ปฏิวัติ “สิ่งพิมพ์”

ปลายนิ้วที่ได้สัมผัสจอ iPad ไม่ว่าจะมุมขวาล่าง ในการพลิกเปลี่ยนหน้าหนังสือ การยืดชิดจีบนิ้วเพื่อซูมเข้าออกดูภาพและตัวอักษรในขนาดที่ต้องการ การพลิ้วเลื่อนขึ้นลง และการเคาะนิ้วเบาๆ เพื่อสัมผัสชมภาพเคลื่อนไหวในหน้าหนังสือ ทำให้ยิ่งคอนเฟิร์มว่า iPad เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ แม้ e-Reader จะเป็นเครื่องอ่านหนังสือดิจิตอลที่เกิดก่อน และทำยอดขายได้ดีในอเมริกา แต่สำหรับในไทยกระแสเงียบ และเมื่อ iPad โชว์ตัวว่าอ่านได้และให้ความบันเทิงมากกว่า e-Reader ในไทยแทบจะถูกฝังกลบจนมิด ค่ายสิ่งพิมพ์เองตั้งแต่พ็อกเกตบุ๊ก หนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่างเริ่มตื่นตัวเพื่อเกาะกระแสให้ทัน เพียงแต่ว่ารอให้แรงอีกนิด ก็พร้อมกระโดดลงจอให้ทัชกันได้ทันที

ผลกระทบของ iPad ต่อธุรกิจสิ่งพิมพ์ ในช่วงแรกที่มีการถกเถียงกันคือการตั้งคำถามว่า iPad จะฆ่าธุรกิจสิ่งพิมพ์ให้หายไปจากโลกนี้หรือไม่… คำตอบคือ อาจจะใช่ ถ้าไม่ปรับตัว และยิ่ง iPad ขายได้จำนวน 3 แสนเครื่องในวันแรก จำนวน 2 ล้านเครื่องภายใน 58 วันทั่วโลก เฉลี่ยนาทีหนึ่งขายได้ 24 เครื่อง (ราวกับแจกฟรี) ความหวังยิ่งชัดขึ้นว่า iPad คืออุปกรณ์ที่มาแทนกระดาษเท่านั้น เพราะคอนเทนต์ที่มีอยู่ในตัวสื่อมวลชน นักข่าว นักเขียนทั้งหลาย จะยิ่งมีค่าหาก iPad วิ่งต่อไปได้เรื่อยๆ จนคนจำนวนมากครอบครอง เพราะนั่นหมายถึงโอกาสที่หนังสือจะถูกอ่านก็มากขึ้น คำตอบในเวลานี้คือ iPad กำลังเป็นสื่อที่ทรงพลังมากขึ้น และหากดึงให้แท็ปเล็ตแบรนด์อื่นๆ เติบโตตามด้วย ก็หมายถึงโอกาสที่มากขึ้นของธุรกิจสิ่งพิมพ์นั่นเอง

แมเนเจอร์ออนไลน์ รวมจุดแข็งรอหลักแสน

วริษฐ์ ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการเว็บไซต์ manager.co.th และ วรมน ดำรงศิลป์สกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านมัลติมีเดีย ในเครือบริษัทเอเอสทีวี ผู้จัดการ ต่างมองเห็นโอกาสในการพัฒนา “สื่อ” ในเครือ ที่มีตั้งแต่ทีวี หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร ให้ไปปรากฏโฉมบน iPad เพียงแต่ว่ายังต้องรอเวลา และสำรวจกระแส iPad อีกสักพัก ซึ่งในจุดที่เหมาะสมกับการลงทุน iPad น่าจะมีคนถือในหลักแสนคน และยังต้องศึกษาและปรับเรื่องเทคนิคเพื่อให้เข้ากับฟีเจอร์ของ iPad ที่สำคัญคือการมีลูกเล่น เพื่อให้คนอ่านรู้สึกว่าคุ้มค่าที่จะจ่ายซื้อ หรือเป็นสมาชิก โดยไม่ใช่เพียงแค่อ่านเวอร์ชั่นเว็บไซต์บน iPad เท่านั้น

สิ่งที่ทั้งสองมองเห็นตรงกันคือ iPad มาเติมช่องว่างระหว่างโน้ตบุ๊กและสมาร์ทโฟน ซึ่งที่ผ่านมาเว็บไซต์ข่าวต่างๆ เกิดขึ้นให้คนได้ดูผ่านจอคอมพิวเตอร์ เกิดกระแสที่คนพึ่งพิงข่าวสารจากออนไลน์จำนวนมาก ต่อมาเมื่อสมาร์ทโฟนได้รับความนิยม เว็บไซต์ข่าวจึงได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นให้คนอ่านบนจอเล็กๆ ในมือได้ เหมือนอย่างที่เครือเอเอสทีวีทำมาระยะหนึ่งบน iPhone

ในมุมของ “วริษฐ์” คือค่ายสื่อที่มีความพร้อมด้านคอนเทนต์ทั้งตัวสิ่งพิมพ์ที่มีหลากหลายประเภท และทีวี หรือวิดีโอคลิป คือความได้เปรียบในการใช้ iPad เป็นสื่อมากที่สุด

สำหรับโมเดลธุรกิจที่น่าจะเป็นไปได้ในการทำรายได้จาก iPad นั้น “วรมน” มองเห็น 2 วิธี คือ 1.ให้คนอ่านฟรี โดยเจ้าของสื่อต้องหารายได้จากโฆษณาเอง ซึ่งโอกาสของโฆษณาจะมีมากขึ้น เมื่อสามารถโฆษณาผ่านเวอร์ชั่นบน iPad มีลูกเล่นมากกว่า เช่น การ Interactive และ 2.การเก็บค่าสมาชิก สำหรับต่างประเทศจะง่ายที่ผู้อ่านส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการจ่ายค่าสมาชิกผ่านบัตรเครดิตทางออนไลน์ แต่สำหรับคนไทยในจุดนี้ยังเป็นอุปสรรค ซึ่งค่ายสื่ออาจต้องเจรจากับค่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เพื่อผูกกับค่าบริการรายเดือน และเพื่อที่จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกคุ้มค่าในการจ่าย ค่ายสิ่งพิมพ์อาจต้องใช้วิธีการขายเหมาหลายเล่มที่มีอยู่ในเครือ เพื่อให้ผู้อ่านได้จำนวนหนังสือมากขึ้น

ในเมื่อตัวสื่อเปลี่ยนไป สำหรับผู้ทำคอนเทนต์เองนั้นในที่สุดแล้วกระบวนการทำงานก็ต้องคิดถึงการใช้ประโยชน์จากสื่อให้มากขึ้น เช่น เมื่อก่อนอาจวางแผนเพียงแค่การทำเนื้อหาเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร และภาพเท่านั้น แต่ต่อไปคือการวางแผนเพื่อใช้ภาพเคลื่อนไหวมาประกอบเพื่อให้ตัวอักษรมีชีวิตชีวามากขึ้น

ความสามารถของตัวแท็ปเล็ต หรือแม้แต่ e-Reader ในอนาคตซึ่งน่ารวมถึง iPad ที่คาดการณ์กันว่าเวอร์ชั่นใหม่ๆ จะมีกล้องติดมาด้วยนั้น จะยิ่งทำให้การอ่านหนังสือสนุกมากยิ่งขึ้น และน่าทึ่ง ซึ่ง “วรมน” แชร์ลิงค์ Youtube ว่าด้วยเรื่อง Text 2.0 ซึ่งมีผู้ชมคลิกดูแล้ว 130,000 คน พบนวัตกรรมใหม่ที่กล้องตรวจจับความเคลื่อนไหวของสายตา เช่น อ่านเรื่องเจ้าชายน้อย เมื่อสายตาอ่านไปถึงบรรทัดที่เล่าเรื่องการวาดรูปที่ผู้เขียนเล่าถึงการวาดรูปงูกินช้างเข้าไป มุมหนึ่งของหน้าหนังสือก็แสดงภาพประกอบ และเมื่อถามผู้ใหญ่ว่ากลัวภาพเขาไม๊ คำตอบคือทำไมต้องกลัวหมวกด้วย ภาพก็แสดงให้เห็นเป็นงูที่มีช้างอยู่ข้างในแต่ผู้ใหญ่เป็นเป็นหมวก และผู้ใหญ่ก็หัวเราะในความคิดของเขา

