ในช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวโซเชียลคงได้เห็นแฮชแท็ก #คั่นกู ผ่านตากันมาบ้างแน่ ๆ ยิ่ง #คั่นกูตอนจบ ที่มีการทวิตกว่า 4.8 ล้านทวิต ขึ้นเป็นแฮชแท็กอันดับ 1 ของโลกในเวลานั้นเลยทีเดียว แต่หลายคนคงจะสงสัย ว่าเจ้าแฮชแท็กนี้มันคืออะไร ซึ่งจริง ๆ แล้วมันมาจากคำผวนชื่อ ‘ซีรีส์วาย’ ยอดฮิต ‘เพราะเราคู่กัน’ (2 gether The Series) ที่มียอดวิวมียอดวิวรวม มากกว่า 480 ล้านวิว ทั้งไทยและต่างประเทศยันฝั่งยุโรปเลยทีเดียว ดังนั้นจึงเกิดเป็นคำถามว่า ซีรีส์วายยัง Niche อยู่ไหม หรือ Mass นานแล้ว
เมื่อก่อน Niche เดี๋ยวนี้ Mass
สำหรับคำว่า ‘วาย’ มีต้นกำเนิดมาจากคำว่า ‘Yaoi’ ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึงเรื่องรักโรแมนติกระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย (Boy’s love) โดยหนัง-ซีรีส์วายนั้นมีมาเป็น 10 ปีมาแล้ว เพียงแต่เดิมได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่มยังไม่แพร่หลาย แต่ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ความนิยมดังกล่าวเริ่มแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากมีช่องทีวีดิจิทัลและแพลตฟอร์มวีดีโอคอนเทนต์เพิ่มขึ้นมากมาย
LINE TV ได้ให้ความเห็นเสริมว่า คอนเทนต์ประเภทสายวายชวนจิ้น ถือเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ ดังนั้นผู้ผลิตที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย จึงได้ผลิตซีรีส์วาย ประกอบมิติเชิงสังคมที่มีการเปิดกว้างและรับความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทำให้คอนเทนต์ซีรีส์วายกลายเป็นอีกหนึ่ง ‘ความแมส’ หรือความนิยมกระแสหลักจนมาถึงทุกวันนี้ อย่างใน ‘LINE TV’ ซีรีส์วายถือเป็นกลุ่มคนดูที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด อย่าง En of Love สามารถสร้างยอดชมเพิ่มสูงถึง 142%
ผู้ชมหลักไม่ใช่ LGBT แต่เป็น ผู้หญิง แถมยัง เปย์หนัก
จริง ๆ แล้ว LINE TV พบว่ากลุ่มผู้ชมแมส มีความหลากหลาย ทุกเพศทุกวัย แต่ที่มากที่สุดคือ ฐานผู้ชม เพศหญิงอายุ 18 – 25 ปี อย่าง En of Love สามารถขยายฐานไปถึงกลุ่มคนดูอายุ 65 ปีได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้นจะเห็นว่าซีรีส์วายมาพร้อมกับโอกาสใหม่ ๆ ในการเข้าถึงผู้บริโภค ซึ่งในอนาคตอาจไม่ใช่แค่กลุ่ม LGBT หรือสาววายเท่านั้น แต่มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถดูได้ทุกเพศทุกวัย
อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ สาวกซีรีส์วายนั้นคล้าย ๆ เหล่า ‘โอตะ’ คือ ‘พร้อมเปย์’ มาก เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้จะรวมตัวกันเป็นคอมมูนิตี้ และพร้อมที่จะสนับสนุน ‘คู่จิ้น’ หรือ ‘ศิลปิน’ แถมยังมี Loyalty สูงมาก และถ้าหากดูจากอายุกลุ่มผู้ชมแล้วจะเห็นว่าเป็นนักเรียนนักศึกษา ดังนั้นยังไม่มีภาระอะไร จึงพร้อมเปย์แน่นอน
ถ้าปังก็ไปไกลหลายประเทศ เพราะ คอนเทนต์หายาก
แม้จะเป็นที่ยอมรับมากขึ้น กลุ่มผู้ชมก็กว้างขึ้น แต่คอนเทนต์ยังไม่ได้มีเยอะขนาดนั้น โดยแต่ละค่ายสามารถผลิตได้อย่างน้อย 1-2 เรื่อง/ปี นอกนั้นเป็นซีรีส์ทั่วไป อย่าง LINE TV ที่ถือเป็นแพลตฟอร์มที่รวมซีรีส์วายไว้มากสุดในไทยถึง 33 เรื่อง ยังผลิตซีรีส์วายของตัวเองเพียงเรื่องเดียว คือ BKPP The Series
ส่งผลให้ไม่ว่าจะเป็นของประเทศไหน กลุ่มคนที่สนใจก็จะติดตาม ดังนั้นจึงเห็นกระแสคนไทยที่ดูซีรีส์วายของต่างประเทศ เช่นเดียวกับต่างประเทศที่ดูคอนเทนต์ไทย ดังนั้นภาพรวมของซีรีส์วายสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดนั้นค่อนข้างใหญ่ เพราะดังไกลข้ามประเทศ อย่างประเทศจีนเป็นอีกประเทศที่มีฐานผู้ชมซีรีส์วายใหญ่มากอย่างน่าสนใจ นอกจากนี้ยังมีฐานแฟนคลับติดตามดาราคู่จิ้นจำนวนมาก และในแง่ของผู้ผลิต ประเทศไทยถือเป็นเบอร์ต้น ๆ ของภูมิภาค
จากนี้คงต้องจับตาว่ากระแสซีรีส์วายจะไปได้ไกลแค่ไหน ในเมื่อสังคมในปัจจุบันเปิดรับความหลากหลายมากขึ้น ไม่แน่ว่าในอนาคตละครไทยอาจจะมีตัวละคร ชายจิ้นชาย หรือ หญิงจิ้นหญิง ถูกใส่ไปเป็นเรื่องปกติเพื่อเรียกกระแสนิยมก็เป็นไปได้