สัญญาณตลาดแรงงานเริ่มฟื้น! งาน “โลจิสติกส์” มาแรง “ไอที-ขาย” ยังต้องการสูงสุด

จ๊อบส์ ดีบีเปิดข้อมูล ดีมานด์แรงงานเดือนพ.ค. เริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด รับคลายล็อกเฟส 3 โดยที่สายงานไอที งานขาย ยังมีความต้องการสูงสุด ด้านธุรกิจโลจิสติกส์ คว้าแชมป์ดีมานด์เติบโต 23%

โลจิสติกส์รับคนเพิ่มสูงสุด

จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) เผยภาพรวมความต้องการงานทั่วประเทศไทย 3 เดือนตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม แม้จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จนส่งผลกระทบในหลายภาคส่วนจนทำให้เกิดอัตราคนว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น

แต่ในวิกฤตดังกล่าวพบว่ามีภาคธุรกิจที่ยังคงมีความต้องการแรงงาน อาทิ ธุรกิจไอที ธุรกิจขายปลีก ธุรกิจบริการด้านการเงิน ธุรกิจจัดจำหน่าย ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ฯลฯ

ล่าสุดข้อมูลสิ้นเดือนพฤษภาคมพบสัญญาณการรับสมัครงานเพิ่มขึ้นใน 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่

  • ธุรกิจโลจิสติกส์ เพิ่มขึ้น 23%
  • ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้น 13%
  • ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจการตลาด ธุรกิจประชาสัมพันธ์ เพิ่มขึ้น 6%
  • ธุรกิจประกันภัย เพิ่มขึ้น 5%
  • ธุรกิจขายส่ง ธุรกิจขายปลีก เพิ่มขึ้น 2%

ไอที-ขาย ดาวรุ่ง รับ New Normal

พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจรวมถึงธุรกิจเกือบทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นฝั่งองค์กร ผู้ประกอบการ ตลอดจนฝั่งคนหางาน แต่ในวิกฤตดังกล่าวก็ยังพบว่ามีธุรกิจหลายประเภทที่ยังมีความต้องการแรงงาน เพื่อมาช่วยขับเคลื่อนให้องค์กรสามารถข้ามผ่านสถานการณ์ดังกล่าวไปได้ ด้วยเหตุนี้ จ๊อบส์ ดีบี จึงได้เผยภาพรวมความต้องการคนทำงานทั่วประเทศไทยช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม 2563″

5 ธุรกิจที่ยังมีความต้องการคนทำงาน

  • ธุรกิจไอที (Information Technology)
  • ธุรกิจการผลิต (Manufacturing)
  • ธุรกิจขายส่ง ธุรกิจขายปลีก (Wholesale / Retail)
  • ธุรกิจบริการด้านการเงิน (Financial Services)
  • ธุรกิจ Trading ธุรกิจจัดจำหน่าย (Trading and Distribution)

5 สายอาชีพที่ยังคงมีความต้องการคนทำงาน

  • งานขาย งานบริการลูกค้า งานพัฒนาธุรกิจ (Sales, CS & Business Devpt)
  • งานไอที (Information Technology)
  • งานวิศวกรรม (Engineering)
  • งานการตลาด งานประชาสัมพันธ์ (Marketing/Public Relations)
  • งานธุรการ งานทรัพยากรบุคคล (Admin & HR)

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่ากลุ่มธุรกิจ และสายงานไอทีเป็นกลุ่มที่มีความต้องการคนทำงานสูง เนื่องจากหลายองค์กรมีการปรับตัวรับ New Normal รวมถึงการทำงานให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ในขณะที่ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่าย มีการเตรียมความพร้อมรับคนกลับมาทำงานหลังภาพรวมต่าง ๆ เริ่มส่งสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้น

5 กลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนประกาศงานลดลง 

  • ธุรกิจท่องเที่ยว (Tourism/Travel Agency)
  • ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจบริการ ธุรกิจจัดเลี้ยง (Hospitality/Catering)
  • ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจสถาปัตยกรรม (Architecture/Building/Construction)
  • ธุรกิจยานยนต์ (Motor Vehicles)
  • ธุรกิจวิศวกรรมก่อสร้าง-ธุรกิจวิศวกรรมโยธา-ควบคุมอาคาร (Engineering – Building, Civil, Construction/Quantity Survey)

สมัครงานเพิ่มขึ้น 20%

สำหรับภาพรวมของฝั่งคนหางาน พบว่าในเดือนพฤษภาคมผู้สมัครงานมีจำนวนการสมัครงานเพิ่มขึ้น คิดเป็น 20% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ทั้งจากคนทำงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ รวมถึงผู้สมัครงานบางส่วนเริ่มมีความเชื่อมั่นในสถานการณ์และมองหาโอกาสในการทำงานเพิ่มขึ้น ซึ่งพิจารณาจากใบสมัครเติบโตสูง พบว่า

  • ธุรกิจ Trading ธุรกิจจัดจำหน่าย เพิ่มขึ้น 32%
  • ธุรกิจสารเคมี พลาสติก กระดาษ ปิโตรเคมี เพิ่มขึ้นสูงถึง 13%
  • ธุรกิจไอที เพิ่มขึ้น 10%
  • ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจจัดเลี้ยง เพิ่มขึ้น 2%

5 กลุ่มสายงานเป็นที่ต้องการของผู้สมัครงานสูง

  • อีคอมเมิร์ซ เพิ่มขึ้น 75%
  • งานขาย งานบริการลูกค้า งานพัฒนาธุรกิจ เพิ่มขึ้น 3%
  • งานบัญชี เพิ่มขึ้น 3%
  • งานไอที เพิ่มขึ้น 3%
  • งานการตลาด งานประชาสัมพันธ์ เพิ่มขึ้น 2%