โฆษณารถไฟฟ้าสุดฮิต…(นะเธอ) 15 แบรนด์ดังอัดงบสูงสุด…หาวัยรุ่น

สื่อโฆษณาที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ต้องยกให้สื่อ Transit หรือโฆษณาที่ไปกับระบบขนส่งมวลชน โดยเฉพาะสื่อรถไฟฟ้าบีทีเอส ขณะที่สื่อนอกบ้าน (Out of home) ประเภทอื่นเริ่มมีแนวโน้มลดลง ดัชนีนี้ไม่เพียงบ่งบอกให้เห็นว่าไลฟ์สไตล์คนต้องการความสะดวก และการเดินทางที่รวดเร็ว แต่ยังบอกว่า เวลาสั้นๆ แต่โฆษณาที่เห็นแบบโดนๆ ก็เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ เพราะโดยธรรมชาติของสื่อรถไฟฟ้าแล้ว กลุ่มเป้าหมาย 1 คน มีเวลาอยู่บนสถานีรถไฟฟ้าเฉลี่ยเพียงคนละ 3-5 นาที และอยู่ในรถไฟฟ้าเฉลี่ย 10-15 นาทีเท่านั้น นี่คือทุกนาทีในการทำเงินได้เป็นพันล้านบาทของผู้ขายพื้นที่สื่อรถไฟฟ้าบีทีเอสอย่าง “วีจีไอ”

ข้อมูลจาก Nielsen Media Research ระบุว่า สื่อ Transit ในปี 2009 ทำยอดได้ถึง 1,738.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จากปี 2008 ขณะที่สื่ออื่นอย่างสื่อกลางแจ้ง เช่น บิลบอร์ด แม้จะมียอดขายถึง 3,960.5ล้านบาท ต่อก็เติบโตลดลง6.3% จากปี 2008 ส่วนสื่อในห้าง (In-store) มีมูลค่า 819.3 ล้านบาท ลดลง0.8% จากปี 2008 จากการเติบโตของ Transit ทำให้ภาพรวมของ OOH เพิ่มขึ้น 1.82%

Mindshare Marketing & Media Flash วิเคราะห์ว่า OOH เติบโตจากปัจจัยต่างๆ เช่น จำนวนคอนโดมีเนียมเพิ่มขึ้นในแนวรถไฟฟ้า, เทคโนโลยีดิจิตอลที่ถูกนำมาใช้ให้ภาพและเสียง และการสื่อสารสองทาง ในจุดที่สื่อสารกับลูกค้าได้ง่ายอย่างห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงาน, Ambient Media และ Lifestyle Media ที่เข้าไปแทรกในจุดต่างๆ ที่กลุ่มเป้าหมายไปใช้บริการมากขึ้น เช่น สนามไดร์ฟกอล์ฟ สปอร์ตคลับ ร้านหนังสือ เป็นต้น และที่ชัดเจนคือสื่อ Transit ได้รับความนิยมสูงสุด

ทั้งนี้กลุ่มสื่อ Transit นั้น 80% มาจากสื่อรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่ง “วีจีไอ” ได้เปิดเผยข้อมูลว่ามีผู้ใช้บริการบีทีเอสวันละ 5-6 แสนคนนั้น จุดที่แบรนด์สินค้าสามารถใช้โฆษณาแล้วได้ผลมีทำเลทองคือ ขบวนรถไฟฟ้า (Train Body) ที่ความนิยมถึงขั้นเข้าคิวรอกันเป็นปี แม้จะต้องเสียค่าพื้นที่โฆษณาเดือนละ 5 แสนบาท กับค่าผลิตอีก 6 แสนบาทก็ตาม นอกจากนี้ยังมีบันไดขึ้นลง ทั้งด้านข้างและพื้นบันได้ของสถานีที่มีผู้ใช้บริการมากกว่า 1 แสนคนต่อวันคือสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต กับสยาม ที่สามารถทำ Ambient Media ให้กลุ่มเป้าหมายสะดุดสายตาได้บ่อย ซึ่งมีทั้งกลุ่มสินค้าที่ต้องการสร้างแบรนด์ รีแบรนด์และสร้างยอดขาย นอกจากนี้ยังมีสื่อดิจิตอลอย่างทีวีในขบวนรถ และบนสถานีที่สามารถทำทีวีซีที่ยาวกว่าที่ออนแอร์ในฟรีทีวี เพื่อเพิ่มโอกาสให้แบรนด์ถูกรับรู้มากขึ้น

สำหรับการขายพื้นที่วีจีไอใช้วิธีขายเป็นแพ็กเกจ เพื่อบริหารทุกพื้นที่ให้มีประโยชน์สูงสุด เช่น การกระจายใน 15 สถานีอย่างทั่วถึง การซื้อจุดโฆษณาที่มี Train Body พ่วงทีวีซี และบิลบอร์ดบนสถานี เป็นต้น

