ทำความรู้จัก ‘Hive Ventures’ ตัวช่วย ‘ร้านอาหาร’ ยุค COVID-19 ที่ตอบโจทย์ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

แม้ว่าจะคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว แต่ธุรกิจ ‘ร้านอาหาร’ ก็ยังต้องเจ็บตัวอยู่ เนื่องจากต้องจัดที่เพื่อเว้นระยะห่าง ดังนั้นพื้นที่ใช้สอยจาก 100% อาจต้องลดลงกว่า 50% ในบางร้าน ดังนั้น ร้านจึงจำเป็นต้องหาทางลดต้นทุนต่าง ๆ ให้มากที่สุด เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ในช่วงนี้ ดังนั้น Positioning จะพาไปรู้จักกับ ‘ไฮฟ์ เวนเจอร์ส’ (Hive Ventures) แพลตฟอร์มการร้านอาหารที่ไม่ได้เพียงแค่ช่วยร้านอาหาร แต่รวมถึงซัพพลายเชนและลูกค้าอีกด้วย

(ซ้าย) นายณปภัช พิทักษ์ศิริพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ขวา) นายไพโรจน์ วงศ์สินหิรัญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท ไฮฟ์ เวนเจอร์ส จำกัด

คุณณปภัช พิทักษ์ศิริพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ไฮฟ์ เวนเจอร์ส เล่าว่า เพราะเคยเป็นเจ้าของร้านอาหารมาก่อน เลยรับรู้ถึงปัญหาของทั้งเจ้าของร้าน ซัพพลายเออร์ และลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการต้นทุน การบริหารจัดการคน การบริหารจัดการระบบหลังบ้าน และการทำการตลาด ซึ่งการจะทำทุกอย่างให้ครบนั้นจำเป็นต้องมีหลายแพลตฟอร์ม ซึ่งเกิดความยุ่งยาก ส่งผลให้ร้านอาหาร 9 ใน 10 ปิดลง เพราะว่าต้นทุนสูง ด้วยเหตุนี้จึงก่อตั้ง ไฮฟ์ เวนเจอร์ส และใช้เวลากว่า 3 ปีในการพัฒนาแพลตฟอร์ม ‘Hive Restaurant Intelligence’ หรือ Hive RI โดยเตรียมให้บริกาในไตรมาส 2 นี้

“ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่าธุรกิจร้านอาหารเป็นประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก (รองจากธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์) โดยเฉพาะในปี 2563 นี้ที่ธุรกิจร้านอาหารยิ่งต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ที่มาจาก COVID-19”

สำหรับ Hive RI มีฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของร้านอาหารทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารประเภท Fine Dining ร้านอาหารประเภท Buffet ร้านอาหารประเภทผับ บาร์ ร้านอาหารประเภทคาเฟ่ ไปจนถึงร้านอาหารประเภท Streetfood / Truckfood หรือร้านอาหารประเภท Online Delivery โดยจะมี 3 ฟังก์ชันที่จะช่วยให้การบริหารจัดการร้านง่ายขึ้น และทุกฟังก์ชันเปิดให้ใช้งาน ฟรี ได้แก่

1.ฟังก์ชันการขาย ช่วยให้ผู้ประกอบการทำการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายได้ตรงกลุ่ม ให้เหมาะสมกับประเภทธุรกิจร้านอาหาร

2.ฟังก์ชันการบริหารจัดการ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องการบริหารจัดการระบบขายหน้าร้าน (POS) และระบบหลังบ้านได้อย่างรวดเร็ว ไม่เสียเวลา

3.ฟังก์ชันการบริหารเงินทุน ทั้งต้นทุนคน และต้นทุนอาหาร โดยบริษัทได้ตั้งเป้าว่าจะมีร้านค้าในระบบกว่า 13,500 ร้านค้า ซัพพลายเออร์จัดส่งวัตถุดิบไม่เกิน 700 ราย

“เราช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงผู้ซื้อได้โดยตรงโดยไม่ผ่านคนกลางด้วย HIVE Market Launch โดยเราเชื่อว่าจะเพิ่มรายได้ให้ผู้ผลิต ผู้ซื้อก็ได้ราคาที่ดี และอย่างการจัดการ POS เราจึงจับทุกอย่างมามัดรวมกันในที่เดียว ส่วนร้านอาหารรายเล็ก เข้าถึงเงินกู้ยาก ดังนั้นถ้าใช้ของเรา เขาจะมีข้อมูลทุกอย่าง เราเป็นตัวช่วยในการรวบรวมข้อมูลเพื่อขอสินเชื่อ”

นอกจากนี้ บริษัทยังสร้างแอปพลิเคชัน ‘Spoon walk’ สำหรับส่วนของคอนซูมเมอร์ไว้ใช้สั่งซื้ออาหารและจองโต๊ะได้ในแอปเดียว โดยจุดเด่นของแอปคือ รองรับหลายภาษา โดยเฉพาะภาษาจีน เพื่อรอรับนักท่องเที่ยวจีนในอนาคต ซึ่งในส่วนนนี้บริษัทตั้งเป้าผู้ใช้ 133,000 รายในสิ้นปีนี้

“COVID-19 นั้นส่งผลกระทบอย่างหนัก แต่เชื่อว่าตลาดเป็นแบบนี้ เขายิ่งต้องการการช่วยเหลือ ดังนั้น แพลตฟอร์มของเราจะช่วยเรื่องคอส เพราะให้ใช้ฟรี ซึ่งช่วยลดต้นทุนการใช้งานแอปในการบริหารจัดการร้านอาหารที่อย่างน้อยต้องมี 2-3 แอป เช่น pos, delivery”

เพราะแพลตฟอร์มให้ใช้ฟรี ดังนั้นรายได้ของบริษัทจะมาจากคอมมิชชัน โดยจะทำให้น้อยกว่าตลาด เพื่อดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้งาน อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในการทำตลาดนี้ คือ การเปลี่ยนให้ร้านมาใช้งานแพลตฟอร์มของเรา เพราะแน่นอนว่าจะต้องมีต้นทุนในการย้าย เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้คนที่เคยใช้ของเดิมมาเปลี่ยน และอีกเรื่องที่มองว่าท้าทายคือ การทำตลาด เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ดังนั้นแผนที่จะร่วมดับงานเฟสติวัล อีเวนต์ต่าง ๆ อาจต้องรอปีหน้า ระหว่างนี้จึงเน้นทำออนไลน์ไปก่อน

“เราไม่ได้มองว่าใครเป็นคู่แข่ง เพราะไม่มีใครที่ทำครบเหมือนเรา และเราเป็นรายแรกที่ทำเรื่องซัพพลายเชน”