นอกจากนี้ยังมีการแปลคำศัพท์ต่างๆ การแยกคำศัพท์เพื่อให้รู้องค์ประกอบของศัพท์ การให้หนังสือออกเสียงบางคำให้ฟัง หรือหากหลงบรรทัดก็สามารถกลับมาได้ไม่ยาก

iPad VS eBook reader (ในอเมริกา)
ชาว iPad 50% อ่านหนังสือพิมพ์บน iPad VS eBook reader อ่านแค่ 14%
ชาว iPad 38% อ่านนิตยสารบน iPad VS eBook reader อ่านแค่ 11%
*ที่มา ChangeWave survey สำรวจ 3,174 คน

ไทยรัฐพร้อมขยับ

ปลายปี 2551 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ยักษ์ใหญ่หนังสือพิมพ์อันดับ 1 ของไทย มีความเปลี่ยนแปลงในสายผลิตภัณฑ์สื่อเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี ด้วยการทำธุรกิจเว็บไซต์ข่าวออนไลน์อย่างจริงจัง ภายใต้บริษัทลูกที่ชื่อว่า “เทรนด์ วี จี 3 จำกัด” ที่ดูแลโดย”วัชร วัชรพล” ทายาทรุ่นที่ 3 ของวัชรพล ในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร แม้หน้าตาของเว็บไซต์ไทยรัฐจะไม่เร้าใจ หรือมีลูกเล่นมากนัก แต่ด้วยแบรนด์ไทยรัฐที่เข้มแข็งทำให้ Thairath.co.th มีที่ยืนค่อนข้างมั่นคงในโลกข่าวออนไลน์ เมื่อสื่อใหม่อย่าง iPad กำลังมา ไทยรัฐก็อาจต้องขยับอีกครั้ง เมื่อความเป็นไปได้ทางธุรกิจพร้อม ไทยรัฐจะเปลี่ยนจากโลกของคลิก มาสู่โลกของการทัชอ่านหนังสือพิมพ์เช่นกัน

“วัชร” บอกว่าเขาและทีมงานกำลังศึกษาและหาช่องทางในการใช้สื่อใหม่อย่าง iPad และแน่นอนตัวเขาเองก็ได้ลองเล่น iPad หลังจากจำหน่ายที่อเมริกาเพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น เพราะเขาเป็นทั้งสาวกของแอปเปิลและ Gadget Lover

สำหรับความเป็นไปได้ทางธุรกิจแล้ว”วัชร”บอกว่ายังไม่อยากเป็น Trendsetter แม้จะสนใจ แต่ก็ไม่โดดลงไปทันที นอกจาก iPad แล้วไทยรัฐยังศึกษาทั้งแอพพลิเคชั่นบนมือถือ โดยเฉพาะแอนดรอยด์ที่กำลังดูว่าจะถึงจุดที่เติบโตขึ้นหรือไม่

ความพร้อมของไทยรัฐการสร้างฐานคอนเทนท์บนโปรแกรมที่เปิดกว้าง พร้อมปรับเพิ่มเมื่อมีโปรแกรมใหม่ ๆ และเป็นเทคโนโลยีที่เป็นกลาง เพื่อเข้าสู่ฟีเจอร์ใหม่และอุปกรณ์ใหม่ได้ เช่น เว็บไซต์ไทยรัฐ ไม่ใช้ Flash เพราะไม่ต้องการให้เว็บช้า และเข้าได้กับทุกโปรแกรม เพราะฉะนั้นหากต้องโดดเข้าจอ iPad ก็ไม่มีปัญหาของการดูโปรแกรมที่ iPad ไม่รองรับ Flash เป็นต้น

สำหรับเทคนิคแล้วไม่ใช่อุปสรรคของไทยรัฐ แต่สิ่งที่เห็นเช่นเดียวกับกลุ่มเอเอสทีวี ผู้จัดการคือโมเดลธุรกิจที่จะทำให้เกิดรายได้จริง ซึ่ง “วัชร” บอกว่า เป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนจ่ายเงินซื้ออ่าน โดยเฉพาะการจ่ายเป็นรายครั้งของแต่ละคน แบบ Micro Payment จึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่วงการสิ่งพิมพ์ต้องหาคำตอบ

เนชั่น เปิดร้านหนังสือ-ทีวี-อ่านนสพ.

