Grab ผุดโมเดล Mini-GC จับมือ SME ท้องถิ่นเปิดศูนย์อบรมสาขาย่อยบุกตลาดต่างจังหวัด

Grab เดินหน้าบุกตลาดต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้เปิดโมเดล Mini-GC แห่งแรกในไทย เพื่อเป็นศูนย์อบรบ และสอนการใช้งานแอปพลิเคชั่นสำหรับผู้สนใจ ตั้งเป้าขยายให้ครบ 30 จังหวัดทั่วไทย

จับมือพาร์ตเนอร์เปิดศูนย์อบรม

ท่ามกลางความปั่นป่วนของธุรกิจขนส่งผ่านแอปพลิเคชั่นที่ยังสีเทาๆ ไม่ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายเสียทีเดียว แต่ Grab ก็ยังคงเดินหน้าบุกตลาดอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดได้เปิดโมเดลใหม่ “Mini-GC” หรือศูนย์อบรมสาขาย่อย เป็นโมเดลที่ใช้บุกตลาดต่างจังหวัดโดยเฉพาะ เพราะมีความคล่องตัว ใช้วิธีการจับมือกับพาร์ตเนอร์ หรือผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่นนั้นๆ ที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ ช่วยในการขยายฐานลูกค้าให้ Grab มากขึ้น

ที่ศูนย์นี้จะเป็นพื้นที่รับสมัคร สอนการใช้งานแอปพลิคเชั่น ให้คำแนะนำเรื่องการทำธุรกิจแก่พาร์ตเนอร์คนขับ-จัดส่งอาหารของ Grab รวมถึงพาร์ตเนอร์ร้านอาหาร

ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เผยว่า

“ปี 2562 ที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นปีทองของ Grab ประเทศไทย โดยธุรกิจของเรามีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งการเปิดโมเดลใหม่นี้เป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายธุรกิจ เชื่อว่าโมเดลนี้จะช่วยเสริมศักยภาพในการขยายธุรกิจไปยังจังหวัดท้องถิ่น และสามารถตอบสนองความต้องการของทั้งพาร์ตเนอร์ และผู้ใช้บริการในแต่ละจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกที่แกร็บได้นำโมเดลนี้มาใช้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจและสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนให้กับแกร็บ ประเทศไทยได้”

ดัน GrabFood เป็นหัวหอก

สำหรับธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 35,000 ล้านบาทนั้น GrabFood ถือเป็นผู้เล่นรายหลักที่คอยขับเคลื่อนตลาด โดยนอกจากแคมเปญการตลาดที่จัดเต็มต่อเนื่องเพื่อสร้างสีสันตลอดทั้งปีแล้ว ในปีที่ผ่านมา Grab ยังได้เริ่มขยายการให้บริการไปหัวเมืองและเมืองรองเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในจังหวัดอื่นๆ จากเดิมที่มีเพียงกรุงเทพฯ

โดยใช้เวลาไม่ถึงปีในการขยายธุรกิจ GrabFood ไปยัง 14 จังหวัดทั่วไทย จนได้รับความนิยมในจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี โคราช รวมถึงหาดใหญ่ ปัจจุบัน 1 ใน 3 ของยอดรวมการสั่งอาหารของ GrabFood มาจากกลุ่มลูกค้าในต่างจังหวัด

ผู้ประกอบการที่จะร่วมเปิดศูนย์ Mini-GC จะต้องผ่านการพิจารณาของแกร็บใน 3 ด้าน ได้แก่

1. ทุน คือ ต้องมีเงินทุนตั้งต้นและมีสถานะทางการเงินมั่นคง

2. ที่ คือ มีความสามารถในการจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อเปิดศูนย์ฯ และสุดท้าย

3. ทัศนคติ คือ จะต้องมีแนวคิดของการเป็นผู้ประกอบการสมัยใหม่และสอดคล้องกับนโยบายการดำเนินธุรกิจของแกร็บ เพื่อให้สามารถพัฒนาและเติบโตไปพร้อมกับบริษัทได้ในระยะยาว

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา Grab ได้เริ่มทดลองใช้โมเดลดังกล่าวในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งช่วยเสริมประสิทธิภาพในการบริหารธุรกิจ และขยายการให้บริการ โดยได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากพาร์ตเนอร์คนขับและพาร์ตเนอร์จัดส่งอาหาร-พัสดุ

ปัจจุบันแกร็บมี Mini-GC จำนวนทั้งสิ้น 24 ศูนย์ โดยตั้งเป้าขยายจำนวนไปในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกเท่าตัวภายในสิ้นปีนี้

ตอนนี้ Grab มีบริการที่ครอบคลุมทั้งบริการการเดินทาง บริการส่งอาหารผ่าน

  • GrabBike บริการส่งผู้โดยสาร
  • GrabFood บริการส่งอาหาร
  • GrabExpress บริการจัดส่งพัสดุและสิ่งของผ่าน
  • GrabPay Wallet บริการกระเป๋าเงินดิจิทัล
  • GrabCar Premium บริการรถรับ-ส่งสำหรับลูกค้าชั้นธุรกิจ
  • GrabDriveYourCar บริการคนขับรถยนต์ส่วนตัว
  • ฟีเจอร์ Groceries บริการสั่งซื้อของสดหรือสินค้าจากท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต

โดยปัจจุบันพื้นที่ให้บริการของแกร็บครอบคลุม 20 จังหวัดทั่วประเทศ การเปิดโมเดลนี้จะสามารถรองรับแผนการเติบโตไปสู่ 30 จังหวัดทั่วไทยภายในปี 2563