ครม.ปลดล็อก “กัญชง” ปลูกได้บ้านละไร่ ปั้นพืชเศรษฐกิจใหม่แสนล้าน

ฮือฮาไม่น้อยกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ “ปลดล็อกกัญชง” ชนิดที่เรียกได้ว่าพลิกโฉมหน้าจากพืชที่ถูกตีตราว่าเป็นยาเสพติดไปสู่พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่เป็นความหวังของประเทศ โดยเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน บุคคลทั่วไปที่มีสัญชาติไทยขออนุญาตปลูกหรือผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ไม่ว่าจะเพื่อศึกษา วิจัย ใช้ประโยชน์ในครัวเรือน เชิงพาณิชย์ จนถึงอุตสาหกรรม ได้ทั้งนั้น

เป็นอีกหนึ่งผลงานโบแดงของ “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังการผลักดันเรื่องนี้อย่างแข็งขัน ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอด้วยเห็นว่า กฏกระทรวงเดิมมีความเข้มงวดและไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งมีเป้าหมายชัดเจนว่าเพื่อสร้างรายได้ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรมทางการเกษตร

พูดง่ายๆ คือ ให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้จากการหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจตัวใหม่

ทั้งนี้ สำหรับสาระสำคัญของกฎกระทรวงฯใหม่ เปิดกว้างให้หน่วยงานทุกภาคส่วนที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสามารถขออนุญาตปลูกกัญชงได้ในเชิงพาณิชย์ โดยยื่นขอตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยนิติบุคคลจะต้องมีกรรมการ หุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นอย่างน้อยสองในสามเป็นผู้มีสัญชาติไทย

กำหนดให้การขออนุญาตผลิต จำหน่าย ครอบครอง หรือส่งออกกัญชง จะต้องดำเนินการภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงฯ บังคับใช้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการปลูกกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจและพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์กัญชงในประเทศไทย ป้องกันการนำเข้าและสินค้าสำเร็จรูปและวัตถุดิบจากต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน ยังอนุญาตให้ครัวเรือนที่มีวัฒนธรรมในการใช้กัญชงเป็นสิ่งทอแบบดั้งเดิม สามารถปลูกกัญชงในครัวเรือนได้ ครัวเรือนละไม่เกิน 1 ไร่ โดยต้องมีใบอนุญาตในการปลูก และปลูกสายพันธุ์ที่ได้รับอนุญาต เพื่อส่งเสริมการปลูกและการพัฒนาสายพันธุ์กัญชงของไทย

“เสี่ยหนู” เชื่อมั่นว่า มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแบบนี้ อีกไม่นานเกษตรกรจะได้ปลูกกัญชง ซึ่งก็คือกัญชาชนิดหนึ่ง แต่เป็นกัญชาสายพันธุ์ที่ให้ CBD มากกว่า THC เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ได้ ซึ่งในตลาดโลก สารสกัด CBD เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก เพราะเอาไปใช้เป็นส่วนผสมผลิตยา เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม และอาหาร จำหน่ายได้มากกว่า THC

ส่วนความคืบหน้าว่าด้วยเรื่องกัญชาซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ให้ THC สูง นั้น นายอนุทินอัพเดตล่าสุดว่า ขณะนี้กฎกระทรวง ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปก่อนแล้ว อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คงใช้เวลาอีกไม่นาน ซึ่งมีสาระสำคัญคือ เกษตรกร สามารถขออนุญาตปลูกได้ ถ้ามีคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อมาแสดง โดยการขออนุญาต ในช่วง 5 ปีแรก ให้มีหน่วยงานของรัฐ ร่วมโครงการด้วย เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

เช่นเดียวกันกับกัญชง ซึ่งกระบวนการต่อจากนี้ จะเสนอต่อไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาร่างกระทรวงดังกล่าวอีกครั้ง หลังจากนั้นจึงจะสามารถประกาศใช้ได้

สำหรับสาร CBD ซึ่งย่อมาจาก Canabidiol นั้น เป็นสารสกัดที่พบได้มากในกัญชง (Hemp) มีคุณสมบัติทางการแพทย์หลากหลาย เช่น ลดอาการปวด ลดภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ รวมถึงสามารถต้านอาการของโรคลมชักที่รักษายากหลายตัวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลมชักหลายประเภทในเด็ก

ส่วนสาร THC ซึ่งย่อมาจาก Tetrahydroconnabinol นั้น เป็นสารที่พบมากในกัญชา (cannnabis) เมื่อเสพไปแล้วจะทำให้เคลิบเคลิ้ม ทำให้กัญชาที่มีสาร THC อยู่ค่อนข้างมากนี้ ถูกนำไปใช้ในแง่ของการสันทนาการ ส่วนประโยชน์ทางการแพทย์ของสารสกัด THC เช่น ช่วยลดอาการปวด ลดภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ช่วยรักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ช่วยเพิ่มความอยากอาหารให้ผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์ รวมถึงสามารถใช้ในผู้ป่วยที่เป็นต้อหินได้ด้วย อย่างไรก็ตาม สาร THC นั้นมีผลข้างเคียงจากการใช้ เช่น ปากแห้ง ตาแดง ใจเต้นเร็ว ตอบสนองช้า และทำให้สูญเสียความทรงจำ

