โอกาสในวิกฤต ยุคใหม่ “อักษรเจริญทัศน์” ถึงเวลา #เรียนออนไลน์ พลิกโฉมการศึกษาไทย

เรากำลังก้าวเข้าสู่โลกใบใหม่ ธุรกิจที่ปรับตัวทันคือธุรกิจที่จะอยู่รอด” เมื่อผ่านพ้นวิกฤตอันหนักหนาสาหัสนี้ไปได้

ก่อนหน้านี้ Digital Disruption เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจทุกภาคส่วน รวมถึงภาคการศึกษา” โดยเฉพาะในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เป็นเหมือนปัจจัยเร่งที่กระตุ้นให้สถานศึกษา ครูผู้สอน และผู้เรียน ต้อง “ลงสนามจริง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“เราพูดถึงการเรียนออนไลน์กันมาหลายปี เเต่ยังไปไม่ถึงไหน คราวนี้ถึงเวลาของจริงมาเเล้ว ถือเป็นโอกาสในวิกฤต เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ต้องพัฒนากันต่อไป” 

ตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ทายาทรุ่น 3 แห่ง อักษรเจริญทัศน์ เปิดใจกับ Positioning ถึงมุมมองการศึกษาไทยในยุค New Normal การปรับตัวเเละกลยุทธ์ขับเคลื่อนองค์กร ความท้าทายในการสร้างสรรค์การเรียนรู้ใหม่ รวมถึงเกร็ดชีวิต เเรงบันดาลใจเเละเป้าหมายต่อไป

ตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน)

หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องราวตำนาน 80 ปีของอักษรเจริญทัศน์มาบ้างเเล้ว จากรุ่นคุณปู่ที่มาจากเมืองจีนเเบบเสื่อผืนหมอนใบ เริ่มขายหนังสือตามวัดจากนั้นขยับมาพิมพ์ใบลานขายเเละขยายเป็นสำนักพิมพ์

จากหนังสือพระสู่หนังสือเรียน

จากหนังสือเรียนสู่สื่อการเรียนรู้ดิจิทัล

จุดเปลี่ยนสำคัญของอักษรเจริญทัศน์ยุคใหม่ที่ก้าวขึ้นมาเป็นตัวท็อปในวงการ คือการเข้ามาสานต่อกิจการของทายาทรุ่นที่ 3 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

น่าเเปลกใจไม่น้อย เเม้ตะวันจะเติบโตมากับธุรกิจการศึกษา แต่ชีวิตของเขากลับไม่ได้เลือกที่จะมาสายนี้ตั้งแต่แรก เขาเรียนวิศวกรรมเครื่องกลที่ออสเตรเลีย ก่อนจะไปเรียนต่อปริญญาโทด้านธุรกิจ ที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา และจบออกมาทำงานสายธนาคาร นานนับ 10 ปี

เขาเล่าย้อนว่า เมื่อถึงเวลาที่ครอบครัวคิดจะมองหาเจเนอเรชั่นใหม่เข้ามาสานต่อธุรกิจ เขาชั่งใจอยู่นานทีเดียว เพราะไม่ได้อยู่ในเเวดวงการศึกษามาก่อน คิดหนักไปจนถึงว่าตัวเองจะมีความสุขเหมือนตอนทำงานสายเเบงก์หรือเปล่า

จนได้ยินคำแทงใจว่า รุ่นที่ 3 มักจะไปไม่รอด นี่คือเเรงผลักดันที่ทำให้เขาต้องการจะพิสูจน์ตัวเองและจะทำให้องค์กรก้าวไปให้ไกลที่สุดเเละต้อง “แตกต่าง”

ถามว่าการทำงานทุกวันนี้ สนุกกว่าสมัยทำงานแบงก์ไหม ผมว่าความรู้สึกมันต่างกัน ตอนทำงานแบงก์เราช่วยให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมาย เเต่เราตอนนี้กำลังช่วยให้เด็กไทย 10 ล้านคนบรรลุเป้าหมาย เพื่อจะได้โตขึ้นไปพัฒนาประเทศ

ไม่ใช่เเค่หนังสือเรียน เเต่ต้องเป็นการ “เรียนรู้”

ความตั้งใจว่าจะต้องเเตกต่างทำให้ตะวันมองการศึกษาไทยในมุมมองใหม่ เขาเริ่มจากทำการบ้านอย่างหนัก ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับโรงเรียนครู ผู้ปกครองเเละนักเรียนทั่วประเทศ รวมถึงไปดูการเรียนการสอนในต่างประเทศ

