10 ประเทศที่ติดตาม “ดาต้ามือถือ” ประชาชน เช็กประวัติเดินทางเพื่อรับมือไวรัส COVID-19

ความเป็นส่วนตัว vs ความปลอดภัย ? เป็นคำถามที่มาถึงตัวอย่างชัดเจนขึ้นในยุคการระบาดของไวรัส COVID-19 เพราะในห้วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ หลายประเทศเลือกที่จะเข้าถึงข้อมูลประชาชนผ่านการติดตามดาต้ามือถือ เพียงแต่ระดับการเข้าถึงข้อมูลแตกต่างกันไป บ้างก็ใช้ข้อมูลแบบองค์รวมเพื่อให้เห็นภาพการเคลื่อนที่ของประชากร แต่บางประเทศก็เจาะลึกถึงระดับบุคคลว่าเดินทางไปไหนบ้าง

Top10VPN ประเมินสถานการณ์ว่ามีประเทศใดบ้างที่เริ่มนำกลยุทธ์การติดตามการใช้ดาต้าสมาร์ทโฟนมาใช้สู้ไวรัส ซึ่งมีตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลภาพกว้างเพื่อให้เห็นการเคลื่อนที่ของกลุ่มประชากร จนถึงแบบแคบที่สามารถติดตามได้ว่าเจ้าของสมาร์ทโฟนเครื่องนั้น (โดยมากคือผู้ติดเชื้อหรือต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อ) เดินทางไปไหนมาบ้างและติดต่อใกล้ชิดกับใครบ้าง

ซามูเอล วู้ดแฮมส์ หัวหน้าทีมสิทธิดิจิทัลจาก Top10VPN เปิดเผยกับ Business Insider ว่า จากเหตุการณ์นี้อาจทำให้ภาครัฐทั่วโลกเดินไปสู่การสอดส่องประชาชนทางดิจิทัลอย่างถาวรได้

“หากไม่มีการติดตามที่พอเหมาะพอควร มีความเป็นไปได้ที่อันตรายว่า วิธีการใหม่อันบุกรุกความเป็นส่วนตัวอย่างมากนี้จะกลายเป็นมาตรฐานไปทั่วโลก แม้ว่าบางครั้งวิธีการนี้จะดูมีเหตุผลสมบูรณ์ แต่ส่วนมากแล้วจะกลายเป็นความเสี่ยงต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน”

เพราะบางประเทศจะกำหนดข้อจำกัดในวิธีการฉุกเฉินครั้งนี้ แต่หลายๆ ประเทศอาจจะเลือกเก็บอำนาจรัฐครั้งนี้ไว้ใช้ต่อในอนาคต “เรื่องนี้ค่อนข้างสำคัญมาก เนื่องจากวิธีการใหม่หลายอย่างสามารถหลีกเลี่ยงข้อวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองและจากสาธารณชนไปได้ และไม่มีการบรรจุจุดสิ้นสุดการใช้งานไว้”

เหล่านี้คือตัวอย่าง 10 ประเทศที่ติดตาม “ดาต้ามือถือ” ของประชาชน เพื่อนำข้อมูลมาใช้รับมือไวรัส COVID-19

 

“เกาหลีใต้”

  • ติดตามดาต้ามือถือเป็น “รายบุคคล” จากนั้นนำมาสร้างเป็นแผนที่การเดินทางเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนรายอื่นสามารถตรวจสอบได้ว่าตนเองอาจเคยอยู่ในสถานที่เดียวกับผู้ติดเชื้อ
  • นอกจากดาต้ามือถือแล้ว รัฐบาลเกาหลียังเก็บดาต้าจากบัตรเครดิต และการสัมภาษณ์ เพื่อนำข้อมูลมาลงในแผนที่ดังกล่าวด้วย
  • รัฐบาลใช้แผนที่นี้เพื่อส่ง SMS เตือนในภูมิภาคนั้นๆ ให้ระมัดระวังบุคคลที่อาจติดเชื้อ
  • ดาต้านี้สามารถระบุละเอียดระดับชื่อร้านค้าที่บุคคลนั้นไป พร้อมเวลาที่ชัดเจน
  • หากมองในมุมลบ วิธีการเช่นนี้ทำให้หากมีผู้ใดติดเชื้อจะทำให้ข้อมูลการเดินทางทุกอย่างของบุคคลถูกเปิดเผยต่อสาธารณะทันที โดยข้อมูลบางอย่าง บุคคลนั้นอาจต้องการเก็บเป็นความลับก็ได้
ตัวอย่างภาพจากเว็บไซต์ http://coronamap.site/ แสดงผลจุดที่มีผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในเกาหลีใต้

“อิหร่าน”