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้ว่า ร่างกฎกระทรวงใหม่ที่ผ่านความเห็นชอบจากครม. แตกต่างจากกฎกระทรวงเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2559 ซึ่งเดิมการปลูกกัญชง จะอนุญาตเฉพาะหน่วยงานรัฐ และใช้เฉพาะเส้นใย ทำเสื้อผ้าและเฟอร์นิเจอร์ แต่ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่จะอนุญาตให้ทั้งหน่วยงานรัฐ ประชาชนทั่วไป นิติบุคคล โดยเฉพาะเกษตรกรจะได้ประโยชน์ในการสร้างรายได้ ส่วนการใช้เมล็ดพันธุ์ ปัจจุบันกฎกระทรวงให้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่รับรองตามกฎกระทรวง เนื่องจากเมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะมี THC ไม่เกิน 1% ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 4 สายพันธุ์ โดยเป็นสายพันธุ์เน้นเส้นใย

ทั้งนี้ การออกประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เรื่อง กำหนดลักษณะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2562 โดยกำหนดให้กัญชงและเมล็ดพันธุ์รับรองมีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล THC ในใบและช่อดอก ไม่เกินร้อยละ 1.0 ต่อน้ำหนักแห้ง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์กัญชง โดยเฉพาะพันธุ์พื้นเมือง ให้เกิดการใช้ประโยชน์กัญชงอย่างคุ้มค่านอกเหนือจากเส้นใย เพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เช่น ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร เครื่องสำอาง รวมถึงการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน

แม้ว่าการแก้ไขกฎกระทรวงฯและการประกาศกำหนดลักษณะกัญชง ที่ออกมาใหม่จะมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้กัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้ประชาชนและประเทศชาติ แต่ก็มีข้อสังเกตก่อนหน้านี้จาก นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ว่า ในปี 2563 องค์การสหประชาชาติ (UN) จะปลดสาร CBD ออกจากยาเสพติด ซึ่งเป็นสารที่มีทั้งในกัญชงและกัญชาอยู่แล้ว การกำหนดกรอบเวลา 5 ปี ให้ทำได้เฉพาะคนไทย ในเมืองไทย และห้ามนำเข้าอย่างอื่น นอกจากเมล็ดพันธุ์นั้น จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการพัฒนาสายพันธุ์และการแข่งขันทางการค้า เพราะก้าวไม่ทันประเทศอื่น จึงอยากให้แก้ไขร่างกฎกระทรวงอนุญาตให้นำเข้าสาร CBD จากประเทศอื่นเข้ามาได้

นอกจากนี้ กติกาที่กำหนดว่ากัญชงต้องมี THC ไม่เกิน 1% ถึงจะไม่เป็นยาเสพติดนั้น นายปานเทพ มองว่าเข้มงวดเกินไป เพราะที่จริงแล้วทั้งกัญชาและกัญชงเป็นพืชที่มาจากสายพันธุ์เดียวกัน เมื่อปลูกแล้วเจอสภาพแวดล้อมเป็นตัวแปรที่ทำให้ได้สาร THC เกิน 1% ก็กลายเป็นยาเสพติด ส่วนตัวจึงไม่อยากให้คุมเรื่องการปลูกมาก แต่ควรไปคุมเรื่องการผลิตปลายทางแทน และอยากเสนอให้ตั้งสถาบันพืชเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย เพื่อดูแลพืชกัญชา กัญชง รวมถึงกระท่อมด้วย

สำหรับการเวิร์กต่อหลังจาก ครม.มีมติปลดล็อกกัญชงนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามความร่วมมือนำความรู้เกี่ยวกับกัญชาและกัญทางการแพทย์ไปพัฒนาหลักสูตร “กัญชาและกัญชงศึกษา เพื่อใช้เป็นยาอย่างชาญฉลาด” สนองรับกับการพลิกโฉมหน้ากัญชงกัญชา

ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วางเป้าหมายกำหนดนโยบายพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับกัญชาตามนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้พัฒนาเทคโนโลยีการใช้กัญชาและกัญชงในทางการแพทย์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน ไม่ให้เกิดผลกระทบทางสังคม และต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรรายวิชา ทช 33098 “กัญชาและกัญชงศึกษา เพื่อใช้เป็นยาอย่างชาญฉลาด” สำหรับการจัดการเรียนการสอนในสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เพื่อให้ความรู้และทักษะที่ถูกต้องในการใช้กัญชาและกัญชงเป็นยารักษาโรค รวมถึงสร้างภูมิคุ้มกัน และติดอาวุธทางปัญญาให้แก่ผู้เรียนของ กศน.และประชาชนทั่วไป

ขณะที่ฟากฝั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นต้นน้ำในสายการผลิตกัญชงและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องนั้น นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ให้สัมภาษณ์สื่อก่อนหน้านี้ว่า กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีหน่วยงานใต้สังกัด คือ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และกรมวิชาการเกษตร ได้วิจัยและพัฒนาพันธุ์กัญชงภายในพื้นที่ควบคุมและส่งเสริมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มานานกว่า 10 ปีแล้ว มีความพร้อมที่จะสนับสนุนให้เอกชนและเกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจฐานรากใหม่ ซึ่งกัญชงสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน สามารถนำมาแปรรูปสร้างมูลค่าได้นับแสนล้าน อย่างน้อยใน 10 กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เช่น ยา เครื่องสำอาง อาหาร เครื่องดื่ม กระดาษ สิ่งทอ ฯลฯ

รอติดตามกันต่อไปว่า กัญชง พืชเศรษฐกิจใหม่จะสร้างความมั่งคั่งให้พี่น้องประชาชนคนไทยถ้วนหน้า หรือว่าจะกระจุกอยู่แต่กับกลุ่มทุนใหญ่ที่เข้าถึงการอนุญาตและมีโอกาสทางธุรกิจมากกว่า.

Source