ล้านดอลลาร์ ซื้อบริษัท ‘PlayGiga’ เดินหน้าลุยคลาวด์เกมมิ่ง
- AIS ผนึก สถาบันวิจัย ม.สงขลานครินทร์ พัฒนา นวัตกรรมตรวจวัดคุณภาพอากาศ PM 2.5 ด้วยเทคโนโลยี NB-IoT
“บล็อกเชน” อีกหนึ่งคำคุ้นเคยสุดฮอตเมื่อปีก่อน เนื่องจากบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่ทำให้เกิดบิตคอยน์ขึ้น ตัวเทคโนโลยีบล็อกเชนเองคือเครือข่ายการจัดเก็บข้อมูล เมื่อนำข้อมูลเข้าไปเก็บในบล็อกหนึ่งแล้ว การจะแก้ไขหรือแฮ็กข้อมูลจะทำได้ยากมาก
“Edge/Fog Computing” เรื่องนี้เชื่อมต่อมาจาก IoT นั่นคือข้อมูลที่เก็บได้จากอุปกรณ์ IoT ถ้าจะส่งทั้งหมดกลับไปที่คลาวด์และประมวลผลจากนั้นก็ส่งกลับมาที่อุปกรณ์เพื่อออกคำสั่ง ค่าใช้จ่ายจะสูงมากเพราะระบบคลาวด์คิดราคาเวลาข้อมูลถูกส่งออกและรับเข้าด้วย ดังนั้นจึงมีโซลูชันส์เหล่านี้คือ Edge Computing ซึ่งทำให้อุปกรณ์ประมวลผลและสั่งงานที่ตัวมันเอง ส่วน Fog Computing ก็เป็นตัวกรองตรงกลางระหว่าง IoT กับคลาวด์ เพื่อใช้ประมวลผลก่อนส่งไปคลาวด์เพื่อทำให้ข้อมูลน้อยลงก่อนขั้นหนึ่ง โซลูชันส์เหล่านี้มักจะมีประโยชน์กับโรงงานอุตสาหกรรม
จากแบบสอบถามปี 2020 ของเร้ดแฮทยังพบด้วยว่า องค์กรส่วนใหญ่เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัลแล้ว โดย 25% บอกว่าตัวเองเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล 34% บอกว่าอยู่ระหว่างใช้เทคโนโลยีเพื่อไปสู่การเป็นดิจิทัล อีก 25% อยู่ในช่วงเริ่มต้นนำเทคโนโลยีมาใช้งาน 9% อยู่ในช่วงเริ่มต้นวางแผนหรือทำวิจัยความเหมาะสม
มีเพียง 9% เท่านั้นที่บอกว่าไม่มีแผนใดๆ เลย ซึ่งถ้าเทียบกับเมื่อปี 2018 บริษัทที่ไม่มีแผนการนำองค์กรไปสู่ดิจิทัลมีสูงถึง 32% ทำให้เห็นว่า ในเวลาเพียง 2 ปี บริษัทต่างๆ รอบโลกต่างมีความตื่นตัวกับเรื่องการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้งานในองค์กรอย่างเห็นได้ชัด