ผ่ามิติ 3D? TV

ลูกฟุตบอลที่ลอยละลิ่วทะลุนอกจอทีวี รถแข่งวิ่งพุ่งตรงมาข้างหน้าเสมือนนั่งอยู่ในสถานที่จริง กำลังเป็นอรรถรสใหม่ของทีวียุคนี้ เมื่อเทคโนโลยี 3D กำลังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความบันเทิงในบ้าน ได้นำมาซึ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับตลาดทีวีเมืองไทยในหลายมิติ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะคว้าโอกาสจากเทคโนโลยีล่าสุดได้ก่อนกัน

ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ หลังจากที่คนดูได้ให้การต้อนรับภาพยนตร์ “อวาตาร์” ในระบบ 3 มิติ จนสร้างรายได้ถล่มทลายไปทั่วโลก เมืองไทยเองก็ไม่น้อยหน้า เจ้าของธุรกิจโรงภาพยนตร์อย่างเมเจอร์ ประกาศเพิ่มการลงทุนในโรงหนังไอแมกซ์ 3 มิติ แล้วถึง 5 โรง

ผู้ผลิตภาพยนตร์ค่ายยักษ์ก็ออกมาขานรับกับเทคโนโลยี 3 มิติ โดยประกาศผลิตหนังแบบ 3D ในอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเกม โน้ตบุ๊ก จอมอนิเตอร์ ที่กำลังเพิ่มฟังก์ชัน 3D ออกมาให้ผู้บริโภคได้สัมผัส ล้วนแล้วแต่เป็นแรงบวกที่ทำให้เทคโนโลยี 3 มิติ กลายเป็นเทรนด์เทคโนโลยีที่กำลังมาแรงที่สุดในปีนี้

แนวโน้มเหล่านี้เอง ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ผลิตทีวีจากค่ายใหญ่ จากญี่ปุ่น และเกาหลี อาทิโซนี่ และพานาโซนิค ซัมซุง แอลจี ได้ขนทัพทีวี 3 มิติรุ่นใหม่ที่เคยออกโชว์ในงาน CES ที่สหรัฐอเมริกา นำมาแสดงในงานเปิดตัวทีวีซีรี่ส์ใหม่ในไทย เพื่อต้องการบอกว่าถึงเวลาที่ทีวี 3 มิติจะกลายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความบันเทิงภายในบ้านของบริโภคชาวไทย หลังจากที่ได้สัมผัสในโรงภาพยนตร์มาแล้ว

สิ่งที่ผู้ผลิตทีวีต่างคาดหวังจากทำตลาดทีวี 3 มิติไม่ต่างกัน คือ

1.ภาพลักษณ์ของแบรนด์ ทีวี 3 มิติจะช่วยให้แบรนด์ผู้ผลิตดูดีมี Innovation ล้ำสมัย มีพัฒนาการต่อเนื่องในสายตาผู้บริโภค 2.เทคโนโลยี 3D เป็นที่รับรู้ของผู้บริโภคดีอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะสร้างการรับรู้ให้กับตลาด
3.ต้องการสามารถตอบสนองกลุ่มลูกค้าคนไทยที่ชื่นชอบและติดตามเทคโนโลยี
4. คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ชื่นชอบเทคโนโลยีมากนัก แต่ต้องการมีทีวีเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด เพื่อแสดงออกถึงฐานะทางสังคม

ความตื่นตาตืนใจของการรับชมแบบ 3 มิติ ทำให้ทีวี 3 มิติ ถูกจับตาว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมทีวี ตั้งแต่ตัวเทคโนโลยี ไปจนถึงรูปแบบการขายแบบใหม่ที่ต้องขายเป็น “โซลูชั่น” เพราะการดูทีวี 3 มิติ จำเป็นต้องพึ่งพาอุปกรณ์เสริม แว่น 3 มิติ เครื่องเล่นบลูเรย์ และโฮมเธียเตอร์ และแผ่นหนัง 3 มิติ จึงจะทำให้อรรถรสความรับชมแบบ 3 มิติสมบูรณ์แบบ

