-
ปี 2562 ไม่ใช่ปีที่ดีนักสำหรับ สิงห์ เอสเตท ในแง่การรับรู้รายได้ หลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจฝืด กระทบยอดโอนกรรมสิทธิ์คอนโดฯ ตกเป้า 30%
-
อย่างไรก็ตาม การลงทุนยังคงเดินหน้าต่อ โดยวางแผน 5 ปี (2563-67) ลงทุน 6.8 หมื่นล้าน เล็งเทกโอเวอร์อาคารสำนักงาน-โรงแรมเพิ่ม พร้อมเปิดธุรกิจใหม่ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ
-
วางเป้ารายได้ปี 2563 แตะ 2 หมื่นล้านบาท และปี 2567 แตะ 3 หมื่นล้านบาท จัดสมดุลพอร์ต รายได้ 50% จากการขายที่อยู่อาศัย ส่วนอีก 50% จากออฟฟิศบิลดิ้งและโรงแรม
ครบ 5 ปี บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) บริษัทใน เครือบุญรอด ที่ก่อตั้งเพื่อลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยแยกออกเป็น 3 ขาหลัก คือ ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และโรงแรม ที่ผ่านมาสิงห์ เอสเตทมีการขยายอาณาจักรอย่างรวดเร็วทั้งผ่านการควบรวมกิจการและก่อสร้างโครงการใหม่ พร้อมแตกบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ภาพการลงทุนโครงการและการจัดการด้านการเงินเดินไปได้ตามเป้า แต่ในปี 2562 การรับรู้รายได้ของบริษัทยังไม่เป็นไปตามที่คาด
“นริศ เชยกลิ่น” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สิงห์ เอสเตท ยอมรับว่ารายได้ปี 2562 ยังไม่เป็นไปตามเป้า โดยเป้าหมายรายได้รวมทุกธุรกิจตั้งไว้ 1.6 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้ยอดโอนกรรมสิทธิ์จากโครงการที่อยู่อาศัยตกเป้าไป 30% มีการโอนเพียง 7.5 พันล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ
“เป้าหมายการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเรายังเน้นตลาดบนต่อไป แต่ดูตามจังหวะตลาด ถ้าไม่อยู่ในภาวะที่ดีก็ชะลอการเปิดได้แต่ถ้าจังหวะดีก็ลุยเต็มที่” นริศกล่าว
แผนลงทุน 5 ปี 6.8 หมื่นล้านบาท
แม้รายได้ ‘ไม่มาตามนัด’ แต่สิงห์ เอสเตทยังเดินหน้าลงทุนต่อ โดยวางงบลงทุนรวม 5 ปี (2563-67) มูลค่า 6.8 หมื่นล้านบาท กระจายการลงทุนทั้ง 3 ขาธุรกิจ แบ่งเป็น
1.โครงการที่อยู่อาศัย (รวมเนอวานา ไดอิ) 30 โครงการ มูลค่าลงทุน 3.75 หมื่นล้านบาท
2.อาคารสำนักงาน 5 โครงการ (ควบรวมกิจการ 4 โครงการ และการก่อสร้างโครงการ เอส โอเอซิส ซ.เฉยพ่วง) มูลค่าลงทุน 8.5 พันล้านบาท
3.ธุรกิจโรงแรม (ลงทุนต่อเนื่องในโครงการ Crossroads มัลดีฟส์ และการควบรวมกิจการ) 41 แห่ง มูลค่าลงทุน 2.2 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีแผนลงทุนโครงการ “โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน” เม็ดเงินลงทุนอีกประมาณ 5-6 พันล้านบาท ซึ่งจะเป็นการแตกธุรกิจใหม่ของบริษัท (ดูกราฟิกแผนการลงทุนและรายได้ 5 ปี สิงห์ เอสเตทได้ด้านล่างบทความ)
หลังการลงทุนทั้งหมด ในปี 2567 สิงห์ เอสเตท ตั้งเป้ารายได้รวม 3 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากการขายที่อยู่อาศัย 50% รายได้จากโรงแรม 35% และจากออฟฟิศบิลดิ้ง 15% และจะมีมูลค่าสินทรัพย์เกินกว่า 1 แสนล้านบาท
ภาพรวมการลงทุน “นริศ” กล่าวว่าสิงห์ เอสเตทยังคงเน้นการจัดสมดุลพอร์ตตามที่ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ทั้งในแง่แหล่งรายได้ที่ไม่พึ่งพิงธุรกิจใดเป็นหลัก และพอร์ตโรงแรมมีการกระจายทำเลในไทย 40% ในต่างประเทศ 60% เพื่อให้รายได้เข้ามาสม่ำเสมอตลอดปี และยังคงโตเร็วด้วยการควบรวมกิจการเช่นเดิม
แย้มแผนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
ธุรกิจใหม่ด้านพลังงานหมุนเวียนในพอร์ตสิงห์ เอสเตท นริศกล่าวว่าจะเป็นการลงทุนที่สนับสนุนธุรกิจที่บริษัทลงทุนอยู่แล้วในต่างประเทศ ช่วยแก้ปัญหาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้กับโครงการเหล่านั้น โดยปีนี้เป็นปีแรกที่จะเริ่มลงทุนหลักร้อยล้านบาท
“ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บมจ.สิงห์ เอสเตท แย้มว่าการลงทุนนี้อาจจะเป็นการผลิตไฟฟ้าพลังงานขยะ โดยรวม 5 ปีน่าจะใช้เม็ดเงิน 5-6 พันล้านบาท เริ่มการลงทุนปีนี้คาดว่าจะเริ่มได้รับรายได้จากธุรกิจพลังงานราวปี 2565
ทั้งนี้ สิงห์ เอสเตท มีการลงทุนโรงแรมอยู่ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มัลดีฟส์ หมู่เกาะฟิจิ หมู่เกาะมอริเชียส และสหราชอาณาจักร
มองแผนระยะสั้น ปี’63 เปิดตัว 6 โครงการใหม่
สำหรับแผนระยะสั้นเฉพาะปี 2563 สิงห์ เอสเตทและเนอวานา ไดอิ (บริษัทในเครือ) เตรียมเปิดตัว 6 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 1 หมื่นล้านบาท โดยยังคงเกาะกลุ่มตลาดบนและขยายลงมาที่ระดับกลางด้วยผ่านการดำเนินงานของเนอวานา ไดอิ
ด้านงบการลงทุนซื้อกิจการอาคารสำนักงานและโรงแรม ปีนี้อยู่ที่ 5 พันล้านบาท โดยเริ่มเข้าซื้อกิจการแรกไปแล้วคืออาคารเมโทรโพลิสด้วยเม็ดเงินลงทุน 1.7 พันล้านบาท เป็นอาคารสำนักงานย่านพร้อมพงษ์ที่มีอัตราการเช่าสูงกว่า 90% ทำให้เชื่อมั่นในศักยภาพ
จนถึงสิ้นปี บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมปีนี้ไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากออฟฟิศบิลดิ้ง 1 พันล้านบาท จากโรงแรม 6.5-7 พันล้านบาทและจากการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย 9 พัน-1.2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทมีแบ็กล็อกรอโอนของโครงการ The Esse สุขุมวิท 36 อยู่แล้ว 6 พันล้านบาท ที่เหลือจะเป็นการขายโครงการพร้อมอยู่
นริศยังกล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาต่อธุรกิจโรงแรมด้วยว่า ไม่มีความกังวลมากนัก เนื่องจากเป้าหมายลูกค้าส่วนใหญ่ของรีสอร์ทในเครือเป็นชาวยุโรป มีนักท่องเที่ยวจีนน้อย หากจะมีผลกระทบอาจเป็นทางอ้อมนั่นคือนักท่องเที่ยวตะวันตกเกิดความกังวลจนไม่เดินทางมาประเทศไทย แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เกิดขึ้น ยังคงมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาตามปกติ