ธปท.เปิดให้แบงก์ 6 แห่งทดสอบยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ลดเวลาเดินทางไปสาขา

ธปท. เปิดการทดสอบการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามธนาคารเพื่อเปิดบัญชีเงินฝาก ภายใต้ Regulatory Sandbox เริ่มตั้งแต่ 6 ก.พ. เป็นต้นไป ช่วงแรกของการทดสอบธนาคาร 6 แห่ง เปิดให้บริการ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พร้อมเปิดให้ธนาคารพาณิชย์เริ่มทดสอบการให้บริการเปิดบัญชีเงินฝากผ่านช่องทางดิจิทัล โดยใช้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนข้ามธนาคารผ่านแพลตฟอร์ม เนชันแนลดิจิทัล ไอดี (National Digital ID หรือ NDID) ในวงจำกัด ภายใต้ Regulatory Sandbox ของ ธปท. ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563

ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารแห่งใหม่ได้ผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น ผ่านโมบายแอปพลิเคชัน โดยใช้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนจากธนาคารที่ตนเองเคยมีบัญชีเงินฝาก ด้วยเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) ที่น่าเชื่อถือ ทำให้ประชาชนได้รับความ ปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางมาแสดงตนที่สาขา และลดการกรอกข้อมูลซ้ำซ้อน

สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการชำระเงินได้เข้าทดสอบการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometrics) ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนลูกค้าสำหรับการเปิดบัญชีเพื่อยกระดับกระบวนการรู้จักลูกค้าของตน (Know Your Customer : KYC) ให้มีความปลอดภัย ป้องกันการถูกปลอมแปลงหรือบุคคลอื่นสวมรอยมาเปิดบัญชี ในวันนี้ ธปท.ได้อนุญาตให้สถาบันการเงินสามารถทดสอบการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามธนาคารได้ในวงจำกัด โดยใช้กับการเปิดบัญชีเงินฝากเป็นบริการแรก เพื่อรองรับการใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดย ธปท.จะมีการประเมินผลการให้บริการอย่างใกล้ชิดก่อนเปิดให้ใช้บริการในวงกว้างต่อไป

สาหรับแพลตฟอร์ม NDID เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานที่เป็นสมาชิกในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของลูกค้าระหว่างกัน โดยลูกค้าที่ใช้บริการต้องให้ความยินยอม แพลตฟอร์ม NDID มีส่วนสำคัญที่จะทำให้การทำรายการหรือสมัครใช้บริการต่างๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล ทั้งบริการทางการเงิน และบริการของภาคธุรกิจและภาครัฐสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น

ระยะแรกของการทดสอบใน Regulatory Sandbox ของ ธปท. สำหรับบริการเปิดบัญชีเงินฝากผ่านช่องทางดิจิทัลโดยการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านแพลตฟอร์ม NDID มีธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่

  1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  2. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
  3. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
  4. ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
  5. ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
  6. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

สำหรับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 6 แห่งจะเริ่มให้บริการในวงจำกัดตามช่วงเวลาและช่องทางที่แต่ละธนาคารกำหนด ในอนาคตธนาคารพาณิชย์อื่นๆ จะทยอยเริ่มให้บริการตามความพร้อมของแต่ละธนาคาร นอกจากนี้ ธปท. ได้ส่งเสริมให้แพลตฟอร์ม NDID ขยายการใช้งานไปสู่บริการอื่นของธนาคารพาณิชย์ ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการอื่นๆ ที่เพิ่มความสะดวกแก่ประชาชนต่อไป

Source