จนค้นพบว่า สิ่งที่ผู้คนต้องการไม่ใช่แค่หนังสือเรียนที่ดี แต่พวกเขาต้องการการเรียนรู้ที่ดีขึ้น

นำมาสู่จุดเปลี่ยนสำคัญในการปรับรูปแบบองค์กร จากผู้ผลิตหนังสือเรียนสู่การเป็นบริษัทที่สามารถสร้างการเรียนรู้ที่ดีให้แก่เด็กและสังคมได้ มีการดีไซน์ระบบการเรียนรู้เเบบใหม่ เพื่อให้ครูและนักเรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันมากขึ้น เน้นให้ครูใช้คำถามจุดประกายเด็ก ๆ ด้วยคำถามว่า Why (ทำไม) และ How (อย่างไร) เพื่อให้เด็กได้เกิดการคิดวิเคราะห์มากกว่าการท่องจำ การสร้างบรรยากาศของห้องเรียนยุคใหม่ ให้เด็กกล้าสงสัย ได้เเก้ปัญหาเเละนำเสนอผลงานตัวเองได้

“สำหรับอักษรฯ คำว่า Digital เป็นเพียงแค่เครื่องมือหรือช่องทาง แต่เราให้ความสำคัญกับคำว่ากระบวนการเรียนรู้ หรือ Learning Design มากกว่า”

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาคู่มือครู จัดอบรมครูเฉลี่ยปีละกว่า 7 หมื่นคน มีการเพิ่มเเนวคำถาม-คำตอบให้ครูนำไปประยุกต์สอนในห้องเรียน กระตุ้นความคิดเด็กเเละพัฒนาทักษะของครูไปพร้อมๆ กัน ส่วนการพัฒนาหนังสือเรียน จะเน้นการอธิบายด้วยภาพ มีอินโฟกราฟิกที่ทำให้เข้าใจบทเรียนได้ง่ายขึ้น เพิ่มสื่อการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ เช่น คลิปวิดีโอสรุปเนื้อหาจากการเรียนเกือบชั่วโมงให้เป็นการเล่าเรื่องสั้นๆ 3-5 นาที ช่วยให้มีเวลาเหลือที่จะเเลกเปลี่ยนความเห็นกันในห้องเรียนมากขึ้น ปัจจุบันอักษรฯ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาปีละไม่ต่ำกว่า 100 รายการ

โอกาสในวิกฤติ เปิดโลก “เรียนออนไลน์” 

จากประเด็น #เรียนออนไลน์ ที่กำลังถูกพูดถึงในสังคม เมื่อถามถึงมุมมองในฐานะผู้ที่อยู่ในเเวดวงสื่อการเรียนการสอนว่าอะไรคืออุปสรรคของการเรียนออนไลน์ในไทย และมองความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงเทคโนโลยีของเด็กไทยอย่างไรบ้าง

ตะวันตอบว่า เป็นเรื่องที่ต้องพัฒนากันไป ซึ่งการเรียนออนไลน์ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับบ้านเราและถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

“ส่วนตัวผมมองว่าไม่มีโซลูชันไหนที่สมบูรณ์แบบ เรื่องใหญ่กว่านั้นคือทัศนคติใหม่ของการเปลี่ยนโลกทัศน์การศึกษา การกล้าลองของใหม่ สิ่งเหล่านี้จะพิสูจน์ได้ว่า ไม่ว่าครูจะอยู่ในบริบทโรงเรียนแบบไหนก็สามารถลองใช้ได้ หลังจบ COVID-19 ไปแล้ว โลกทัศน์สำหรับครูและนักเรียนก็จะเปิดกว้างขึ้น”

โดยเขามองว่า “ความคุ้นเคยของคุณครู” คืออุปสรรคหลักของการเรียนออนไลน์ ในขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายให้ครูได้ลองโมเดลใหม่ๆ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีวิธีในการก้าวข้ามความท้าทายที่แตกต่างกัน

“ผมว่าเรื่องในเชิงเทคนิคมันแก้ได้ไม่ยาก แต่เรื่องของพฤติกรรมคือสิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยน ถ้าทุกคนได้ลองออกจาก Comfort Zone ของตัวเองสำเร็จแล้ว อะไรก็จะดีขึ้นทั้งนั้น”

