ชีวิตในหมอกพิษกับแนวทางการแก้ปัญหา

ช่วงนี้อากาศที่กรุงเทพฯ ไม่ดีเอามาก ๆ จะว่าไปบทความชีวิตในหมอกพิษที่ผมได้เขียนไว้เมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว แทบจะนำกลับมาใช้ใหม่ได้ในทุก ๆ คำ หากดูที่ กทม. เชื่อว่าทุกคนรวมถึงรัฐบาลทราบนะครับว่าปัญหาฝุ่นพิษส่วนใหญ่เกิดจากรถยนต์

โดยภาครัฐได้พยายามรณรงค์ให้ประชาชนใช้รถโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลอาจลืมไปว่า รถโดยสารของภาครัฐจำนวนไม่ต่ำกว่าครึ่งนั้นใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งเป็นระบบเผาไหม้หลักที่ก่อให้เกิด PM 2.5 อีกมาตราการที่ภาครัฐทำคือการตรวจจับควันดำ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลหรือรถบรรทุก รวมถึงห้ามแท็กซี่อายุเกิน 9 ปี และรถตู้อายุเกิน 10 ปี วิ่งรับส่งผู้โดยสาร แต่ก็อาจลืมไปอีกครั้งว่ารถโดยสารจำนวนมากของรัฐบาล เช่น รถเมล์ ขสมก. นั้นต่างก็มีอายุเกิน 10 ปีขึ้นทั้งสิ้น ซึ่งเครื่องยนต์เก่านั้นก็ก่อให้เกิด PM 2.5

ถ้าถามว่าจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร คงต้องโฟกัสที่ระบบขนส่ง นอกจากการเปลี่ยนให้รถสาธารณะของภาครัฐให้เป็นรถที่ใช้ไฟฟ้าแล้ว ต้องมีการสร้างระบบรางให้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ และต้องทำให้ระบบรางสามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ การทำให้ราคาค่าโดยสารอยู่ในระดับผู้ที่มีรายได้น้อยก็สามารถจ่ายได้ ไม่ใช่แพงติดอันดับต้น ๆ ของโลกอย่างปัจจุบัน หากลงทุนสร้างระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่จากภาษีของประชาชน แต่ประชาชนส่วนใหญ่กลับไม่สามารถใช้หรือต้องกล้ำกลืนใช้ ก็คงเป็นระบบขนส่งที่ล้มเหลวในสายตาของหลาย ๆ คน และคงไม่สามารถแก้ปัญหามลพิษหรือจราจรได้อย่างที่หลาย ๆ ฝ่ายคาดหวัง

นอกเหนือจะระบบราง การปฏิรูปรถยนต์สันดาปเป็นอีกสิ่งที่จำเป็น หากอ้างอิงจาก ‘The Paris Declaration on Electro-Mobility an Climate Change and call to Action’ ในปี 2030 รถยนต์บนท้องถนน 20% ควรจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมันคงเป็นไปไม่ได้เลยที่กรุงเทพฯ ของเราจะมีรถยนต์ไฟฟ้าถึง 20% ภายใน 10 ปี หากขาดซึ่งนโยบายความช่วยเหลือ และการลงมือทำอย่างจริงจังของภาครัฐ การปฏิรูปนี้ไม่จำเป็นต้องทำทั้งประเทศไปพร้อม ๆ กัน แต่สามารถเริ่มทำจากจังหวัดที่มีความพร้อม โดยให้ส่วนปกครองจังหวัดนั้น ๆ เข้ามามีส่วนผลักดัน ซึ่งการปฏิรูปจากเมืองก่อนในรูปแบบนี้ได้เกิดขึ้นแล้วใน นิวยอร์ก ปารีส และลอนดอน เพราะเมืองเหล่านี้ต่างก็มีปัญหาที่คล้ายคลึงกับ กทม.บ้านเรา คือความแออัดของการจราจรรวมถึงปัญหามลพิษทางอากาศ

Source : Telegraph.co.uk

วิธีการกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงวงการรถยนต์สันดาปของเมืองเหล่านี้ มีทั้งการการออกนโยบายจำกัด และการสนับสนุนในหลาย ๆ รูปแบบ อาทิ จำกัดมาตารฐานไอเสียที่สูงขึ้น, สร้างพื้นที่หรือวันปราศจากรถยนต์, การสร้างเขต Ultra Low Emission Zone (อย่างในลอนดอน), การลดภาษีสำหรับรถยนต์ EV, การสร้างและให้ที่จอดรถฟรีสำหรับ car sharing รวมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า อย่าง สถานีชาร์จไฟให้ครอบคลุมทั้งเมือง