อุปกรณ์เหล่านี้ล้วนแต่มีผลต่อการตัดสินใจทั้งสิ้น ยิ่งในระยะแรกอุปกรณ์เหล่านี้ไม่สามารถใช้ต่างยี่ห้อกันได้ เพราะเทคโนโลยีทีวี 3 มิติแบบใหม่ ได้ถูกออกแบบให้การเชื่อมโยงระหว่างจอทีวี และแว่นตาต้องใช้คลื่นความถี่ ซึ่งแต่ละรายจะใช้คลื่นความถี่ต่างกัน การขายแบบยกเซต หรือเป็นโซลูชั่น จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้ผลิตทุกค่ายต้องมีความพร้อมในเรื่องเหล่านี้

ผู้ผลิตทุกค่ายเห็นตรงกันว่า การตัดสินใจของผู้บริโภคในทีวี 3D เทคโนโลยีจะสำคัญมาเป็นอันดับแรก ซึ่งลูกค้ามักจะเช็คข้อมูล เปรียบเทียบสเปก ราคา โปรโมชั่น ส่วนเรื่องของแบรนด์จะมีผู้บริโภคพียงแค่ 10% เท่านั้นที่ยึดติดกับแบรนด์ ที่เหลือพร้อมจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา หากเจอแบรนด์ไหนที่ดีกว่า

พนักงานตัวแทนขายในบริเวณร้านค้า จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นมา และเป็นส่วนที่ผู้ผลิตทุกค่ายต้องให้ความสำคัญ รวมถึงช่องทางขายทั้งแบบเก่า ต้องวางจัดดิสเพลย์ให้สวยงามมากขึ้น และต้องมีพื้นที่เฉพาะสำหรับโชว์ทีวี 3 มิติ เพราะอยู่ในช่วง Educate ลูกค้า

การมีส่วนร่วมกับผลิตเนื้อหาหรือ Content เป็นอีกภารกิจของผู้ผลิตทีวี ที่ต้องจับมือกับผู้ผลิตภาพยนต์ระดับโลก รวมถึงผู้ผลิตในประเทศ ซึ่งมีผู้ผลิตภาพยนตร์หลายรายทั้งเก่าและใหม่ได้ให้ความสนใจกับหนัง 3 มิติ รวมถึงร้านจัดจำหน่ายแผ่นหนัง ซึ่งเป็นที่นิยมแฟนหนังประจำ เพื่อสร้างเครือข่ายการทำตลาด นอกโซนพื้นที่เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปยังโซนของเนื้อหา เพราะจะเป็นพื้นที่จะทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง

อย่างไรก็ตาม แม้ทีวี 3D จะเข้ามามีบทบาทสร้างสีสันใหม่ของความบันเทิงภายในบ้าน ไม่ต่างไปจากการรับชมจากโรงภาพยนตร์ แต่ผู้ผลิตบางรายยังกังวลว่า ยังไม่ถึงเวลาสุกงอมของตลาดทีวี 3D

สาเหตุมาจาก

1.ข้อจำกัดเรื่องของซอฟต์แวร์รายการที่ถ่ายทำด้วยระบบ 3 มิติยังมีน้อย
2.ความไม่สะดวกจากการที่ต้องใส่แว่นดูทีวี 3 มิติ และหลายรายเกิดอาการเวียนหัวในการรับชม
3.ราคาที่ลูกค้าต้องจ่ายเพิ่ม กับอุปกรณ์เสริมอย่าง เครื่องเล่นบลูเรย์ แผ่นหนัง 3 มิติ เพื่อให้ได้รับความบันเทิงของทีวี 3 มิติสมบูรณ์แบบ

ทั้งหมดนี้เป็นข้อจำกัด ทำให้ผู้ผลิตทีวีหลายค่ายยังรีรอที่จะทำตลาดไปจนถึงปลายปี และอาจเลยไปจนถึงปีหน้า เพราะหวังว่าเมื่อถึงเวลานั้นซอฟต์แวร์รายการที่ถ่ายทำด้วยระบบ 3D จะมีเพิ่มมากขึ้น และราคาของเครื่องลดลง

