ถ้าจะบอกว่า 3 หนุ่มคนนี้ไม่เพียงแต่จะมีรายการไอที ถ่ายทอดทั้งในทีวี และอินเทอร์เน็ตแล้ว เขายังวางกลยุทธ์สื่อสารออนไลน์ทั้ง Facebook, Twitter ให้นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และทีมงาน โปรโมต เช็กกระแสตอบรับ และให้คำปรึกษากับทีมช่อง 11 ในการผลิตรายการ นายกฯ อภิสิทธิ์ พบประชาชน” ทุกเช้าวันเสาร์… คุณอยากรู้จักพวกเขามากขึ้นกว่านี้แล้วใช่มั้ย
“สองปีที่แล้ว ไม่มีรายการไอทีที่จัดโดยคนไอที มีแต่คนวงการอื่นมาจัด แต่ถ้าดูรายการรถยนต์เขามีช่างมาเป็นพิธีกร รายการสุขภาพมีหมอมาเป็นพิธีกร” กล้า ตั้งสุวรรณ ผู้ก่อตั้งบริษัท Thoth Media และพิธีกรร่วมในรายการ “Duocore” เล่าถึงแรงบันดาลใจอันเป็นที่มาที่ทำใหเขาและทีมงานที่นำโดย ณัฐวัฒน์ ปาลกะวงษ์ ณ อยุธยา และ ฉกาจ ชลายุทธ ร่วมกันสร้างรายการ ที่เผยแพร่ทั้งบนทีวี และเว็บ Duocore.tv
ทั้งสามคนเป็น “คนไอที” ผ่านงานสายไอทีมาโชกโชน โดย กล้า หรือ @nytonkla บนทวิตเตอร์นั้นเคยผ่านงานที่รอยเตอร์ซอฟต์แวร์ ส่วน “ออย” ณัฐวัฒน์ @hohoteam เคยทำงานกับเว็บไซต์ Sanook ในยุคบุกเบิก ส่วน “โมเล็ก” ฉกาจ @molek แม้จะจบการศึกษาสายชีวพันธุกรรม แต่ก็เชี่ยวชาญไอทีขลุกอยู่กับห้องคอมพิวเตอร์ตั้งแต่สมัยเรียน และยังเป็นนักเขียนคอลัมนิสต์ให้กับเว็บไซต์ดัง Blognone.com และนิตยสารอีกหลายฉบับ
กล้า กับ ออย สนิทกันตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ภาคภาษาอังกฤษที่ธรรมศาสตร์ ชอบพูดคุยเรื่องราวเทคโนโลยีใหม่ๆ ในวงการไอทีกันเป็นธรรมดาอยู่แล้ว และเมื่อถึงวัยทำงาน ทั้งคู่จึงทำรายการไอที “ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องพรินเตอร์ จอแอลซีดี โน้ตบุ๊ก มือถือ” นั่นคือการก้าวข้ามเรื่องสินค้าคอนซูเมอร์ไปพูดเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ระบบใหม่ๆ ไปจนถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อให้คนไอทีตัวจริงได้ดู
ทั้งคู่ก็ได้คนไอทีคอเดียวกัน โมเล็ก ที่พบกันในงาน Barcamp Bangkok งานชุมนุมคนไอทีที่ใหญ่สุดที่เคยมีมาในไทย จึงชักชวนทำรายการ Duocore.tv ออกอากาศผ่านเว็บชื่อเดียวกัน
ด้วยเงินลงทุนตั้งต้น 1 หมื่นบาทที่ กล้า กับ ออย หุ้นกันคนละ 5 พัน ซื้อ SD card, จดทะเบียนจองเนื้อที่เว็บ และยืมกล้องวิดีโอจากเพื่อนมา ให้กำเนิด Duocore มาเป็นรายการทีวีบนอินเทอร์เน็ตรายแรกๆ ของไทย แม้จะสร้างชื่อเสียงให้ทั้งสาม แต่ก็ไม่ได้สร้างรายได้เท่าไรนัก
“สร้าง Profile ก่อน แล้วจากนั้นใช้ Profile ไปสร้าง Profit” เป็นแนวคิดหลักของทั้งสามที่ผลักดันให้จัดตั้งเป็นบริษัท Thoth Media (โธธ มีเดีย) ขึ้นมา ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญนี้ได้มาจากผู้ก่อตั้งเว็บ Sanook และเป็นเจ้าของเว็บ Kapook อดีตนายเก่าของออยนั่นเอง
“ทำไปได้ 10 ตอน กะว่าจะเลิกแล้ว ผมโทรไปปรึกษาพี่เอ๋อ (ปรเมศวร์ มินศิริ) พี่เขาให้คำแนะนำเหล่านี้มา พวกเราเข้าใจทุกอย่างทันที” ณัฐวัฒน์ เล่าถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่ได้ไอเดียจากผู้ใหญ่ที่คร่ำหวอดวงการสื่อออนไลน์จนมาเป็นจุดยืนสำคัญของบริษัทในทุกวันนี้
