จับตา AIS นำเทคโนโลยีติดอาวุธ สาธารณสุขไทย ส่งแอป “อสม. ออนไลน์” พลิกวิถีการทำงานใหม่ให้นักรบเสื้อเทา เฝ้าระวังโควิดระบาดซ้ำ

“เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยในทุกอุตสาหกรรม ยิ่งในส่วนของสาธารณสุขยิ่งเห็นได้ชัด AIS มีการพัฒนาแอป ‘อสม.ออนไลน์’ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน วิเคราะห์ วางแผน ปกป้องคนป่วย และลดค่าใช้จ่าย เป็นหัวใจหลักในการช่วยวงการสาธารณสุข


CEO แห่ง AIS “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ควงผู้ว่าราชการฉะเชิงเทรา “ระพี ผ่องบุพกิจ” ลงพื้นที่บางคล้า ให้กำลังใจเหล่าบรรดาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรืออสม. นักรบเสื้อเทายุคดิจิทัล ที่เป็นด่านแรกในการเผ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเชื้อไวรัส COVID-19 พร้อมนำเทคโนโลยี และแอปพลิเคชัน “อสม.ออนไลน์” เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการทำงานได้ดีขึ้น

นำร่องแอปฯ อสม. ออนไลน์ เสริมฟีเจอร์ COVID-19 เฝ้าระวังผู้เสี่ยง!

ถ้าหากเปรียบบุคลาทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณะสุขที่โรงพยาบาลเป็น “นักรบเสื้อกราวน์” ที่ต่อสู้กับเชื้อไวรัส COVID-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก และในประเทศไทย คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงอย่างมากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มด่านหน้าที่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่ติดเชื้อ และมีแนวโน้มติดเชื้อ

ทั้งนี้ยังมีกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือรู้จักกันอย่างดีในชื่อ “อสม.” เปรียบเป็น “นักรบเสื้อเทา” ที่เป็นด่านแรกในการคัดกรองผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อในระดับชุมชน และหมู่บ้าน คอยเฝ้าระวัง ติดตาม ดูแลผู้ที่มีความเสี่ยงติด COVID-19

เอไอเอสมีส่วนร่วมในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในวงการสาธารณสุข ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “อสม.ออนไลน์” มาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว มีจุดประสงค์หลักๆ คือปรับวิธีการทำงานจากการจดข้อมูลในกระดาษ มาอยู่บนระบบออนไลน์ 100% และยังเป็นแพลตฟอร์มที่แจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสาธารณสุขได้ เพื่อให้อสม.เป็นกระบอกเสียงในการดูแลชาวบ้าน

สมชัยเล่าว่า “ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาเอไอเอสได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับ อสม. ทุกพื้นที่ เพื่อจะทำให้การทำงานอาสาสมัครมีความสะดวก สบาย รวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์เสมอ จึงเกิดเป็นแอปพลิเคชัน อสม. ออนไลน์ ขึ้น ที่ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานจากรูปแบบกระดาษมาเป็นออนไลน์ 100% ทั้งการสนทนา การส่งรายงานประจำเดือน ก็สามารถทำผ่านแอปฯ ได้ทันที รวมถึงในสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ เราก็มีอัปเดตฟีเจอร์เพิ่มขึ้นมา อาทิ รายงานลูกน้ำยุงลาย และ คัดกรองและติดตาม COVID-19 นอกจากนี้เรายังได้อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของ อสม. ด้วยมอบซิมพิเศษ “ซิมฮีโร่” และประกันภัย COVID-19 เพื่อให้พี่ๆ อสม. สามารถปฏิบัติงานได้อย่างอุ่นใจมากยิ่งขึ้น”

ช่วงที่มีการระบาดของไวรัส COVID-19 ทางเอไอเอสได้พัฒนาฟีเจอร์คัดกรองและติดตาม COVID-19 ซึ่งอำนวยความสะดวกให้ อสม. เฝ้าระวัง และติดตามผู้ป่วยCOVID-19 ได้อย่างใกล้ชิด ทั้งยังมีโปรแกรมวิเคราะห์ว่ามีแนวโน้มเป็นกลุ่มเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน จะมีวิธีดูแลเพิ่มเติมอย่างไร ซึ่งข้อมูลต่างๆ จะไม่ได้อยู่แค่กับอสม. แต่จะส่งไปที่ส่วนกลางระดับตำบล และจังหวัด ทำให้เห็นภาพรวม แล้ววิเคราะห์ วางแผนการป้องกันได้

ปัจจุบันในประเทศไทยในมีอสม.รวมทั้งหมด 1.05 ล้านคน และมีอสม.ใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์จำนวน 3 แสน ซึ่งคาดการณ์ว่าฟีเจอร์ติดตาม COVID -19 จะทำให้มีการใช้งานมากขึ้น

บางคล้าโมเดล! สานต่อภารกิจ “เอไอเอส 5G สู้ภัยโควิด-19”

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมาเอไอเอสได้ลงพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเสม็ดใต้ จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อให้กำลังใจและเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้ที่อยู่เบื้องหลังและมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสาธารณสุขไทย

เหตุผลที่เลือกกลุ่ม “อสม. เสม็ดใต้” นั่นเป็นเพราะว่า กลุ่มนี้นับได้ว่าเป็นอสม.อีกหนึ่งกลุ่ม ที่ทุ่มเททั้งแรงกาย และแรงใจ ออกปฏิบัติงานเชิงรุกเพื่อคนในชุมชนเสม็ดใต้ที่มีอยู่กว่า 1,000 ครัวเรือน มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ปลอดภัยจาก COVID-19

ที่นี่ได้มีการใช้งานแอปพลิเคชัน อสม. ออนไลน์ ทำให้กลุ่มอสม.และรพ.สต. เสม็ดใต้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างใกล้ชิด ไร้รอยต่อ และรวดเร็วทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในรอบวัน

อสม.ยุคดิจิทัล!

เมื่อทำการสำรวจความคิดเห็นของเหล่านักรบเสื้อเทาแห่งเสม็ดใต้แล้ว พบว่าแต่ละคนมีความประทับใจในการใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์อย่างมาก ส่วนใหญ่ชอบฟีเจอร์อัปเดตข่าว เพราะสามารถรับรู้ข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ เพื่อที่จะนำมาปรับประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน รวมถึงแจ้งข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่คนในชุมชน

โดยที่ได้พูดคุยกับ “ฉวีวรรณ พุ่มพวง” อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เสม็ดใต้ เป็นนักรบเสื้อเทามาแล้วกว่า 10 ปี ได้เล่าถึงความประทับใจในการใช้แอปพลิเคชันนี้ว่า

“หลังจากใช้งานแอปนี้ทำให้อสม.ได้รับความรู้ใหม่ๆ เพื่อแลกเปลี่ยน และถ่ายทอดให้แก่คนในชุมชนได้ และเป็นช่องทางในการสอบถามเรื่องสุขภาพ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาการใช้เทคโนโลยี และแพลตฟอร์มดิจิทัลของชาวอสม. เมื่อต้องลงพื้นที่กับคนในชุมชน ก็ทำให้รู้ข้อมูลว่องไว คนในชุมชนก็ยอมรับการเป็นอสม. มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น”

ฉวีวรรณ เสริมอีกว่า ที่ผ่านมามีการใช้แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ในหลากหลายสถานการณ์ เช่น การแนะนำเรื่องไข้เลือดออก เพราะตอนนี้ไม่ได้เป็นประจำฤดูกาลแล้ว สามารถเป็นได้ตลอดทั้งปี ในแอปจะมีแนะนำข้อมูลต่างๆ ก็มาถ่ายทอดให้ชาวบ้านให้ทราบว่าต้องนอนกางมุ้ง บริเวณบ้านต้องเก็บให้สะอาดปลอดโปร่ง เพื่อไม่ให้ยุงมาวางไข่ รวมถึงแนะนำการใช้สารเคมีต่างๆ จะแนะนำให้ปลูกผักครัวเรือนเพื่อปลอดภัยจากสารเคมี และในช่วงนี้มีไวรัส COVID-19 ได้ใช้แอปนี้ไปสำรวจ ถ้ามีกลุ่มเสี่ยงในชุมชนก็จะแนะนำให้เฝ้าระวังอยู่ที่บ้าน ไม่ออกไปไหนมาไหนเป็นเวลา 14 วัน พร้อมทั้งให้คำแนะนำในเรื่องสุขภาพอื่นๆ ได้อีกด้วย

“กรณีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของ อสม. เสม็ดใต้ เป็นอย่างมาก เนื่องด้วยสภาพพื้นที่ประกอบกับจำนวนครัวเรือนในชุมชนที่มีมากกว่า 1,000 ครัวเรือน แต่ด้วยการวางแผนที่รัดกุม รวมไปถึงการทำงานเชิงรุกที่มุ่งเน้นตรวจสอบประชาชนที่เดินทางเข้าพื้นที่แบบ 100% โดยยึดหลักจะต้องผ่านการตรวจสุขภาพและแสดงใบรับรองแพทย์ พร้อมทั้งมีการติดตามบ้านเรือนที่ต้อนรับประชาชนต่างถิ่นอย่างใกล้ชิด ทำให้ที่ผ่านมามียอดติดเชื้อสะสมเพียง 21 ราย ถือเป็นผลงานของชาวฉะเชิงเทราทุกคนที่ร่วมแรงร่วมใจ สู้ภัย COVID-19 กันอย่างเต็มที่”

สนับสนุนห้องผู้ป่วยความดันลบ

ในโอกาสที่ได้ลงพื้นที่ในจังหวัดฉะเชิงเทา เอไอเอสยังได้สนับสนุนห้องผู้ป่วยความดันลบ (Negative Pressure Room) แก่โรงพยาบาลพุทธโสธร เป็นอุปกรณ์เสริมพิเศษ ที่ติดตั้งในห้องพักผู้ป่วยแยกโรคที่มีการติดเชื้อแบบ Airborne เช่น COVID-19, วัณโรค, ซาร์ส, อีโบล่า, ไข้หวัดใหญ่ และหัดเยอรมัน เพื่อช่วยปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ และพยาบาล ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย

เอไอเอสได้นำนวัตกรรมดิจิทัล พร้อมด้วยขีดความสามารถของเครือข่าย 5G เข้าเสริมประสิทธิภาพงานด้านสาธารณสุขไทย เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ภายใต้โครงการ “เอไอเอส 5G สู้ภัยโควิด-19” ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม และมีส่วนช่วยให้การปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

ทั้งการติดตั้งเครือข่าย 5G ในโรงพยาบาลที่รับตรวจและรักษาผู้ป่วย COVID-19 ทั่วประเทศ, ตั้งศูนย์ AIS Robotic Lab by AIS NEXT เพื่อร่วมผลักดันนวัตกรรมการแพทย์, การพัฒนาหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ 5G ROBOT FOR CARE เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยแพทย์อีกด้วย

ดิจิทัล เทคโนโลยี อนาคตแห่งวงการสาธารณสุข

จะเห็นได้ว่าเอไอเอสมีความมุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริม และผลักดันนวัตกรรมทางการแพทย์ให้มีประสิทธภาพมายิ่งขึ้น โดยวิสัยทัศน์หลักของเอไอเอสต้องการที่จะนำเทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกอุตสาหกรรม ต้องการทำเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพ และลดค่าใช้จ่ายในวงการสาธารณสุขไทยได้ด้วย

สมชัยให้ความเห็นว่า “มีความเชื่อว่าดิจิทัล เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยในทุกอุตสาหกรรม ในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และลดค่าใช้จ่ายในการทำงาน ยิ่งในส่วนของสาธารณสุขจะเห็นได้ชัดเจนที่สุด เทคโนโลยีต้องเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และลดค่าใช้จ่ายจะเป็นหัวใจหลักในการช่วยวงการสาธารณสุข”

สมชัยได้ยกตัวอย่างการใช้งานแอปอสม.ออนไลน์ เป็นกรณีศึกษาที่เห็นว่าได้ประสิทธิภาพจริงๆ แต่ก่อนทำงานด้วยกระดาษจะไม่ค่อยแม่นยำ อาจจะผิดพลาด ไม่มีการเก็บข้อมูลต่างๆ แต่เมื่อทุกอย่างอยู่ในแอปพลิเคชัน จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในองค์รวมได้ เมื่ออสม.ไปเก็บข้อมูลผู้ป่วยแล้ววิเคราห์จากแอป ทำให้ส่วนกลางวางแผนได้ทันเวลา สามารถปกป้องคนป่วย และคนที่มีความเสี่ยงได้ดีกว่าเดิม

สุดท้ายแล้วสมชัยมองว่า เป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนาแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ เพื่ออยากให้เป็นเครื่องมือของอสม.ทุกคนทั่วประเทศ ไม่ได้จำกัดแค่คนใช้เอไอเอสเท่านั้น ใช้ค่ายไหนก็สามารถใช้ได้หมด ต้องการพัฒนาวงการสาธารณสุขไทยจริงๆ และเห็นว่าเป็นเรื่องของสาธารณะประโยชน์ของประเทศด้วย