ส่วนการเข้าถึงเทคโนโลยีของเด็กไทย เขามองว่าช่วงนี้ต้องเริ่มทำในสิ่งที่ทำได้เเละกลุ่มที่ทำได้ก่อน แล้วค่อยกระจายไปเรื่อยๆ เป็นการปูทางที่ใช้เวลานานเเละเป็นเรื่องระยะยาว ต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน

“หลังจากนี้ New Normal ของโลกการศึกษาจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ครูและนักเรียนจะพบว่ามีแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติมอีกมากมายมหาศาลบนโลกใบนี้ คุณครูที่มีความพร้อม ก็จะสามารถสอนทุกอย่างในรูปแบบดิจิทัลได้ แล้วครูก็ยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนได้กว้างไกลมากขึ้น นักเรียนได้รับการเรียนรู้ที่มีคุณภาพในรูปแบบที่หลากหลาย มีความยืดหยุ่น และมีความสร้างสรรค์ในการทำงานเพิ่มขึ้น”

ในช่วงการเรียนออนไลน์นี้ อักษรเจริญทัศน์ได้เปิดตัวดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้สำหรับทุกคนที่มีชื่อว่า Aksorn On-Learn เพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนทั้งผู้เรียนและผู้สอน ในรูปแบบของ E-book คลิปวิดีโอ เเละสื่อประกอบการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น สื่อการเรียนรู้ Interactive 3D สื่อการเรียนรู้ Interactive Software ภาพยนตร์สารคดีสั้นเพื่อการศึกษา สไลด์ประกอบการสอน ไฟล์เสียงประกอบการสอน ผู้เรียนสามารถจัดตารางการเรียนได้ด้วยตนเอง ไม่จำกัดเวลา เรียนรู้ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ สามารถพัฒนาและทบทวนความรู้ได้ด้วยตนเอง ด้านผู้สอน สามารถจำลองบรรยากาศการเรียนในชั้นเรียนได้สะดวก

Aksorn On-Learn ครอบคลุมกลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมศึกษาฯ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

หลังเปิดตัวตั้งเเต่ช่วงต้นเดือนพ.ค. ที่ผ่านมาในช่วง 2 สัปดาห์เเรกมีผู้ลงทะเบียนและเข้าใช้งานแล้วมากกว่า 8,000 คน โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มครูผู้สอนกว่า 57% และกลุ่มของนักเรียและผู้ปกครองประมาณ 43% สามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้งานได้ฟรีแล้วตั้งแต่วันนี้ที่ aksornonlearn

ปรับโฉมตลาดหนังสือเรียน เข้าใจเรื่องยากได้ง่ายขึ้น

กลับมาคุยกันเรื่องธุรกิจหนังสือเรียนในไทยที่มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท ตามงบประมาณของรัฐบาลที่จัดสรรผ่านกระทรวงศึกษาธิการ

อักษรเจริญทัศน์ กินส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 40% ด้วยยอดขายที่ราว 2,500 ล้านบาท และถือเป็นอันดับ 1 ของธุรกิจด้านการศึกษาในปีที่ผ่านมา ตีคู่มากับองค์การค้าของ สกสค. ซึ่งในปีนี้ตะวันคาดว่าตลาดยังทรงๆ

“ก่อนหน้านี้ เรายังเป็นรองในหมวดวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและ คณิตศาสตร์ แต่ช่วงที่ผ่านมาทำได้ดีขึ้นมาก มีการเปลี่ยนการนำเสนอใหม่ โดยเอาหลักคิดการสอนคณิตศาสตร์จากสิงคโปร์มาปรับใช้ เปลี่ยนจากคณิตศาสตร์ที่เป็นนามธรรม มาอธิบายให้เห็นเป็นภาพส่วนในหมวดวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราได้มีการทำสื่อการเรียนแบบใหม่ในรูปแบบ Interactive 3D ที่ทำให้เด็ก ๆ เข้าใจเรื่องยากได้ง่ายขึ้น สอดคล้องกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กรุ่นใหม่”

ขณะที่ในภาพรวมของการทำการตลาด ยังเป็นแบบ B2B (Business-to-Business) ลูกค้ารายใหญ่คือกลุ่มโรงเรียน ซึ่งบริษัทกำลังวางเป้าหมายเพื่อพัฒนาไปสู่แบบ B2C (Business-to-Customer) ให้ได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการลงทุนร่วมกับสตาร์ทอัพทางการศึกษาหลายแห่ง เช่น SkillLane ซึ่งทางอักษรฯ ถือหุ้นส่วนหนึ่งด้วย

