ธุรกิจโรงงาน-คลังสินค้าเช่ายังแฮปปี้ท่ามกลาง COVID-19 “พรอสเพค” บริษัทลูกในเครือมั่นคงเคหะการ ขยายโครงการ Bangkok Free Trade Zone ต่ออีก 150 ไร่ ชี้สถานการณ์ไวรัสระบาดกระทบธุรกิจน้อย อัตราการเช่ายังอยู่ที่ 92% และยังเป็นปัจจัยบวกด้วย เพราะประเทศไทยได้อานิสงส์การย้ายฐานผลิต กระจายความเสี่ยงโรคระบาด ครึ่งปีหลังจัดตั้งกองรีทมูลค่า 2,200 ล้าน
“รัชนี มหัตเดชกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ในเครือมั่นคงเคหะการ เปิดเผยความคืบหน้าโครงการ Bangkok Free Trade Zone (BFTZ) โครงการโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าบริเวณถนนบางนา-ตราด กม.23 ขณะนี้มีพื้นที่ให้เช่า 194,000 ตร.ม. และกำลังก่อสร้างเพิ่มอีก 100,000 ตร.ม. โดยคาดว่าจะทยอยเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 3-4 ปีนี้ ทำให้สิ้นปี 2563 โครงการ BFTZ จะมีพื้นที่เช่ารวม 294,000 ตร.ม. สูงขึ้นจากปีก่อน 52%
อัตราการเช่าพื้นที่ในขณะนี้อยู่ที่ 92% และมียอดจองพื้นที่ 100,000 ตร.ม.ที่กำลังจะสร้างเสร็จมาแล้วมากกว่า 30% บวกกับดีมานด์ตลาดที่ยังอยู่ในระดับสูง บริษัทจึงจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีก 2 แปลงในบริเวณใกล้เคียงกันรวม 150 ไร่ เพื่อพัฒนาโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าเฟส 2-3 จะเริ่มพัฒนาปลายปี 2563 หากพัฒนาครบทั้งหมดจะทำให้บริษัทมีพื้นที่เช่ารวม 450,000 ตร.ม.
สำหรับข้อมูล ณ สิ้นปี 2562 จากเน็กซัส พร็อพเพอร์ตี้ พบว่าดีมานด์ตลาดโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าเพิ่มขึ้นมากกว่าซัพพลาย เนื่องจากสงครามการค้าทำให้บริษัทต่างประเทศโดยเฉพาะ “จีน” มีการย้ายฐานผลิตสู่ประเทศไทยเพิ่มขึ้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มธุรกิจ ดังนี้
- โรงงานให้เช่า มีซัพพลาย 2.49 ล้านตร.ม. เติบโต 3.1% ดีมานด์ 1.9 ล้านตร.ม. เติบโต 5.4%
- คลังสินค้า มีซัพพลาย 3.9 ล้านตร.ม. เติบโต 1.9% ดีมานด์ 3.6 ล้านตร.ม. เติบโต 10%
COVID-19 กระทบผิวๆ ระยะยาวเป็นบวกกับไทย
ด้านสถานการณ์เศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัส COVID-19 รัชนีกล่าวว่ากระทบกับ BFTZ น้อยมาก โดยยังไม่พบคู่ค้าที่ขอยกเลิกสัญญาหรือยกเลิกโครงการลงทุน แต่จะมีผลกระทบทางอ้อมเนื่องจากการปิดประเทศตามนโยบายรัฐ ทำให้ลูกค้าไม่สามารถเดินทางเข้ามาเพื่อตรวจสอบสถานที่ได้ การตัดสินใจเซ็นสัญญาบางส่วนจึงชะลอออกไปก่อนจนกว่าไทยจะเปิดประเทศ
แม้จะมีข่าวการปิดโรงงานหรือย้ายฐานผลิตเป็นระยะ แต่สำหรับ BFTZ อาจกระทบน้อยกว่าเนื่องจากกระจายผู้เช่าในหลายตลาดทั้งในแง่สัญชาติและกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้
“กลุ่มสัญชาติ”
– ญี่ปุ่น 25%
– ยุโรป 24%
– จีน 19%
– ไทย 19%
– อื่นๆ 13%
“กลุ่มอุตสาหกรรม”
– ชิ้นส่วนอุปกรณ์ 15%
– กระดาษ 15%
– โลจิสติกส์ 12%
– พลาสติก, รีไซเคิล, อาหารและเครื่องดื่ม อย่างละ 10%
– ชิ้นส่วนยานยนต์ 7%
– อื่นๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร แฟชั่น 41%
รัชนีกล่าวด้วยว่า ในระยะยาวสถานการณ์ COVID-19 น่าจะเป็นบวกกับประเทศไทยด้วย เพราะหลายบริษัทอาจพิจารณาการกระจายฐานผลิตมากขึ้น ป้องกันความเสี่ยงจากโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
ที่ผ่านมา ประเทศไทยพิสูจน์ความพร้อมเพราะไม่ได้ดำเนินนโยบายขั้นสูงสุดคือการปิดโรงงานผลิต อีกทั้งสามารถจัดหาวัตถุดิบผลิตในประเทศได้ บางอย่างไม่จำเป็นต้องนำเข้า ทำให้โรงงานส่วนใหญ่สามารถผลิตได้ต่อเนื่อง ร่วมกับระบบสาธารณสุขที่ดีสามารถคุมการระบาดได้ ดังนั้นประเทศไทยน่าจะเป็นตัวเลือกหากมีการย้ายฐาน
รายได้เติบโต 38% ตั้งกองรีทครึ่งปีหลัง
ด้านผลประกอบการของพรอสเพคเอง ทำรายได้ไตรมาส 1/63 รวม 101 ล้านบาท เติบโต 38% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และผลกำไรสุทธิยังคิดเป็น 30% ของผลกำไรบริษัทแม่คือ บมจ.มั่นคงเคหะการ
จากผลการเติบโตสม่ำเสมอ บริษัทเตรียมจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ (กองรีท) แบ่งสินทรัพย์เป็นพื้นที่เช่าขนาด 130,000 ตร.ม. ขายเข้ากองรีทดังกล่าวคิดเป็นมูลค่า 2,200 ล้านบาท คาดว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะอนุญาตให้จัดตั้งและเทรดได้ภายในครึ่งปีหลังปีนี้ โดยเงินทุนที่ได้จะนำมาหมุนเวียนก่อสร้างโครงการเฟส 2-3 และชำระหนี้