หากว่ารายการไอทีคือ Profile แล้ว Profit ของโธธมีเดียอยู่ตรงไหน ? คำตอบก็คือฐานลูกค้ารายสำคัญๆ ของบริษัท ที่มาว่าจ้างให้ผลิตคลิป, ดำเนินการถ่ายทอดสดออนไลน์, ไปจนถึงวางกลยุทธ์การสื่อสารออนไลน์ไม่ว่าจะทาง Social Media หรือเว็บไซต์ ฐานลูกค้าเหล่านี้มีตั้งแต่ สสส., สหประชาชาติประจำประเทศไทย และล่าสุดคือรัฐบาลไทยยุคนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ให้โธธมีเดียวางกลยุทธ์สื่อสารออนไลน์ทั้ง Facebook, Twitter ให้นายกฯ และทีมงาน รวมถึงผลิตเนื้อหาและถ่ายภาพให้เว็บไซต์ PM.go.th ซึ่งสร้างใหม่เพื่อให้นายกฯ สื่อสารตรงกับประชาชน
ทั้งสามยังช่วยโปรโมต เช็กกระแสตอบรับ และให้คำปรึกษากับทีมช่อง 11 ในการผลิต “นายกฯ อภิสิทธิ์พบประชาชน” ซึ่งเป็นรายการทุกเช้าวันเสาร์อีกด้วย
“เราไม่ได้เลือกข้าง จุดยืนของเราคือทำงานให้รัฐบาล ไม่ใช่ทำงานให้พรรคการเมือง เราช่วยให้ประชาชนส่งเรื่องตรงถึงนายกฯ ได้ไม่ต้องผ่านใคร” โมเล็กชี้จุดยืนว่าทำงานเพื่อสังคมไม่ใช่เพื่อการเมือง
มีหลายเคสที่เราภูมิใจ เช่น ประชาชนถามว่าทำไมยกเลิกทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่นายกฯ ไม่ทราบ พอทราบก็ให้มีทุนต่อ หรือเรื่องถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกที่มีคนท้วงว่าแทบไม่มีให้ชม ทำให้รัฐบาลนำไปปรับปรุง”
อีก 2 กระแสใหญ่คือเครื่องตรวจจับอาวุธ GT200 และ “Sniffer” ที่กระทรวงไอซีทีเตรียมใช้ตรวจจับการใช้เน็ตของคนไทย ก็มีอันต้องยกเลิกไป ส่วนหนึ่งเพราะกระแสสังคม และอีกส่วนก็จากการรวบรวมฟีดแบ็กของชุมชนออนไลน์ต่างๆ ของทีมงานโธธมีเดียแล้วประมวลให้ทีมงานนายกฯ โดยตรงด้วย
ในมุมมองของทั้งสามคนแล้ว การ “ทำงานเพื่อสังคม” ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของการบริจาค ไม่จำเป็นต้อง “เข้าเนื้อ” แต่อย่างใด สามารถทำให้เป็นธุรกิจได้ ซึ่งแนวคิดนี้ในระดับโลกเรียกว่า “Social Enterprise” ซึ่งเป็นจุดยืนของบริษัทโธธมีเดียว่าจะเน้นให้ความรู้และสร้างการสื่อสารในสังคม คำว่า Thoth ก็แปลงว่า “เทพแห่งความรู้” เขามั่นว่า นอกจากบอกถึงจุดยืนยันดแล้ว ยังไม่ซ้ำใครด้วย
อย่างไรก็ตาม ตัวรายการ Duocore เองก็ไม่ได้ย่ำอยู่ที่การเป็น “Profile ที่ไม่ Profit” เพราะจุดเปลี่ยนสำคัญมาถึงเมือต้นปี 2552 เมื่อเขาได้ชักชวนจากสุทธิชัย หยุ่น จากเนชั่นให้ผลิตรายการไอที ป้อนเนชั่นทีวี เที่ยงคืนวันศุกร์ ให้ผลิตรายการ รายได้หารคนละครึ่ง
แม้จะได้ลงจอแก้ว แต่ในส่วน Internet TV แม้จุดดีจะมีมาก เป็นทั้งอินเตอร์แอคทีฟ กลับมาดูย้อนหลังได้อีก แต่คนดูยังจำกัด ต้องอาศัยเวลา ออกแรงผลักดัน พูดคุยตอบรับกัยผู้คอมเมนต์ และนำไปเผยแพร่ใน Social Media สร้างวงจรการแลกเปลี่ยน Interaction กันต่อไประยะยาว ซึ่งนี่เองเป็นจุดที่ “Internet TV” แตกต่างชัดกับทีวีเดิมๆ
“ในเน็ต คุณไม่สามารถมาเกริ่นยาวก่อนเข้าเรื่องได้ คุณแทบไม่สามารถมาแทรกโฆษณาก่อนเข้าเรื่องได้ คุณต้องเข้าประเด็น โชะ! ทันที เพราะคนดูเขากดปิดหรือกดเข้าเว็บอื่นได้ทันทีเหมือนกัน” ทีมงานชี้อีกจุดต่างที่คนทำทีวีบนเน็ตต้องรู้
อนาคตของรายการ Duocore.TV ทั้งสามมองว่าเป็นงานบนความพอใจ เพราะเป็นความสุขและไลฟ์สไตล์ของทั้งสามคนอยู่แล้ว ส่วนหนทางข้างหน้าของบริษัทโดยรวมนั้นเน้นไปที่งาน “Consult” ยุทธศาสตร์สื่อ Social Network และ Online Communication ครบวงจร ซึ่งทีมงานชี้ว่า “ถ้าคุณรู้อยู่แล้วว่าคุณจะทำอะไร เช่นจะทำ Facebook, Twitter จะพูดเรื่องนี้ๆ ก็อาจไม่จำเป็นต้องมาหาเรา แต่ถ้าคุณมีเป้าหมาย แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะใช้เครื่องมืออะไรบ้าง อย่างไร นั่นคืองานที่เราถนัด”