อีกหนึ่งโมเดลที่ค่ายสิ่งพิมพ์กำลังขยับ คือโมเดลการเปิดร้านหนังสือออนไลน์ ซึ่งคล้ายกับที่ค่ายสื่อสารอย่างทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด เพิ่งเปิดธุรกิจอีบุ๊ก โดยรวมสำนักพิมพ์หลายแห่งมาเป็นพันธมิตร หรือแม้แต่ค่ายสำนักพิมพ์อมรินทร์เองก็กำลังเร่งพัฒนาอีบุ๊กสโตร์

“อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ” กรรมการอำนวยการ บริษัทเนชั่น บรอดแคสติ้ง จำกัด บอกว่าทุกค่ายสิ่งพิมพ์ต้องปรับตัว เพราะคนจะอ่านหนังสือบน e-Reader และ iPad มากขึ้น

“ทุกสื่อในเครือเนชั่น ตั้งแต่ทีวี หนังสือพิมพ์ และพ็อคเก็ตบุ๊ก กำลังพัฒนาโปรแกรม เพื่อให้คนอ่านบนอุปกรณ์เหล่านี้ได้ โดยโอกาสของสื่อแรกคือพ็อคเก็ตบุ๊ก ที่นอกจากจะรวบรวมคอนเทนท์จากค่ายกรุงเทพธุรกิจบิซบุ๊ก ที่เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจแล้ว ยังจะนำคอนเทนท์ที่นักข่าวเขียนบล็อกเนชั่นมารวมเป็นเล่ม และเปิดโอกาสให้นักเขียนทั่วไปที่สนใจขายพ็อคเก็ตบุ๊กดิจิตอลผ่านเครือข่ายอีบุ๊กของเนชั่น”

เปิดร้านขายหนังสือออนไลน์แล้ว ก้าวต่อไปคือการนำสื่อหนังสือพิมพ์ในเครือทัชอ่านบน iPad และการนำรายการทีวีที่จะนำร่องก่อนคือ Mango TV อีกช่องหนึ่งของทีวีดาวเทียมในเครือเนชั่น

โมเดลที่เครือเนชั่นใช้ในระบบการจ่ายเงินนั้น”อดิศักดิ์” บอกว่า การคิดต่อการดาวน์โหลดหนึ่งครั้ง โดยรวมอยู่ในบิลรายเดือนค่าโทรศัพท์มือถือ หรือตัดเงินจากพรีเพด

“อดิศักดิ์” บอกว่าการที่นักเขียนสามารถจำหน่ายผลงานของตัวเองบนออนไลน์ได้มากขึ้น เพราะคนอ่านหนังสือผ่านหน้าจอที่สะดวกกว่าเดิม ทำให้รูปแบบการธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพราะต้นทุนกระดาษ และต้นทุนจัดจำหน่ายผ่านร้านหนังสือลดลง และเจ้าของผลงานก็มีผลตอบแทนที่ดีขึ้น

สิ่งที่เคยยาก และเป็นอุปสรรคสำหรับธุรกิจสิ่งพิมพ์กำลังถูกทำให้สะดวกกว่าเดิม นั่นหมายถึงผลงานที่มากมาย และหลากหลายให้ผู้คนเลือกมากขึ้น

ในวันนี้หากตัวอักษรแรกของค่ายสิ่งพิมพ์ได้เริ่มบรรเลงบนจอ 9.7 นิ้วเมื่อไหร่ นั่นหมายถึงโอกาสที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์อาจได้เกิดใหม่และสดใสยิ่งกว่าเดิม

จะเปลี่ยนแปลงหรือว่าปิดตัว

”ผมคิดว่ารากฐานของสังคมที่มีเสรีภาพ คือการมีสื่อที่เป็นอิสระเสรี และแข็งแรง และเราก็ได้เห็นแล้วกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น Wall Street Journal และ New York Times ผมไม่อยากเห็นสังคมเราดิ่งลงเป็นชาติที่มีแต่บล็อกเกอร์สเท่านั้น และสิ่งที่เราต้องการตอนนี้และตลอดไปคือกองบรรณาธิการข่าว” คำกล่าวนี้แม้ใน mashable.com จะเขียนบอกว่า Steve Jobs ซีอีโอ Appleแสดงการปกป้องสื่อหนังสือพิมพ์อย่างเต็มที่ ก็ตาม แต่นี่คือความปรารถนาที่ทำให้ iPad เข้ามามีบทบาทในธุรกิจสื่อ โดยเฉพาะสิ่งพิมพ์ และกระแสก็มาแล้วพร้อมกับความแรงของ iPad