โดยนอร์เวย์เป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปโครงสร้างรถยนต์สันดาปตัวเองอย่างสูง จนทำให้เกินครึ่งของรถยนต์ใหม่ที่ถูกซื้อในปีที่ผ่านมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือ ไฮบริด ทั้งสิ้น ถึงแม้นอร์เวย์จะเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่กลับมียอดขายของรถยนต์ประเภทนี้สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองเพียงแค่จีนและอเมริกาที่ทั้งขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรใหญ่กว่าอย่างเทียบกันไม่ได้

แล้วในประเทศไทยของเราควรทำอย่างไร? ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าไม่ใช่ว่าคนไทยเราไม่เห็นประโยชน์ของรถยนต์ไฟฟ้า ประชาชนจำนวนไม่น้อยตระหนักถึงข้อดีและความจำเป็นที่ควรใช้รถยนต์ไฟฟ้า ถึงแม้ว่าไทยจะไม่อยู่ในการสำรวจตามข้อมูลด้านล่างนี้แต่เชื่อได้ว่าความเห็นไม่ต่างจากประชาชนในประเทศอื่นที่เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะข้อดีที่มีต่อสภาพแวดล้อม (เฉลี่ย 42%) และราคาไฟฟ้าที่ถูกกว่าน้ำมัน (เฉลี่ย 36%)

จากการศึกษาพบว่าปัญหาหลักที่ทำให้ประชาชนทั่วไปยังมีความลังเลในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคือระยะทางที่รถไฟฟ้าสามารถวิ่งได้ และโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเช่นภาษีและสถานีชาร์จไฟ

จริง ๆ แล้วระยะทางที่วิ่งได้สำหรับการชาร์จไฟหนึ่งครั้งของรถยนต์ไฟฟ้าปัจจุบันทำได้มากกว่าระยะทางที่คนส่วนใหญ่ขับต่อวันไปแล้ว (ราว 40 กม./วัน) อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่คาดหวังว่ารถจะสามารถวิ่งได้ระยะ 350 กม.ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง โดยชาร์จเฉลี่ย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งโครงการรถยนต์ใหม่ ๆ จากค่ายอย่างเทสล่าก็ดูจะสามารถก้าวข้ามปัญหานี้ไปได้ในไม่ช้า 

แปลว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ การรื้อระบบภาษีรถยนต์ไฟฟ้า ร่วมมือกับเอกชน และสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลหรือนักการเมืองบางท่านอาจมองว่าการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต้องใช้ระยะเวลานานและจำนวนเงินที่มาก ทำให้ลังเลในการลงมือทำ ซึ่งไม่ผิดแต่ในความเป็นจริงมันไม่จำเป็นที่ต้องรอให้โครงสร้างพื้นฐานพร้อมสมบูรณ์ถึงเริ่มผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้า

เพราะจากการศึกษาพบว่าในเกือบทุกประเทศที่ทำการสำรวจ ประชาชนส่วนใหญ่วางแผนที่จะชาร์จไฟรถตัวเองที่บ้านเป็นหลัก เมืองอย่าง กรุงเทพฯ ที่คนส่วนใหญ่ขับรถระยะทางไม่ไกลก็เชื่อได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ก็น่าจะเลือกชาร์จไฟที่บ้านเป็นหลักเช่นกัน

สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการเปลี่ยนรถขนส่งของรัฐให้เป็นรถพลังงานไฟฟ้าเพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับประชาชน รื้อระบบภาษีเพื่อที่จะทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าเอื้อมถึงได้สำหรับคนหมู่มาก พร้อมทั้งกำหนดโรดแมปในประเทศให้ชัดเจนว่าจะมีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมอย่างไรในอนาคตอันใกล้ ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงตรงนี้อย่างเป็นรูปธรรม ถึงแม้โครงสร้างต่าง ๆ อาจจะยังไม่พร้อมดีนัก ก็เชื่อได้ว่าจะมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่จะยอมเป็นผู้ซื้อและผู้ขับรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมทั้งกลายกลุ่มผู้สนับสนุนโน้มน้าวให้คนรอบข้างใช้ตาม จริง ๆ แล้วนะครับเราอาจเพียงกำลังรอให้รัฐบาลลงมือทำอะไรสักอย่าง มากกว่าการที่จะถูกบอกให้ ปิดจมูก สวมหน้ากากกันฝุ่นไปวัน ๆ ก็เป็นได้.