ไต้หวันแฉ WHO “เมินคำเตือน” เรื่องไวรัส COVID-19 ทั้งที่ส่งข้อมูลให้ตั้งแต่สิ้นปี 2562

การเมืองโลกส่งผลถึงสุขภาพประชาชน! ไต้หวันเปิดเผยว่าตนได้ส่งข้อมูลเตือนเรื่องการระบาดจากคนสู่คนของไวรัสโคโรนาให้กับองค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 แต่เนื่องจาก WHO ถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ทำให้ยึดข้อมูลตามที่รัฐบาลจีนระบุเท่านั้น โดยจีนเปิดเผยข้อมูลล่าช้าไปจนถึงวันที่ 20 มกราคม 2563 และทำให้การแพร่ระบาดของไวรัสข้ามประเทศถูกป้องกันช้าเกินไป

หน่วยงานรัฐด้านสาธารณสุขไต้หวันกล่าวว่า ตนได้เตือน WHO ตั้งแต่ช่วงสิ้นเดือนธันวาคม 2562 แล้วว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดไวรัสชนิดใหม่ซึ่งสามารถระบาดจากคนสู่คนได้ แต่ขณะนั้นข้อมูลดังกล่าวยังไม่มีการส่งต่อให้กับประเทศอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ไต้หวันไม่ใช่สมาชิกของ WHO เพราะประเทศจีนถือว่าไต้หวันคือส่วนหนึ่งของประเทศ และกดดันให้ประเทศอื่นๆ หรือองค์กรระหว่างประเทศต้องไม่ปฏิบัติต่อไต้หวันเสมือนเป็นประเทศที่มีเอกราช และ WHO คือหนึ่งในองค์กรที่ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว อีกทั้งช่วงที่ผ่านมา WHO ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ายกยอการจัดการไวรัสโคโรนาของรัฐบาลจีนดีเกินจริง ทั้งๆ ที่รัฐบาลจีนถูกกล่าวหาว่ามีความพยายามปกปิดเรื่องไวรัส COVID-19 มาตั้งแต่แรก

ข้อมูลเรื่องไวรัสโคโรนาที่ทางการไต้หวันรับทราบ เกิดจากแพทย์ชาวไต้หวันทราบสถานการณ์จากแพทย์ในจีนแผ่นดินใหญ่ว่ามีสัญญาณการระบาดจากคนสู่คนของไวรัสชนิดใหม่ และมีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อนี้จนเจ็บป่วย

Photo : Shutterstock

ในที่สุด วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หน่วยงานรัฐของไต้หวันได้รายงานต่อไปยัง WHO ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR) ที่ระบุให้ 196 ประเทศทั่วโลกแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อร่วมป้องกันการเกิดโรคระบาดต่างๆ และไต้หวันยังส่งข้อมูลนี้กลับไปที่หน่วยงานรัฐของจีนด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวกลับไม่ถูกส่งต่อให้ประเทศอื่นได้เตรียมตัวรับมือ

“IHR มีเว็บไซต์ที่ใช้เป็นการภายใน สำหรับให้ประเทศต่างๆ สามารถแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดและการรับมือได้ แต่ไม่มีข้อมูลใดจากศูนย์ควบคุมโรคของประเทศเราที่ส่งไปให้ ถูกแจ้งลงในเว็บไซต์นั้นเลย” เฉิน เชนเจ็น รองประธานาธิบดีไต้หวันกล่าว

chen chien-jen
เฉิน เชนเจ็น รองประธานาธิบดีไต้หวัน

“WHO ไม่ได้รับข้อมูลปฐมภูมิเพื่อนำไปศึกษาและตัดสินใจว่ามีการระบาดจากคนสู่คนของไวรัส COVID-19 หรือไม่ และทำให้การประกาศว่ามีการระบาดช้าลงไปอีก โอกาสที่จะยกระดับการแจ้งเตือนทั้งในจีนและระดับสากลได้ขาดหายไป” เชนเจ็นกล่าว โดยตัวเขาเองยังเป็นนักระบาดวิทยา และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไต้หวันในช่วงที่โรคซาร์สระบาดด้วย

กระทรวงสาธารณสุขของจีนเพิ่งจะประกาศว่าไวรัสชนิดนี้มีการระบาดจากคนสู่คนเอาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 ส่วน WHO ประกาศช่วงกลางเดือนมกราคม 2563 ว่าไวรัสนี้อาจจะมีการระบาดแบบคนสู่คน “อย่างจำกัด” แต่ได้ยกเลิกการประกาศในวันเดียวกันนั้นเอง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคำเตือนแล้วแต่ประเทศแถบตะวันตกก็นับว่าสอบตกในการป้องกันโรคระบาดในเวลาต่อมา

 

จีนพยายามให้ไวรัสดูรุนแรงน้อยลง

เจาะลึกลงในความสัมพันธ์ระหว่าง WHO กับประเทศจีน WHO จำเป็นต้องดูแลรักษาสมดุลที่เปราะบางกับจีนไว้ในช่วงเริ่มเกิดการระบาด โดยหลังจากที่ผู้เชี่ยวชาญของ WHO 12 คนเดินทางไปสำรวจการรับมือการระบาดร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีน 13 คน เป็นเวลา 9 วันที่จีนโดยเฉพาะในเมืองอู่ฮั่น “บรูซ เอลวาร์ด” นักระบาดวิทยาชาวแคนาดาและผู้นำทีม WHO ครั้งนี้แถลงข่าวว่า กระบวนการของจีนนั้น “ยอดเยี่ยมมาก”

แต่เขาให้สัมภาษณ์กับ Financial Times ในภายหลังว่าจริงๆ แล้วการทำงานกับเจ้าหน้าที่จีนมีการ “ดึงกันไปดีงกันมา” อย่างมากว่าคำว่าอะไรจะได้เข้าไปอยู่ในรายงานของ WHO บ้าง เพราะเจ้าหน้าที่จีนไม่ต้องการใส่คำว่า “เชื้อโรคอันตราย” แต่ให้ใช้นิยามว่าเป็น “โรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง” หรือไม่ต้องการให้ใช้คำว่า “คลื่นลูกที่สอง” ของการระบาด แต่ยอมได้ที่จะให้รายงานว่า “เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว”

ขณะที่ คลิฟฟอร์ด เลน อีกหนึ่งเจ้าหน้าที่ในทีม WHO และเป็นผู้อำนวยการสถาบันด้านโรคติดเชื้อและภูมิแพ้ของสหรัฐอเมริกา มองว่าการอภิปรายเรื่องคำที่ใช้ในรายงานไม่ถึงกับเป็นการ “เซ็นเซอร์” แต่น่าจะเรียกว่าเป็น “การบิดคำเล็กน้อย” มากกว่า

อย่างไรก็ตาม เอลวาร์ดระบุว่า เมื่อไหร่ที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนลังเลที่จะอนุญาตให้เขาเข้าถึงข้อมูล หรือไม่อนุญาตต่อคำขอต่างๆ ของเขา เขาจะตอบทันทีว่า “คุณไม่สามารถปิดเมืองแบบอู่ฮั่นได้อีกถ้าคุณไม่รู้ว่าการระบาดเกิดขึ้นได้อย่างไรและเมื่อไหร่” คำตอบกลับนี้ได้ผลเสมอเพราะ “พวกเขาไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์แบบอู่ฮั่นอีก” เอลวาร์ดกล่าวปิดท้าย

Source