KBank หั่นเป้าจีดีพีไทยปีนี้ เหลือ -6% การบริโภคเเละภาคเอกชนทรุดหนัก รับพิษ COVID-19 มองไตรมาส 2 หนักสุด เเม้ปลดล็อกเเล้วก็ไม่จบ กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่ปกติ ห่วงภาวะคนตกงานพุ่ง คาดคงดอกเบี้ยระดับต่ำไปอีก 2-3 ปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2563 จากเดิมติดลบ 5% เป็นติดลบ 6% โดยไตรมาส 2 จะติดลบหนักสุดถึงขั้นเป็น “ตัวเลข 2 หลัก” เนื่องจากปัจจัยต่างๆ อย่างการบริโภคภาคครัวเรือนที่จะติดลบมากขึ้น การลงทุนภาคเอกชนที่ติดลบและชะลอตัวไปอีกระยะหนึ่ง โดยกำลังผลิตในประเทศ ยังมีอยู่มากถึง 55% โดยเฉพาะในภาคยานยนต์เเละพลังงาน ขณะที่การส่งออกทั้งปี คาดว่าจะติดลบมากขึ้น จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะติดลบ 5% เป็นติดลบ 6.1%
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา KBank ประมาณการจีดีพีปีนี้ไว้ที่ 0.5% จากนั้นมาถึงต้นเดือนเม.ย. สถานการณ์ผันผวนอย่างมาก ทั้งยอดผู้ติดเชื้อในไทยเเละยอดผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น จึงได้ปรับประมาณการจีดีพีปีนี้เป็นติดลบ 5% จนถึงปัจจุบันที่เหตุการณ์ยังยืดเยื้อ จึงทำให้ต้องปรับจีดีพีปีนี้ลงมาอีกเป็นติดลบ 6% โดยมองว่าปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์การเมืองในสหรัฐฯ อาจซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจโลกด้วย
ส่วนการบริโภคภาคเอกชนปีนี้ คาดติดลบ 2.3% การบริโภคภาครัฐคาดตัวลดลงเหลือ 2% เดิม 2.3% การลงทุนรวม คาดติดลบ -4.5% จากเดิมโต 1.2% เป็นการลงทุนภาคเอกชนติดลบ 6.6% เดิมโต 1% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 3.1% เดิม 3.3%
ด้านการส่งออกคาดปีนี้ติดลบ 6.1% เดิมติดลบ 5.6% การนำเข้าติดลบ 10.9% จากเดิมติดลบ 7.8% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.5% จากเดิม 0.4% และราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 40 เหรียญ/บาร์เรล จากเดิมที่ 58 เหรียญ/บาร์เรล
ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมา “ค่าเงินบาท” แข็งค่าเร็ว (เช้านี้ 2 มิ.ย. เฉลี่ยอยู่ที่ 31.60 บาท/ดอลลาร์) สาเหตุหลักมาจากตลาดมีความกังวลปัญหาความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และราคาทองคำที่ขยับเพิ่มขึ้น คนหันมาลงทุนสินทรัพย์ที่มั่นคง มีผู้ส่งออกทองคำมีการเทขายออกมาเพื่อทำกำไร โดย KBank ยังคงประมาณการเดิมว่าสิ้นปีนี้ค่าเงินบาทจะอยู่ในกรอบ 31.50-32.00 บาท/ดอลลาร์
“เเม้เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2563 จะออกมาดีกว่าที่คาด แต่ไตรมาสที่เหลือของปี คาดว่าจะให้ภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะหดตัวลึกขึ้น เเละมีปัญหาที่น่ากังวลมากคือการจ้างงาน” ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าว
ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 1,000 ตัวอย่าง สะท้อนให้เห็นถึงการรับรู้จากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคต โดยผู้คนที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 เริ่มปรับพฤติกรรมในการเก็บออมและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ส่วนผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ “ต้องการมีงานทำ มากกว่ารับเงินเยียวยา”
“น่าห่วงที่สุดในตอนนี้ คือภาวะคนตกงาน โดยก่อนหน้านี้คาดว่าจะมีคนตกงานราว 4 เเสนคนต่อเดือน แต่พอสถานการณ์รุนแรงขึ้น เราจะได้เห็นคนตกงานเพิ่มขึ้นเป็นหลักล้านต่อเดือน เเละเเม้ว่าไทยจะคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 3 เเล้ว แต่ธุรกิจยังไม่สามารถดำเนินการได้ปกติ ด้วยมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม บางร้านต้องจำกัดการให้บริการ ส่งผลให้ต้องลดพนักงานลงไปด้วย ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์หลังหมดมาตรการเยียวยา 3 เดือน”
- สภาพัฒน์ประเมิน Q1 “COVID-19” ทำคนไทยตกงาน 8.4 ล้าน
- ประเมินวิกฤตแรงงานส่อสัญญาณเปราะบาง เสี่ยงทุบสถิติตกงาน 8-13% สูงสุดเป็นประวัติการณ์
โดยธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19 มากที่สุดคือ ธุรกิจท่องเที่ยว ตามมาด้วยรถยนต์เเละอสังหาริมทรัพย์ นับเป็น 3 อุตสาหกรรมสำคัญที่คงต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งหากมองตามมิติของการจ้างงาน “ธุรกิจท่องเที่ยว” ที่มีแรงงานในห่วงโซ่มากถึง 4 ล้านคนจะได้รับผลกระทบเเรงเเเละยาวนานที่สุด ภาครัฐควรพุ่งเป้าให้การเยียวยากธุรกิจและลูกจ้างกลุ่มนี้เป็นอันดับต้น ๆ โดยต้องยอมรับว่าธุรกิจหลักของไทยอาจใช้เวลามากกว่า 1 ปีในการฟื้นตัว
“คาดว่าจีดีพีไทยจะดีขึ้นเเละติดลบน้อยลงในช่วงไตรมาส 3-4 เเต่อาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี ถึงจะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับปี 2562 ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19″
ด้านหนี้สาธารณะ ยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล ส่วนเเนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติม ก็ยังสามารถทำได้ แต่จากสถานการณ์ในไทยตอนนี้ ยังไม่ถึงกับมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบ เเต่คาดว่าจะมีการคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำเช่นนี้ ไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี