ถอดบทเรียน ‘SF Cinema’ ช่วงปิดโรงหนัง 75 วัน ทุบแผนระยะยาว ต้องมอนิเตอร์รายสัปดาห์

Photo : Shutterstock

หลังจากที่ ‘SF’ (เอส เอฟ) และโรงภาพยนตร์อื่น ๆ ทั่วประเทศต้องปิดให้บริการถึง 75 วัน แต่ในที่สุดรัฐบาลได้ประกาศมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 ทำให้โรงภาพยนตร์ในเครือ เอส เอฟ สามารถกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม กลับมาเปิดได้ก็จริง แต่โรงภาพยนตร์สามารถจุคนได้เพียง ‘25%’ เท่านั้น เนื่องจากต้องเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัย โดยคุณพิมสิริ ทองร่มโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ยอมรับว่า ด้วยจำนวนไม่สามารถครอบคลุมต้นทุนที่ต้องกลับมาเปิดได้จริง ๆ

อ่าน >>> ไม่ใช่แค่ ‘Hollywood’ แต่ ‘Bollywood’ ของอินเดียก็กำลังเจ็บหนักจาก COVID-19

พิมสิริ ทองร่มโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ไม่ได้เปิดเพื่อตัวเอง แต่ช่วยประคองธุรกิจอื่นด้วย

วิกฤติครั้งนี้ถือเป็นวิกฤติใหญ่สุดของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพราะไม่เคยมีครั้งไหนที่จะทำให้โรงภาพยนตร์ปิดได้ทั่วโลกแบบนี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ปิดตัวไป 75 วัน รายได้ของเอส เอฟเป็นศูนย์ก็จริง แต่เมื่อกลับมาเปิดอีกครั้งโดยที่ขายตั๋วได้เพียง 25% ซึ่งอาจไม่เต็มในแต่ละรอบเพราะขึ้นอยู่กับภาพยนตร์ นอกจากนี้ยังฉายรอบสุดท้ายได้เพียง 6 โมงเย็น จากเดิมดึกสุด 4 ทุ่ม ดังนั้นรายได้ส่วนนี้ไม่สามารถมาอุดต้นทุนของโรงภาพยนตร์ได้

“เรามีรายจ่ายที่ค่อนข้างสูง เพราะตั๋วใบหนึ่งเราจะต้องแบ่งให้ค่ายหนังทันที นอกจากนี้ยังมีรายจ่ายค่าเช่าสถานที่ ค่าพนักงาน น้ำไฟ บริการต่าง ๆ อีก ซึ่งรวมแล้วเป็นหลักร้อยล้านบาทต่อเดือน”

แม้ว่าที่นั่งจะถูกจำกัด แต่เอส เอฟยืนยันว่าไม่มีการขึ้นราคาตั๋ว ซึ่งราคาจะแตกต่างไปตามสาขา ตั้งแต่ 80 บาท จนถึงหลักพันบาท โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 160 บาท ก็แตกต่างกันตามสาขาและประเภทของโรงภาพยนตร์ นอกจากนี้ เอส เอฟมองว่า การที่โรงภาพยนตร์กลับมาเปิด มันส่งผลดีให้กับหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งห้างสรรพสินค้า ทั้งร้านอาหาร เนื่องจากโรงภาพยนตร์ก็ถือเป็นแรงดึงดูดสำคัญ ซึ่งหลังจากที่โรงภาพยนตร์กลับมาเปิด ทางร้านอาหารค่อนข้างดีใจที่เอส เอฟกลับมาไม่ใช่แค่ผู้ชม

“ร้านอาหารบอกว่ายอดกลับมาแค่ 20% ดังนั้นไม่ใช่แค่เรา แต่สิ่งหนึ่งที่เขาพูดกับเรา คืออยากให้โรงภาพยนตร์กลับมาเปิด เพราะอยากให้มีอะไรที่ทำให้คนรู้สึกอยากออกจากบ้านมากขึ้น เราเลยคิดว่าการกลับมาของเรามัน ไม่ได้กลับมาเพื่อตัวเอง แต่เราสามารถประคองคนอื่นไปด้วยได้เหมือนกัน ส่วนคนดูกว่าหลายร้อยคนทักมาหาเรา บอกว่าคิดถึงโรงภาพยนตร์แล้ว”