สำหรับเป้าหมายของแบรนด์ที่ใช้บริการสื่อบีทีเอส จากสถิติแบรนด์ที่ใช้งบสูงสุด 15 แบรนด์แรกในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2553 พบว่าส่วนใหญ่คือสินค้าที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหม่และวัยรุ่น โดยกลุ่มFunctional Drink ใช้มากที่สุด มี คาลพิส แลคโตะ เป๊ปทีน แบรนด์ส ที่ทั้ง 3 แบรนด์แข่งกันรุนแรง โดย 2 แบรนด์แรก อยู่ในจุดการสร้างแบรนด์ในตลาดอย่างหนัก

แคนนอนควักงบสูงสุด

โดยวีจีไอสรุปว่า 15 แบรนด์ที่ใช้งบสูงสุด ช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ 2553 ดังนี้
1.แคนนอน
2.คาลพิส แลคโตะ
3.แอลจี
4.แบรนด์ส
5.เป๊ปซี่
6.F&N
7.โค้ก
8.โฟร์โมสต์
9.เป๊ปทีน
10.ธนาคากรุงเทพ
11.กูลิโกะ
12.เคเอสซี
13.เอ็มเค
14.หนัง
15.วอลล์สตรีท

คนกรุงใช้บีทีเอสเกินครึ่ง
ส่วน “ใคร” บ้างที่ใช้บริการบีทีเอส และเป็นที่ต้องการสื่อถึงของแบรนด์เหล่านี้ จากข้อมูลของวีจีไอเปิดเผยว่าในปี 2009 พบว่า 53% ของคนเมืองที่ใช้บริการรถสาธารณะ ได้ใช้บีทีเอส และ 48% มีการใช้บริการประจำ อย่างไรก็ตาม รถเมล์ยังมีผู้ใช้บริการมากที่สุดคือ 83% ขณะที่ผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวมี 17%

ลูกค้ากลุ่มใหญ่ คือวัยรุ่น-วัยทำงาน
กลุ่มผู้ใช้บีทีเอส หากแบ่งตามอายุ กลุ่มที่ใช้บริการมากที่สุดคือ 15-29 ปี คิดเป็น 74% ของผู้ใช้บริการทั้งหมด

วัยรุ่นมาเยอะวันหยุด
พฤติกรรมการใช้เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงาน โดยในวันทำงานจันทร์-ศุกร์ กลุ่มอายุ 20-29 ปีจะใช้บีทีเอสมากกว่า ส่วนวันหยุด เสาร์- อาทิตย์ กลุ่มอายุ 15-19 ปีใช้มากกว่า โดยเฉพาะในสถานีที่รับส่งในแหล่งช้อปปิ้ง โรงเรียน อย่างสยาม สนามกีฬาแห่งชาติ อนุสาวรีย์ หมอชิต อ่อนนุช พร้อมพงษ์

ผู้หญิงใช้บีทีเอสมากกว่าผู้ชาย
61% ของผู้ใช้บีทีเอสเป็นผู้หญิงส่วนที่เหลือ 49% เป็นชาย และยิ่งผู้หญิงอายุมากขึ้นยิ่งเป็นกลุ่มที่ใช้บีทีเอสในสัดส่วนที่มากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในกลุ่มอายุเกิน 40 ปี ที่มีผู้หญิงถึง 71% มีชายเพียง 29%

รายได้สูงตีตั๋วบีที่เอส
กลุ่มผู้ใช้ “บีทีเอส” คือกลุ่มที่มีรายได้ทั้งส่วนตัวและรายได้ครัวเรือนต่อเดือนสูงกว่าผู้ใช้บริการรถสาธารณะประเภทอื่นๆ เฉลี่ยเท่าตัว หากเฉพาะเจาะจงเป็นรายได้บุคคล กลุ่มที่มีอายุสูงกว่า 20 ปี ซึ่งส่วนใหญ่คือกลุ่มวัยเริ่มทำงาน กว่าครึ่งหรือ 56% มีรายได้ 10,000-29,999 บาท ส่วนกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 19 ปี จำนวน 95% มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท

หากพิจารณาเป็นรายได้ต่อครัวเรือน กลุ่มผู้ใช้ “บีทีเอส” จำนวน 61% มีรายได้ต่อครัวเรือนต่อเดือนตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป กลุ่มรายได้ต่ำกว่า 29,999 บาท มี 17%

ขณะที่ส่วนใหญ่ของผู้ใช้บริการรถสาธารณะประเภทอื่น จำนวน 58% มีรายได้ต่ำกว่า 29,999 บาท กลุ่มที่มีรายได้สูงกว่า 50,000 บาท มี 23%