“การเป็น Fist Mover ในตลาดเป็นเรื่องที่ดี แต่บางครั้งก็ไม่จำเป็น ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของแต่ละแบรนด์ สำหรับโตชิบา เรายังทำการบ้านอีกเยอะ เพราะซอฟต์แวร์รายการ 3 มิติยังมีน้อย ใครที่ซื้อวันนี้เป็นการซื้ออนาคต แว่นตาก็ยังเป็นข้อจำกัดคนส่วนใหญ่ยังไม่ถนัดที่ต้องสวมแว่นดูทีวี และจะดูทีวี 3 มิติได้ต้องมีอุปกรณ์เสริม ต้องใช้เงินเพิ่ม” รัชนีวรรณ สิงห์ประเสริฐ ผู้จัดการแผนกการตลาด กลุ่มผลิตภัณฑ์ AV และ Digital Home Appliances บอกกับ POSITIONING

โตชิบาจะเป็นหนึ่งใน 4 ผู้ผลิตที่มีทีวี 3 มิติ ออกแสดงในงาน CES ทั้งที่ลาสเวกัส และในญี่ปุ่น แต่สำหรับตลาดในไทย ทีวี 3D อาจยังเป็นแค่ “สีสัน” สร้าง Talk of the town เรียกความสนใจจากผู้บริโภคบางกลุ่มที่ชื่นชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ ยังไม่ใช่ตัวที่จะทำรายได้

กำหนดการวางตลาดของทีวี 3D จึงเป็นตามขั้นตอนที่วางไว้ โดยจะเริ่มจาก LED TV ก่อนในเดือนกันยายน จากนั้นจึงจะถึงคิวของทีวี 3 มิติ ซึ่งอาจจะเป็นต้นปีหน้า และจะเลือกทำตลาดเฉพาะรุ่นในระดับท็อป เพื่อตอบสนองตอบลูกค้าชื่นชอบเทคโนโลยีเท่านั้นก่อน

“ยิ่งคู่แข่งเขาทำตัวเป็นป๋าใจกว้าง เราก็ยิ่งต้องกลั่นกรองมากขึ้น รอให้ออกมาทีเดียว แล้วเจ๋ง หรือสมบูรณ์ไปเลยดีกว่า เวลานั้นก็ยังไม่สาย” รัชนีวรรณ บอก

แนวคิดนี้ไม่ต่างไปจากค่าย พานาโซนิค ที่มองข้อจำกัดของตลาดทีวี 3D จากปัญหาซอฟต์แวร์รายการ 3 มิติที่ยังมีน้อย และความล้าหลังของการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์เมืองไทยยังย่ำอยู่กับที่ พานาโซนิคจึงไม่รีบร้อนทำตลาด รอจนถึงปลายปีนี้ก็ยังไม่สายเกินไป เวลานี้ขอทำตลาดทีวีพลาสม่า รุ่นใหม่จอใหญ่ รองรับกับฟุตบอลโลกไปก่อน ส่วนกำหนดขายจริงของ 3D จะมีขึ้นอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง

แต่ไม่ใช่สำหรับค่ายผู้ผลิตจากเกาหลีอย่าง ซัมซุง หรือแม้แต่แอลจี ที่ขอเกาะไปกับกระแส 3D รายแรก ที่จะเป็นสีสันแรกของตลาดทีวี 3 มิติในปีนี้

พฤติกรรมลูกค้าทีวี
5-15% ลูกค้าชื่นชอบเทคโนโลยี ต้องการครอบครองสินค้าก่อนใคร
10% ซื้อเพราะต้องการแสดงฐานะทางสังคม
15% เป็นลูกค้า Wait & See รอได้ ขอเวลาศึกษาตลาดอีกหน่อย
50-60% ไม่จำเป็นต้องมี ดูราคา และคุณภาพเป็นหลัก

จุดเปลี่ยนตลาดทีวี 3D
1. ผู้ผลิตต้องเปลี่ยนมาขายเป็นโซลูชั่น แว่นตา โฮมเธียเตอร์ เนื้อหา
2. ในช่วงเริ่มต้นตลาด ปริมาณของเนื้อหาจะบอกว่าตลาดจะเติบโตแค่ไหน
3. ต้องเพิ่มความรู้ให้พนักงานขาย
4. ต้องร่วมมือกับผู้ผลิตเนื้อหาในระบบ3 มิติ มากขึ้น

รู้จักทีวี 3D
ทีวี 3D แบบเก่า จะใช้แว่นตาสองสีในการแยกภาพให้เห็นด้วยตาคนละข้าง มองเห็นภาพซ้อนสีน้ำเงินแดง ผ่านแว่นตาที่มีสีน้ำเงินแดงเช่นเดียวกัน ทำให้มองเห็นมิติของภาพก็คือ ภาพที่เกิดจากสีทั้งสองจะตกถึงจอตาที่ใช้ภาพในระยะไม่เท่ากัน สีแดงจะให้ความรู้สึกใกล้ตัวเรามากกว่าสีน้ำเงิน เมื่อถูกนำมาซ้อนกัน สมองจึงเล่นกลให้มองเห็นเป็นภาพลอยขึ้นมาได้นั่นเองค่ะ

ทีวี 3Dแบบใหม่ วางตลาดเวลานี้ เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่เรียกว่า “เลนส์ชัตเตอร์” โดยจะรับสัญญาณจากีวี และสร้างภาพ 3 มิติ ใช้ระบบกะพริบสองภาพอย่างรวดเร็ว ด้วยการปิดกั้นเลนส์หนึ่ง จากนั้นกั้นอีกเลนส์หนึ่ง เพื่อให้ภาพเข้ากันกับอัตราการสะท้อนแสงบนจอภาพทีวี อยู่ระหว่าง 240 และ 480 ครั้งต่อวินาที จึงไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าโดยใช้แว่นตาอิเล็กทรอนิกส์แยกภาพให้มองเห็นดวยตาคนละข้าง หากไม่ใส่แว่นตาภาพจะเบลอ

ข้อดีของ เทคโนโลยีสำหรับเลนส์ชัตเตอร์ทำให้เกิดภาพสามมิติที่ชัดเจน โดยไม่ต้องลดความละเอียดหรือแสงของภาพ แต่จำเป็นต้องต่อเชื่อมสัญญาณกับทีวี จึงทำให้ราคาในการผลิตและขายปลีกสูงกว่า เมื่อเทียบกับเลนส์โพลาไรส์

จุดอ่อน ดูแล้วรู้สึกเวียนหัว ทุกค่ายจึงพยายามแก้ปัญหานี้ ด้วยการลดระยะเวลาตอบสนองในการแสดงผล (Response Time) ให้ต่ำลง พัฒนาเทคโนโลยี Clear Motion Rate ที่ทำให้ระบบสามารถเล่นเฟรมของภาพที่ความเร็วสูงสุด 960 เฟรมต่อวินาที เมื่อสอดรับกับเทคโนโลยี Blacklight ทำให้ภาพเคลื่อนไหว 3D บนทีวีมีความคมชัด นุ่มนวล และสมจริงมากยิ่งขึ้น

แว่น 3 มิติ
แว่นตาที่ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีของจอภาพ เรียกว่า Active Shutter Glasses จะทำหน้าที่เหมือนชัตเตอร์ที่คอยปิดหน้าเลนส์สลับไปมาอย่างรวดเร็ว การเปิด-ปิดของแว่นตาแต่ละข้างจะสอคคล้องกับภาพที่สลับบนหน้าจอ เพื่อให้ผู้ชมได้มองเห็นภาพสำหรับตาซ้าย และตาขวาในเวลาใกล้เคียงกันมาก ผู้ชมเห็นภาพที่ปรากฏบนหน้าจอเป็น 3 มิติขึ้นมา

อุปสรรคอย่างหนึ่งของแว่น 3 มิติ คือ ความไม่สะดวกในการสวมใส่ และความรู้สึกวิงเวียน จึงเกิดมีแนวคิดในการพัฒนาให้สามารถดูทีวี 3 มิติไม่ต้องสวมใส่แว่น โดยใช้แล้วกับจอมอนิเตอร์ของบางยี่ห้อ แต่ทีวียังอยู่ระหว่างการพัฒนา เพราะต้องรอเรื่องของราคาที่เหมาะสมด้วย