“แสนสิริ” เพิ่งย้ายพนักงานกว่า 1,000 ชีวิตสู่ออฟฟิศ “สิริ แคมปัส” บริเวณ T77 อ่อนนุช หลังเคยปักหลักอยู่ที่อาคารสิริภิญโญ พญาไท ที่ต้องย้ายข้ามฟากเมืองมาไกล เพราะสิริ แคมปัสเป็น “บ้านใหม่” ที่สร้างและดีไซน์ขึ้นตามทิศทางวัฒนธรรมองค์กรแบบ “Agile” ที่บริษัทเริ่มต้นปรับใหม่เมื่อ 18 เดือนที่แล้ว
ฟังก์ชันและสิ่งแวดล้อมในสำนักงานมีส่วนช่วยสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้จริง จากแนวคิดนี้ทำให้ บมจ.แสนสิริ ทุ่มทุน 1,000 ล้านบาท (ไม่รวมมูลค่าที่ดิน) ใช้เวลา 1 ปีออกแบบและก่อสร้าง “สิริ แคมปัส” กลุ่มอาคารตึกเตี้ย 3-6 ชั้น จำนวน 5 อาคาร พื้นที่รวม 32,000 ตร.ม. ในบริเวณเดียวกับคอมมูนิตี้ T77 อ่อนนุช เพื่อส่งเสริมให้การทำงานของพนักงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้บรรยากาศดีๆ ช่วยดึงดูดคนทำงานรุ่นใหม่เจนวายและเจนซีให้สนใจทำงานกับแสนสิริ
“อุทัย อุทัยแสงสุข” ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บมจ.แสนสิริ ท้าวความให้ฟังก่อนว่าแสนสิริเริ่มปรับวิธีการทำงานในองค์กรตั้งแต่ 18 เดือนที่แล้ว จากรูปแบบการทำงานแบบ “ไซโล” ซึ่งเป็นระบบดั้งเดิม มาเป็นรูปแบบองค์กรแบบ “Agile”
ทำให้ขั้นตอนทำงานเปลี่ยน จากเดิมแต่ละแผนกจะทำงานส่วนของตัวเอง ส่งขึ้นตามสายบัญชาการให้หัวหน้าอนุมัติ แล้วจึงส่งต่อให้แผนกต่อไป ผ่านการอนุมัติเป็นทอดๆ ซึ่งทำให้การทำงานค่อนข้างช้าเพราะเมื่อมีข้อผิดพลาดต้องเสียเวลาตีกลับไปให้แผนกเดิมแก้ไขแล้วจึงส่งกลับมาใหม่ เช่น แผนกออกแบบดีไซน์โครงการเรียบร้อยแล้วส่งต่อให้แผนกวิศวกรรมถอดแบบค่าก่อสร้าง ปรากฏว่าค่าก่อสร้างเกินทุน ต้องตีกลับไปทำใหม่
แต่รูปแบบ Agile คือการตั้งทีมพนักงานผู้รับผิดชอบโครงการที่รวมคนจากทุกแผนกมาคุยกันในทีมเดียว โดยหัวหน้าระดับรองประธานมีหน้าที่เพียงดูอยู่ห่างๆ และให้กรอบการทำงานคร่าวๆ เป็นวิธีทำงานที่ต้องเชื่อใจและให้อำนาจกับพนักงานรุ่นใหม่ที่จะตัดสินใจกันเองภายในทีม
เมื่อใช้วิธีนี้ทำให้ลำดับขั้นในโครงสร้างองค์กรลดลงครึ่งหนึ่ง จากเดิม 8 ขั้นลงมาเหลือ 4 ขั้น และทำให้การทำงานเร็วขึ้นมาก จากเดิมโครงการหนึ่งๆ จะออกแบบเสร็จพร้อมเปิดขายและก่อสร้างใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ปัจจุบันลงมาเหลือเพียง 2-3 เดือน เวลาที่ลดลงนี้ทำให้จำนวนคนทำงานเท่าเดิมแต่สามารถเพิ่มผลผลิตคือจำนวนโครงการเปิดขายได้อีกเป็นเท่าตัว
ดีไซน์แบบโคเวิร์กกิ้งสเปซ
หลังปรับวิธีการทำงานไปแล้ว ทำให้ออฟฟิศแบบเดิมที่ยังแยกที่นั่งคนละแผนกไม่ค่อยเหมาะสมนัก และเมื่อจะย้ายบ้านใหม่ แสนสิริจึงจัดเต็มดีไซน์สิ่งแวดล้อมในอาคารใหม่หมด เป้าหมายเพื่อ “สร้างวัฒนธรรมที่เราต้องการ”
5 อาคารของ สิริ แคมปัส แยกเป็นอาคารทำงาน 4 ตึกและอาคารจอดรถ 1 ตึก ภาพรวมงานดีไซน์ออกมาเป็นตึกเตี้ยและมีทางเดินเชื่อมต่อระหว่างอาคาร มีบันไดให้เดินขึ้นลงเยอะ
ส่วนการจัดที่นั่งภายในเป็นแบบ Hot Seats ทั้งหมด คือกระจายที่นั่งทำงานสารพัดรูปแบบ ทั้งโต๊ะใหญ่ โต๊ะเล็ก เก้าอี้สูง ที่นั่งโซฟา ฯลฯ และพนักงานจะเลือกนั่งตรงไหนก็ได้ ยกเว้นห้องผู้บริหารเพียง 12 ห้องที่กำหนดไว้เฉพาะ รวมถึงบางแผนกที่จำเป็นต้องมีที่นั่งประจำ เช่น แผนกบัญชี แผนกไอที โดยพนักงานทุกคนจะมีล็อกเกอร์ส่วนตัวในห้องล็อกเกอร์ หากต้องการนำของใช้บางอย่างมาเก็บไว้ที่ออฟฟิศ
