จากไวรัสซิก้าสู่ COVID-19 ญี่ปุ่นเจ็บหนักแค่ไหน หากยกเลิก “Tokyo Olympic 2020”

มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ “โอลิมปิก 2020” ที่ญี่ปุ่น คืออีเวนต์กีฬาที่คนทั่วโลกเฝ้ารอคอยเพราะนอกจากการชิงชัยเหรียญทอง ญี่ปุ่น คือประเทศที่ครองใจผู้คนมากมายจากวัฒนธรรมป็อป-คัลเจอร์ อันเป็นเอกลักษณ์ทั้งการ์ตูน, วิดีโอเกม ผสมกับเทคโนโลยีทันสมัยจึงทำให้ใครต่อใครเฝ้าติดตามว่าพวกเขาจะจัดงานรอบนี้ได้น่าประทับใจเพียงใด ทว่าคำถามตัวโตคือมันจะถูกเลื่อนการแข่งขันออกไปหรือไม่จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนรกโคโรนา

ลงทุนแสนล้าน

ญี่ปุ่น ปัจจุบันครองอันดับ 2 ของตารางประเทศที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (หรือโควิด-19) มีทั้งผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตแล้ว ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศหลายแห่งก็ประกาศแจ้งเตือนประชาชนหากเป็นไปได้ก็อย่าเพิ่งไปเที่ยวญี่ปุ่นชั่วโมงนี้ เพราะสถานการณ์ยังไม่ปลอดภัย

อีเวนต์ความบันเทิง และคอนเสิร์ตที่ญี่ปุ่นหลายงานเริ่มทยอยกันยกเลิกหรือเลื่อนออกไปหลังรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ และนำมาสู่คำถามว่าการแข่งขันกีฬาครั้งยิ่งใหญ่ โอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ซึ่งจะเปิดฉาก 24 กรกฏาคมนี้ จะยังแข่งขันได้หรือไม่เพราะมันคือการรวมตัวของผู้คนทั่วโลกซึ่งมีทั้งประเทศที่ปลอดภัย และประเทศที่มีผู้คนติดเชื้อรวมอยู่ด้วย

อย่างที่รู้กันมาหลายปีตั้งแต่วันที่พวกเขาได้รับการประกาศให้เป็นเจ้าภาพ โอลิมปิก ครั้งที่ 32 ญี่ปุ่น ใช้งบประมาณมหาศาลในการเนรมิตสนามแข่งขัน ปรับปรุงทัศนียภาพ เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาเยือน ภายใต้งบประมาณทั้งหมด 400,000 ล้านเยน (ประมาณ 112,400 ล้านบาท) เอาแค่สนามหลัก เนชันแนล สเตเดียม ที่ปรับปรุงใหม่และเปิดตัวไปแล้ว ใช้เงินไปถึง 157 ล้านเยน (ประมาณ 44 ล้านบาท)

ด้านการคมนาคม พวกเขาสร้างทางรถไฟใหม่ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวย่นระยะทางจากสนามบินนาริตะ-ฮาเนดะ เข้าเมืองโตเกียวในเวลาไม่ถึง 20 นาที เงินส่วนนี้ภาคเอกชนร่วมลงขันที่ 400,000 ล้านเยน รวมถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีอื่นๆ อย่างรถยนต์บินได้ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวในพิธีเปิด หรือหุ่นยนต์สาวคอยอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติ ที่แม้จะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขให้เห็นแต่งบก็ไม่น่าจะยิ่งหย่อนกว่ากัน

หมดเรื่องของตัวเลขก็มาถึงการแข่งขัน แน่นอนว่าหากญี่ปุ่นยังควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ นักกีฬาซูเปอร์สตาร์ระดับโลกจากสาขาต่างๆ อาจปฏิเสธไม่เข้าร่วมเหมือนดังที่โอลิมปิก 2016 ที่บราซิล รอบนั้นมีเชื้อซิก้าระบาดพาหะจากยุงทำให้นักกีฬาดังถอนตัวมากมาย โดยเฉพาะกอล์ฟนำทีมด้วย เจสัน เดย์, ดัสติน จอห์นสัน, รอรีย์ แม็คอิลรอย หรือเทนนิสก็มี ซิโมนา ฮาเล็ป, มิลอส ราโอนิค

แน่นอนว่าคนที่ซื้อตั๋วชมการแข่งขันย่อมอยากเชียร์นักกีฬาคนโปรดเข้ามาล่าเหรียญทอง รวมถึงลงทุนเรื่องตั๋วเครื่องบินกับที่พักไว้แล้ว แต่ถ้านักกีฬาคนดังถอนตัวเพราะโควิด-19 เจ้าภาพอย่างญี่ปุ่นก็ต้องเดือดร้อนทำเรื่องคืนเงินให้แก่คนที่ซื้อตั๋วไปก่อนวันจริง รวมถึงค่าเครื่องบินและที่พัก ชาติที่มีความรับผิดชอบสูงอย่างพวกเขา ก็ต้องชดใช้เงินส่วนนี้ให้แก่นักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน

อีกปัจจัยที่น่าจะทำให้ชาวต่างชาติเลือกไม่เอาเงินมาใช้จ่ายที่ญี่ปุ่นคือการเหยียดเชื้อชาติ มีฝรั่งมังค่ามากมายที่แอนตี้คนเอเชีย ยิ่งรู้ว่าเชื้อไวรัสมีต้นตอมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งอยู่ในทวีปเอเชีย ชาวเอเชียหลายประเทศจึงถูกเหยียดแบบเหมารวมไปด้วย ไม่อยากคบค้าสมาคม ล่าสุดร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งหนึ่งที่ฝรั่งเศส ถูกวัยรุ่นเอาสเปรย์พ่นหน้าร้านว่า “โคโรนาไวรัส” ราวกับบอกว่าร้านนี้มีแต่คนติดเชื้ออย่าเข้าไปกิน

ประวัติศาสตร์โอลิมปิกฤดูร้อน นับตั้งแต่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1896 ที่เอเธนส์ ประเทศกรีซ จนถึงปัจจุบันมีการยกเลิกการแข่งขันกีฬาห้าห่วงทั้งหมด 3 ครั้งเพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (ปี 1916) และสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 1940, 1944) ประเทศที่เป็นเจ้าภาพไม่ต้องจ่ายชดเชยใดๆเพราะเป็นเรื่องสุดวิสัยยากควบคุม แต่ข้ามมาที่โอลิมปิก 2020 ที่ญี่ปุ่น หากยกเลิกเพราะไวรัสก็ต้องมีการจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้เสียหาย

เสียหายนับหมื่นล้าน

ที่ปรึกษาด้านงานประกันแห่งกรุงลอนดอน ให้ข้อมูลว่าหากถึงที่สุดแล้ว ญี่ปุ่น จัดโอลิมปิกไม่ได้ตามกำหนดเดิม 24 กรกฎาคม – 9 สิงหาคม เพราะเชื้อไวรัสโคโรนา หรือแม้แต่เพียงแค่เลื่อนออกไป เจ้าภาพจะต้องชดเชยค่าเสียหายราว 43,000 ล้านเยน (ประมาณ 12,145 ล้านบาท) แก่คนที่ซื้อตั๋วและทำประกันโอลิมปิกเอาไว้ตามข้อตกลงก่อนหน้านี้

ญี่ปุ่นประเมินมาเรียบร้อยว่าพวกเขาตั้งใจใช้ โอลิมปิก 2020 เป็นเครื่องมือช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในแง่การท่องเที่ยวหลังจากซบเซามานาน 15 ปี ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเปิดเผยเองว่าพวกเขาประเมินเม็ดเงินที่จะได้จากอีเวนต์โอลิมปิกครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของชาติที่ 3 ล้านล้านเยน (ประมาณ 1 ล้านล้านบาท) รวมถึงเม็ดเงินอนาคตหากจัดงานนี้ประสบความสำเร็จ ได้เสียงชื่นชมจากนานาชาติ

ย้อนไปเมื่อโอลิมปิก ปี 1964 ที่ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพครั้งแรก รัฐบาลใช้เม็ดเงินกว่า 212,000 ล้านเยน (ประมาณ 59,680 ล้านบาท) ปรับเปลี่ยนกรุงโตเกียวให้กลายเป็นเมืองทันสมัยและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่เคยย่ำแย่ รวมถึงจัดการแข่งขันอย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้พวกเขาได้รับคำชมจากชาวต่างชาติมากมาย พลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศกลับมารุ่งเรือง หลังจากดำดิ่งมาหลายปีจากเหตุแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

นั่นจึงเป็นเหตผลว่าทำไมรัฐบาลของชินโซ อาเบะ รวมถึงทีมจัดการแข่งขัน “โตเกียว เกมส์” ยังมั่นใจที่จะเดินหน้าจัด โอลิมปิก 2020 นี้กันต่อ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งพวกเขามองถึงตัวเลขรายได้ที่จะช่วยชุบชีวิตเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกันยังมีเวลาอีก 5 เดือนก่อนการแข่งขันจะเปิดฉาก พวกเขาคิดว่ากว่าจะถึงวันนั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 จะทุเลาลง และมีการควบคุมเชื้อได้ดีขึ้นในประเทศ

ดีกว่ายอมให้โอลิมปิกครั้งนี้ยกเลิกไป เพราะถึงแม้จะเป็นเรื่องสุดวิสัยควบคุมไม่ได้ แต่ถ้านึกตัวเลขที่สูญเสียไปจากการลงทุนระยะ 7 ปีที่ผ่านมา โดยไม่สามารถถอนทุนกลับมาได้ภายใน 2-3 ปีอย่างที่คาดหวัง ญี่ปุ่นก็ถึงคราวอ่วมอรทัย

Source