เจาะเบื้องหลัง ‘หุ่นยนต์ 5G’ สู้ COVID-19 ของ AIS ที่จะเป็น New Normal ใหม่ของวงการแพทย์

หลังจากที่นายใหญ่เอไอเอส คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส ได้ประกาศว่า AIS ทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เพื่อทำ 3 ภารกิจ ‘AIS 5G สู้ภัย COVID-19’ เพื่อคนไทย ซึ่งประกอบไปด้วย 1.ติดตั้งเครือข่าย 5G ใน รพ.ที่รับตรวจและรักษาผู้ป่วย COVID-19 2.ตั้งศูนย์เฉพาะกิจ AIS Robotic Lab เพื่อผลักดันนวัตกรรมการแพทย์ และ 3.พัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ 5G Telemedicine เวอร์ชั่นใหม่ โดยเราจะมาเจาะลึกถึงเบื้องหลังว่ากว่าจะได้หุ่นยนต์ 5G ที่เข้าไปช่วยลดความเสี่ยงให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส)

วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า สำหรับ AIS การพัฒนาหุ่นยนต์ ‘ไม่ใช่เรื่องใหม่’ เพราะที่ผ่านมา AIS มีหุ่น Alex หรือ Lisa ที่ให้บริการลูกค้าในช็อป มีหุ่น Hugo ที่เคยโชว์ในงานวิชั่นเดย์ แต่การจะนำหุ่นยนต์ที่ไปใช้ช่วยเพื่อลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์นั้น จำเป็นต้องลงตลาดไปเก็บข้อมูล เพราะไม่รู้จริง ๆ ว่าต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง

ดังนั้น AIS จึงรวบรวมทีมงานที่อยู่ในส่วนของ AIS Next ที่เป็นส่วนที่ใช้ในการพัฒนานวัตกรรม ตั้งทีมใหม่ขึ้นมาเป็นทีม AIS Robotic Lab เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ ROC หรือ Robot for Care โดยทีมต้องไปพูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อศึกษาความต้องการและปัญหาที่เคยมี เพื่อที่จะพัฒนาหุ่นยนต์ให้ตรงตามความต้องการที่สุด

“ในการทดสอบหุ่นด้านเฮลท์แคร์ เราเคยทำหุ่นยนต์เจาะกระดูก หุ่นยนต์กายภาพบำบัด แต่ในกรณี COVID-19 เราก็ต้องคุยกับหมอเพื่อศึกษาความต้องการและเพนพอยต์ต่าง ๆ เพราะเดิมเราตั้งใจพัฒนาหุ่นมาใช้ในช็อป ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาในการส่งมอบ เพราะหุ่นยนต์แต่ละตัวต้องปรับแต่งให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละโรงพยาบาล”

อราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายงานขับเคลื่อนนวัตกรรม เอไอเอส กล่าวเสริมว่า สำหรับหุ่นยนต์ ROC มีเทคโนโลยีที่หลากหลาย อาทิ เทคโนโลยีอินฟราเรดไว้ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย, เทคโนโลยี 3D Mapping ใช้กำหนดเส้นทางเดินของหุ่นยนต์, Telemedicine ระบบปรึกษาทางไกลระหว่างแพทย์และผู้ป่วยผ่านวิดีโอคอล และเทคโนโลยี Cloud computing ในการประมวลผลจัดเก็บข้อมูลการรักษาพยาบาลผู้ป่วย

นอกจากนี้ ยังได้เสริมฟีเจอร์ต่าง ๆ ได้ตามแต่ละโรงพยาบาลต้องการ อาทิ ตรวจวัดค่าออกซิเจนในเลือด, ส่งยาให้ผู้ป่วยถึงเตียง, บริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือเคลื่อนที่ เป็นต้น โดย ทีม AIS Robotic Lab มองว่ายังสามารถที่จะปรับปรุงความสามารถให้ดียิ่งขึ้นไปอีกได้ เช่น เพิ่มการสั่งงานด้วยเสียงเพื่อลดการสัมผัส, การสร้างหุ่นยนต์ที่ใช้ทำความสะอาดหุ่นยนต์และห้องต่าง ๆ รวมถึงการนำ Machine Learning มาใช้ในการตรวจวัดอุณหภูมิอัตโนมัติ เพื่อลดความผิดพลาดของการตั้งค่าด้วยมนุษย์ เป็นต้น

“อนาคต AIS กำลังมองถึงการทำเรื่องอัตลักษณ์ทางดิจิทัล เพราะนี่ยังเป็นส่วนที่มีปัญหาอาทิ การบันทึกข้อมูลซ้ำ, บางคนไม่มี หรือไม่รู้ว่าของจริงหรือของปลอม ดังนั้นนี่เป็นเรื่องสำคัญและต้องเร่งพัฒนา และต้องเปิดให้หลาย ๆ ภาคส่วนเข้ามาช่วยกัน”

วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน AIS เตรียมส่งมอบส่งมอบหุ่นยนต์ 5G ไปแล้ว 7 แห่ง และคาดว่าจะส่งมอบหุ่นยนต์ในเฟสแรกทั้ง 23 ตัว ให้แก่ 22 โรงพยาบาลได้ภายในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ส่วนการติดตั้งเครือข่าย 5G AIS ได้ติดตั้งแล้วใน 20 รพ. และกำลังขยาย Coverage 5G ให้ครอบคลุมพื้นที่ รพ. ใน กทม.และปริมณฑลอีก 130 รพ. และในต่างจังหวัดอีก 8 รพ. รวมทั้งสิ้น 158 รพ. ภายในเดือนเมษายน 2563

“COVID-19 เหมือนมาถูกเวลา เพราะเรามี 5G ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำงาน และนี่จะเป็น NEW Normal มากขึ้น เพราะตอนนี้คนเริ่มมีความต้องการที่จะตรวจที่บ้าน โดยใช้ Telemedicine แทน ซึ่งอนาคตเทคโนโลยีถูกลง เราอาจจะไม่ต้องไปโรงพยาบาล แต่พบแพทย์ผ่าน Telemedicine จ่ายยาผ่านหุ่นยนต์ และใช้ Wearable ในการวัดค่าต่าง ๆ แทน”