  • อิหร่านใช้วิธีส่ง SMS บอกประชาชนให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันชื่อ AC19 ซึ่งจะมีแบบสอบถามให้ตรวจสอบด้วยตัวเองก่อนว่า ตนเองมีแนวโน้มจะติดไวรัส COVID-19 หรือไม่ ก่อนที่จะไปโรงพยาบาล
  • แอปฯ นี้ไม่ได้มีไว้ตอบแบบสอบถามเท่านั้น แต่ยังมีฟังก์ชันติดตามโลเคชันมือถือได้แบบเรียลไทม์ด้วย (ปัจจุบันแอปฯ ถูกลบออกจาก Google Play Store ไปแล้ว)

“อิสราเอล”

  • ผ่านกฎหมายฉบับใหม่เพื่อให้หน่วยงานความมั่นคงติดตามดาต้ามือถือประชาชนได้ทันทีโดยไม่ต้องขอคำสั่งศาล อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่เก็บมาจะต้องลบทิ้งภายใน 30 วัน
  • เบนจามิน เนทานยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ยอมรับว่า กฎหมายใหม่นี้จะ “รุกล้ำ” ความเป็นส่วนตัวประชาชนระดับเดียวกับปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย แต่รัฐจำเป็นต้องทำ

“สิงคโปร์”

  • ทางการสิงคโปร์เปิดตัวแอปฯ TraceTogether เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 63 โดยแอปฯ นี้จะสามารถระบุได้ว่ามีใครที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อในระยะน้อยกว่า 2 เมตร เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 30 นาที
  • เทคโนโลยีที่ใช้ไม่ใช่การระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ เป็นแค่การใช้ ระบบบลูทูธ ของเครื่องเพื่อเก็บข้อมูล เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นส่วนตัวในระดับหนึ่ง

“ไต้หวัน”

  • ใช้การติดตามดาต้ามือถือเพื่อสร้าง “รั้วไฟฟ้า” เสมือนจริงในการควบคุมผู้อยู่ระหว่างกักกันตัวในบ้าน
  • หากบุคคลที่ถูกกักกันออกจากบ้าน ข้อมูลจะถูกส่งไปแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่รัฐให้ไปถึงตัวได้ใน 15 นาที

“ออสเตรีย”

  • Telekon Austria AG ค่ายเครือข่ายมือถือที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรีย ให้ข้อมูลโลเคชันผู้ใช้แบบไม่เปิดเผยตัวบุคคลกับรัฐบาล
  • จากนั้นข้อมูลจะส่งต่อให้สตาร์ทอัพจากมหาวิทยาลัย Graz ทำแผนที่เพื่อให้เห็นภาพการเคลื่อนไหวของคนโดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยว

“เบลเยียม”

  • เช่นเดียวกับออสเตรีย แต่เบลเยียมเก็บข้อมูลโลเคชันแบบนิรนามจากผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือทุกราย

“เยอรมนี”

  • ในทำนองเดียวกัน Deutsche Telekom ประกาศว่าจะให้ข้อมูลกับหน่วยงานรัฐเพื่อนำไปทำแผนที่การเคลื่อนไหวของประชาชนได้ลึกในระดับชุมชน

“อิตาลี”

  • เช่นเดียวกับเบลเยียม อิตาลีเก็บข้อมูลโลเคชันแบบนิรนามจากผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือทุกราย

“ไทย”

  • ประเทศไทยใช้มาตรการแบบอ่อนๆ เฉพาะกับผู้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย (ทั้งชาวไทยและต่างชาติ) หากมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง จะต้องดาวน์โหลดแอปฯ AoT Airport
  • นอกจากจะต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว แอปฯ ยังติดตามโลเคชันของเจ้าของเครื่องได้ ในกรณีที่มีการติดเชื้อเกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับบุคคลนั้น จะสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ว่าเจ้าของเครื่องไปที่ใดมาบ้าง

สำหรับประเทศอื่นๆ ที่กำลังพิจารณาใช้มาตรการตรวจสอบดาต้ามือถือ เช่น สหราชอาณาจักร คาดว่าจะใช้วิธีเดียวกับประเทศแถบยุโรป คือรับข้อมูลแบบนิรนามจากเครือข่ายมือถือเพื่อนำมาทำแผนที่การเดินทาง ส่วนสหรัฐฯ มีข่าวลือว่ารัฐกำลังเจรจากับ Facebook และ Google เพื่อขอเก็บข้อมูลโลเคชันแบบนิรนาม แต่มาร์ค ซักเกอร์เบิร์กปฏิเสธข่าวนี้

ในประเทศไทย เท่าที่มีการรายงานยังไม่มีการใช้ข้อมูลดาต้ามือถือมาติดตามตัวผู้ติดเชื้อนอกจากแอปฯ AoT Airport ที่ได้กล่าวไป แต่มีทีมเอกชน 5Lab ใช้ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขและข่าวต่างๆ มาทำระบบแผนที่เรียลไทม์ เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ง่ายว่าตนเคยเดินทางไปในละแวกเดียวกับพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อหรือไม่ สามารถเช็กกันได้ผ่านเว็บไซต์ covidtracker.5lab.co

Source