“การเข้าถึงลูกค้าเเบบ B2C คือความฝันของคนทำธุรกิจหนังสือเรียนทุกเจ้า เพราะทำได้ยากมาก แต่เราจะพยายามให้มีมากขึ้น ก้าวต่อไปของอักษรฯ คือการสร้างกระบวนการการเรียนรู้ที่เหมาะสำหรับการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่”

เปลี่ยนองค์กรเก่าเเก่ สู่การทำงานเเบบใหม่

“ทุกวันนี้ผมยังชอบไปลงพื้นที่อยู่เรื่อยๆ ผมชอบให้พนักงานของเราไปคุยกับคุณครู นักเรียน ไปดูการเรียนการสอน เราจะได้เห็นปัญหาเเละข้อเสนอจากคนที่อยู่กับมันจริงๆ”

เขาเล่าถึงการปรับเปลี่ยนองค์กรตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ก้าวเข้ามาบริหารว่า การที่จะทำคอนเทนต์เพื่อสนองการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป จำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนการทางความคิดของคนทำงานทุกตำเเหน่ง

“ความยากที่สุดคือการต้องทรานส์ฟอร์มคนในบริษัทที่มีอายุ 70-80 ปี ต้องทำให้ทุกคนกล้าที่จะเสนอไอเดีย มีการระดมสมองกันตลอดเวลา ในที่ประชุมผมจะชอบฟังพวกเขาพูดมากกว่า”

ตะวันเล่าย้อนไปในช่วงปีแรกๆ ที่เข้ามาทำงานที่อักษรฯ เขาลงมือทำเองเกือบทุกรายละเอียด อย่างการออกแบบปกหนังสือ เขียนโบรชัวร์ด้วยตนเอง ทุกวันนี้องค์กรสามารถขับเคลื่อนได้เอง ทุกส่วนงานสามารถทำงานประสานกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีหัวหน้ามาคอยสั่งงานตลอด

ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานในเครือทั้งหมดราว 1,400 คน มีทีมวิจัยและพัฒนา มีการนำกระบวนการเรียนรู้ที่ได้ออกแบบไว้ไปทดลองปรับใช้กับห้องเรียนจริง นำ Pain Point ของครูเเละนักเรียนมาปรับปรุงสื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

“ปู่ผมเคยถามว่า ผมอยากให้คนอื่นจดจำผมแบบไหนตอนที่ผมได้จากโลกนี้ไปแล้ว ผมตอบปู่ไปว่า ผมอยากให้คนอื่นจดจำผม ในฐานะที่ผมเป็นสมาชิกครอบครัวที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี และผมได้ทำในสิ่งที่ทำให้โลกมันดีขึ้น นี่คือหลักยึดในการทำงานเเละการใช้ชีวิตของผม” ตะวันกล่าว

เเนะเด็กรุ่นใหม่ รู้กว้าง รู้ลึก ยืดหยุ่นได้

อีกเกร็ดชีวิตเล็กๆ ของผู้สร้างสรรค์ “ตำราเรียน” มายาวนาน ที่ในวัยเด็กมีวิชาที่ชอบเเละวิชาที่ไม่ชอบเหมือนกับนักเรียนทุกคน ตะวันบอกว่า ตอนเด็กเขาชอบเรียน “วิชาฟิสิกส์” มากเพราะเป็นวิชาที่ทำให้ได้คิดและได้ไขปัญหา

“ผมเลือกเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ ไม่ใช่เพราะอยากเป็นวิศวกร ผมเเค่อยากเรียนฟิสิกส์ ส่วนวิชาที่ไม่ชอบตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็คงเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์ แต่ไม่น่าเชื่อว่าทุกวันนี้พอผมได้ทำงานจริงๆ เรื่องเหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเจรจา การเข้าใจผู้คน การสื่อสารเเละการตัดสินใจ”

ทายาทรุ่นที่ 3 แห่งอักษรเจริญทัศน์ ปิดท้ายด้วยการฝากถึง “คนรุ่นใหม่” ที่กำลังอยู่ในวัยเรียนวัยศึกษาว่า ความสงสัยคือบ่อเกิดของการเรียนรู้ทั้งมวล ทุกคนมีจุดแข็งของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องตามแฟชั่นของสังคม

“ยุคนี้เราต้องรู้ให้กว้างและรู้ให้ลึกในบางเรื่อง จนสามารถประกอบร่างเป็นองค์ความรู้ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องปรับตัวให้เป็น เมื่อเจอปัญหาต้องยืดหยุ่นให้ได้”