ภาพจาก Facebook SF Cinema

ฟื้นอีกทีไตรมาส 3

ธุรกิจภาพยนตร์ขึ้นอยู่กับตัวภาพยนตร์ที่จะดึงดูดลูกค้าได้แค่ไหน ดังนั้นในช่วงแรกที่เปิดหนังใหม่และหนังระดับบล็อกบัสเตอร์อาจจะยังน้อย ดังนั้นในช่วงสัปดาห์แรกจะเป็นการฉายภาพยนตร์ที่ค้างไปตอนปิด COVID-19 ซึ่งกว่าจะมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อาจต้องรอช่วงกลางเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม แต่โชคดีที่ภาพยนตร์ส่วนใหญ่แค่เลื่อนฉายไปปลายปี ไม่ได้เปลี่ยนไปฉายปีหน้า ซึ่งตอนนี้มีแค่เรื่องเดียวคือ Fast and Furious 9 ที่เลื่อนฉายไปปีหน้า

นอกจากนี้อาจจะต้องรอดูมาตรการของภาครัฐว่าจะผ่อนปรนมากแค่ไหน สามารถเปิดให้บริการได้ 100% หรือเปล่า ดังนั้นต้องรอลุ้นในช่วงไตรมาส 3

“ปกติภาพยนตร์จะต้องมีเวลาโปรโมตก่อน ดังนั้นภาพยนตร์ใหม่ ๆ ที่จะได้รับชมจะได้เห็นกันวันที่ 18 มิถุนายนนี้ เป็นอย่างต่ำ และคาดว่าเดือนกรกฎาคมจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะตอนนี้ค่ายหนังหลายค่ายก็ให้การตอบรับ”

บทเรียนจาก COVID-19 ไม่มี แผน ระยะยาว อีกต่อไป

ในวันที่รายได้เป็นศูนย์ มีแต่รายจ่าย เอส เอฟได้กลับมามองตัวเอง เพื่อหาจุดที่จะลดต้นทุนให้มากที่สุด มีการจัดการต่าง ๆ ที่ลงตัวกับพนักงานมากขึ้น รอบฉายเราก็ได้ทำการออกแบบให้ดีที่สุด เพื่อที่จะได้ฉายให้ลูกค้าได้มากที่สุด และจากสถานการณ์ตอนนี้ ไม่มีแล้วแพลนระยะยาว 3 เดือน 6 เดือน แต่ทำเป็นรายสัปดาห์ โดยดูพฤติกรรมของลูกค้าเป็นหลัก อย่างการเปิดให้บริการในครั้งนี้ เอส เอฟได้มีมาตรการ #ดูแลด้วยใจ ที่ดึงจุดเด่นเรื่องความใส่ใจ และการให้บริการ เน้นความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงานทุกคนมาต่อยอดเป็นมาตรฐานใหม่ ซึ่งสิ่งสำคัญไม่ใช่แค่ดูแลความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงาน แต่โจทย์ใหญ่คือ ต้องทำให้ลูกค้าไม่ยุ่งยากและราบรื่นที่สุด 

อ่าน >>> ‘SF’ ยืนยันไม่ขึ้น ‘ค่าตั๋ว’ แม้เหลือที่นั่ง 25% พร้อมออก 4 มาตรการ #ดูแลด้วยใจ

พาร์ทเนอร์ยังอยู่ครบ

พาร์ทเนอร์หลัก ๆ ไม่หายไปไหน แม้ว่าโรงภาพยนตร์จะปิดหรือถูกลดจำนวน โดยทางเอฟ เอสมีการพูดคุยเจรจา ทั้งยืดเวลาสัญญาบ้างอะไรบ้าง อย่าง โค้ก ก็ชัดเจนว่าไม่ไปไหน นอกจากนี้ในส่วนพาร์ทเนอร์ค่ายภาพยนตร์ ทางเอส เอฟก็มีหน้าที่ช่วยเหลือ เพราะเขาเอาหนังมาให้ฉาย ดังนั้นอาจได้เห็นภาพยนตร์อยู่ในโรงฯนานขึ้น จากบางเรื่องที่ปกติจะอยู่แค่ 2 อาทิตย์ แต่ตอนนี้อาจจะเห็นอยู่กันเป็นเดือน

และในส่วนของแผนที่จะเข้าตลาดตลาดหลักทรัพย์ ในปีนี้ คงต้องเลื่อนไปก่อน เพราะด้วยสถานการณ์ โดยยังไม่ได้คิดว่าจะเข้าเมื่อไหร่ คิดแค่ต้องประคองให้ผ่านช่วงนี้ไปให้ได้ เพราะตอนนี้ถือเป็นช่วงที่ยากที่สุดของการกลับมา แต่โชคดีของเอส เอฟ ที่จะลงทุนทำอะไร ก็ระวังตัวตลอด เลยทำให้ผ่านช่วงนี้มาได้ และผู้บริหารก็ชัดเจนว่าเรื่องกำไรปีนี้ยังไม่ได้คาดหวัง ยังไงก็ต้องพากันไปให้รอดให้นานที่สุด