และก็เป็นไปตามแผนของ Jobs เพราะขณะนี้หนังสือพิมพ์ต่างประเทศต่างพาเหรดให้ทัช เริ่มตั้งแต่ The NewYork Times ที่ Jobs พรีเซนต์ในระหว่างการเปิดตัว iPad และนิตยสารอีกหลายฉบับที่เริ่มนำร่อง แต่นี่คือการเริ่มต้น ที่สิ่งพิมพ์ต่างเลือกว่าจะทำอะไรสักอย่างกับสื่อใหม่อย่าง iPad หรือปิดตัว หลังจากที่สื่อสิ่งพิมพ์ในอเมริกาต่างปิดตัวไปแล้วหลายร้อยแห่ง แม้จะยังไม่มีกรณีศึกษาชัดว่าสำเร็จได้จริงหรือไม่ และที่สำคัญยังราคาแพงกว่าเวอร์ชั่นกระดาษ จนทำให้หลายคนผิดหวัง แต่ทั้งคนผลิตและคนอ่านก็ไม่ย่นย่อ จึงมียอดดาวน์โหลดระดับหนึ่ง เพราะเวอร์ชั่นดาวน์โหลดมีลูกเล่นเพลินมากกว่า

ตัวอย่างเช่น นิตยสาร Popular Science ซึ่งในรูปแบบ Print ค่าสมาชิก 1 ปี อยู่ที่ 12 เหรียญสหรัฐ ถ้าหากสมัครทางเว็บไซต์ของนิตยสาร และ 10 เหรียญสหรัฐหากสมัครผ่านทาง Amazon แต่สำหรับ iPad edition ทางนิตยสารประกาศราคาออกมาแล้วว่า ประมาณ 29.95 เหรียญสหรัฐ

เทียบให้เห็นข้อแตกต่างง่ายๆ 83 เซนต์ต่อฉบับแบบสิ่งพิมพ์ และ 2.50 เหรียญสหรัฐต่อฉบับสำหรับ iPad

เช่นเดียวกับนิตยสาร Time ที่ Ann Moore ซีอีโอของบริษัท Time Inc. ประกาศเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมว่า จะเปิดรับสมาชิกนิตยสาร Time บน iPad เร็วๆนี้ และแนวโน้มของราคาก็คงไม่ถูกกว่ารูปแบบกระดาษอย่างแน่นอน เพราะเธอให้เหตุผลที่ชัดเจนว่า

“กลุ่มลูกค้ายินดีที่จะจ่ายเงินให้กับคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ และน่าไว้วางใจ”

Andrew Degenholtz ประธาน ValueMags บริษัทการตลาดสมาชิกนิตยสาร อธิบายถึงความคิดของบรรดาผู้อ่านนิตยสารว่า ทำไมต้องจ่ายแพงกว่า เมื่อไม่ต้องตัดต้นไม่ ไม่ต้องใช้หมึกพิมพ์ และไม่ต้องใช้รถขนส่งขนาดใหญ่ในการจัดส่งนิตยสาร

แต่ในความเป็นจริง มีค่าใช้จ่ายที่สำคัญกว่านั้น คือ ค่าบรรณาธิการ ค่าความคิดสร้าง รวมทั้งการทำวิจัยและการพัฒนา และค่าการผลิต

ที่สำคัญที่สุด คือ นี่เป็นกลยุทธ์การวางราคาอย่างที่ควรจะเป็น

ราคาโหลดแอพฯ จำนวนลูกค้า/โหลด
Wall Street Jornal 17.29 เหรียญสหรัฐ 10,000 ราย
The Times อังกฤษ 9.99 ปอนด์ต่อเดือน 5,000 โหลดภายใน 3 วัน
Finacial Time ฟรี 2 เดือน 130,000 โหลด
Wired 5 เหรียญสหรัฐต่อเล่ม –
Dwell 19.99 เหรียญสหรัฐต่อปี –