นอกจากที่นั่งทำงานแล้ว จะมีห้องประชุมหลายไซซ์กระจายตัวในอาคาร รวมถึงที่นั่งประชุมแบบ slope ขั้นบันได เหมาะสำหรับการนัดนำเสนอผลงาน
ส่วนพื้นที่พักผ่อนสันทนาการ สิริ แคมปัสจัดห้องยิมขนาดใหญ่ พื้นที่เล่นสนุกอย่างโต๊ะปิงปอง โต๊ะพูล แอร์ฮอกกี้ ฯลฯ กระทั่งมีโซนสัตว์เลี้ยงที่บริษัทเลี้ยงสุนัขกับปลาไว้จริงๆ เผื่อใครคิดงานไม่ออกก็เปลี่ยนอิริยาบถไปวิ่ง เล่นเกม หรือเล่นกับน้องหมาให้สมองแล่นกันก่อนได้
ขณะที่คนที่ชอบพื้นที่กลางแจ้งสงบๆ พื้นที่ระหว่างตึกต่างๆ ก็มีที่นั่งทำงานสอดแทรกตัวอยู่กลางหมู่ต้นไม้ ช่วยเปลี่ยนบรรยากาศทำงานอีกแบบหนึ่ง
ยืดหยุ่นเวลาทำงาน
มีที่ทำงานเก๋ๆ แล้วแต่ไม่ต้องเข้าก็ได้ เพราะแสนสิริออกนโยบายให้พนักงานสามารถเลือกวัน Work from Home ได้ 2 วันต่อสัปดาห์ (ยกเว้นวันจันทร์และวันศุกร์ ห้ามเลือกเพราะกำหนดเป็นวันประชุมงาน) และไม่มีการกำหนดเวลาเข้าออกงาน อยากทำเวลาไหนก็ได้ขอแค่งานเสร็จตามเป้าหมาย
เมื่ออนุญาตให้พนักงานทำงานที่ไหนก็ได้ ซอฟต์แวร์จึงต้องรองรับ โดยแสนสิริเลือกใช้ระบบประชุมงานและส่งไฟล์งานของ Microsoft และบริษัทมีการทำเอกสารแบบ ‘paperless’ ไม่ใช้กระดาษมากว่า 5 ปีแล้ว (ยกเว้นแผนกที่ต้องส่งเอกสารกับหน่วยงานราชการยังจำเป็นต้องใช้กระดาษอยู่)
ประหยัดพลังงาน มีสวนข้างบ้าน
ออฟฟิศนี้ยังติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และกังหันลมด้วยเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองในอาคาร แม้จะไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่จะลดค่าไฟฟ้าไปได้ 20% โดยมีระยะคืนทุนจากการลงทุนติดตั้งช่วง 4 ปีแรก
นอกจากนี้ยังนำที่ดินว่าง 15 ไร่ที่ยังไม่ได้พัฒนาด้านข้างออฟฟิศ ดึง “ไร่กำนันจุล” ลงทุนปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกสตรอว์เบอร์รี่ เลี้ยงไก่ไข่ โดยแสนสิริไม่คิดค่าเช่าที่ แลกกับขอแบ่งกำไรบางส่วนใช้บริจาคกับมูลนิธิต่างๆ ส่วนผลผลิตนั้นไร่กำนันจุลสามารถบริหารจัดการจำหน่ายเองได้
เหมือนกลับไปใช้ชีวิตมหา’ลัย
Positioning ได้มีโอกาสเยี่ยมเยือน สิริ แคมปัส จากการเดินชมพื้นที่ทำงานทั้งหมดพบว่าการดีไซน์ออฟฟิศที่มีโครงสร้างแนวราบมากกว่าแนวสูง และบันไดไม่ชัน ทำให้รู้สึกมีความสุขกับการเดินไปทั่วอาคาร ประกอบกับบรรยากาศที่นั่งหลากหลาย แทรกด้วยพื้นที่กิจกรรมสันทนาการ ทำให้สิ่งแวดล้อมมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ส่งเสริมให้รู้สึกว่าการทำงานมีชีวิตชีวาขึ้น เหมือนกับได้ย้อนไปอยู่ในแคมปัสมหาวิทยาลัย
บรรยากาศแบบนี้น่าจะถูกใจคนรุ่นใหม่เจนวายและเจนซีมากขึ้น และเป็นกลุ่มวัยที่จะชี้ชะตาบริษัทในอนาคต เพราะคนเจนเอ็กซ์กำลังจะเริ่มเกษียณอายุแล้ว ทำให้การดึงคนรุ่นใหม่ให้อยู่กับองค์กรมีความสำคัญขึ้นทุกวัน
“เราต้องทำสิ่งแวดล้อมให้ไม่น่าเบื่อ และทำให้การทำงานกับชีวิตไปด้วยกันในที่ทำงานได้” อุทัยกล่าว “จุดมุ่งหมายคือให้พนักงานของเราแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย มีพลัง มีการปฏิสัมพันธ์กับคนทุกแผนก ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ไอเดีย สุดท้ายออกมาเป็นประสิทธิภาพการทำงาน”