จากชุมชนสู่โรงพยาบาลและจากคนสู่ช้าง : “กัลฟ์” บริษัทที่ส่งพลังช่วยไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19


ปฎิเสธไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของปากท้องและสุขภาพที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพี่น้องคนไทยและภาคธุรกิจต่างๆ แต่ท่ามกลางวิกฤตเราก็ได้เห็นธารน้ำใจที่หลั่งไหลมาจากทั้งภาคเอกชนและระดับชุมชนที่ร่วมมือกันปันน้ำใจช่วยคนไทยฝ่าวิกฤตในครั้งนี้

เราเห็นว่า “บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)” หรือ “กัลฟ์” เป็นอีกหนึ่งบริษัทของคนไทยที่เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคนไทยสู้ภัยโควิด-19 ในครั้งนี้โดยทุ่มงบกว่า 50 ล้านบาทในการทำโครงการต่างๆมากมาย

ทั้งนี้งบประมาณดังกล่าวไม่ได้จำกัดการช่วยเหลือที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น แต่ได้กระจายเข้าไปช่วยเหลือครอบคลุมทั้งในด้านการป้องกันการแพร่เชื้อการดูแลรักษาผู้ป่วยและการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งประชาชนกลุ่มเปราะบางบุคลากรทางการแพทย์ขยายไปช่วยเหลือเพื่อนบ้านในต่างประเทศและที่สำคัญยังได้นำน้ำใจไปช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกอย่าง “ช้าง” อีกด้วย

เรื่องปากท้องจำเป็นสำหรับประชาชนกลุ่มเปราะบาง

อย่างที่บอกข้างต้นไปว่าการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อคนไทย 2 เรื่องหลักเรื่องแรกก็คือ “ปากท้อง” ซึ่งหลายคนได้รับผลกระทบจากการที่ธุรกิจต้องปิดชั่วคราว แน่นอนสิ่งที่ตามมาย่อมหนีไม่พ้นการขาดรายได้ หากเป็นผู้ที่มีเงินเก็บย่อมไม่กระทบมากนัก แต่สำหรับผู้ที่ต้องหาเช้ากินค่ำนี่ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่พวกเขาต้องดิ้นรน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนกลุ่มเปราะบางที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ ผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ตลอดจนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เช่น กลุ่มแรงงานในโรงงาน หรือในสถานประกอบการ กลุ่มลูกจ้างรายวันที่ถูกเลิกจ้าง ส่งผลทำให้รายได้ลดน้อยลงหรือขาดรายได้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มอาชีพอิสระ เช่น ผู้ขับรถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนค้าขาย ฯลฯ

เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 ประชาชนกลุ่มนี้จึงถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้การดำรงชีวิตเป็นไปอย่างยากลำบากยิ่งขึ้น

เพื่อช่วยเหลือประชาชนกลุ่มนี้ให้มีพลังกายและพลังใจในการต่อสู้กับสถานการณ์ดังกล่าว กัลฟ์จึงได้ริเริ่มโครงการ“กัลฟ์ ส่งพลังสู่ชุมชนมอบข้าวกล่องสู้ภัยโควิด-19” จัดส่งอาหารกล่องคุณภาพดีสู่ชุมชนแออัดที่กระจายอยู่ทั่ว 50 เขตในกรุงเทพมหานครรวมจำนวนข้าวกล่อง 200,000 กล่องเป็นระยะเวลา 50 วันด้วยกัน ซึ่งนอกเหนือจากการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางแล้วยังถวายภัตตาหารยารักษาโรคและปัจจัยให้พระภิกษุสามเณร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดกัลยาณมิตร และวัดโมลีโลกยาราม เนื่องจากพระภิกษุสามเณรไม่สามารถรับกิจนิมนต์ได้

ขณะเดียวกันได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยกัลฟ์ได้ร่วมมอบถุงยังชีพจำนวน 2,400 ถุงบรรจุอาหารที่จำเป็น อาทิ ข้าวสาร น้ำมันพืช ไข่ไก่ ผักสด กุนเชียง ปลากระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 9 ตำบลของอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนและเป็นอีกหนึ่งพลังผลักดันให้ประชาชนมีกำลังใจในการต่อสู้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

ความช่วยเหลือสู่ “โรงพยาบาล”

อีกเรื่องที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตในครั้งนี้คือเรื่องของ “สุขภาพ” เพราะการระบาดของโควิด-19 ทำมีทั้งคนไทยที่ติดเชื้อและเสียชีวิตซึ่งหน้าด่านที่ต้องรับผิดชอบในครั้งก็คือ “โรงพยาบาล” ดังนั้นเพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งสามารถตรวจวินิจฉัยอาการของโรคได้อย่างแม่นยำนำไปสู่การกำหนดแนวทางรักษาได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น กัลฟ์จึงได้สนับสนุนงบประมาณรวมจำนวน 34,120,000 บาทให้แก่โรงพยาบาลต่างๆดังนี้

1. โรงพยาบาลรามาธิบดี: สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องพยุงการทำงานของปอดและหัวใจ (Extracorporeal Membrane Oxygenation: ECMO) จำนวน 3 เครื่องและเครื่องช่วยหายใจจำนวน 5 เครื่องเป็นจำนวนเงิน 20,000,000 บาท

2. โรงพยาบาลราชวิถี: สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจจำนวน 18 เครื่องเป็นจำนวนเงิน 4,000,000 บาท

3. สถาบันบำราศนราดูร: สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจจำนวน 1 เครื่องชุดแปลงสัญญาณภาพ X-Ray ใช้งานร่วมกับเครื่อง X-Rayแบบเคลื่อนที่จำนวน 1 เครื่องและเครื่องตรวจอวัยวะภายในด้วยคลื่นความถี่สูงจำนวน 1 เครื่องเป็นจำนวนเงิน 4,000,000 บาท

4.สถาบันโรคทรวงอก: สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อชุดศูนย์กลางพร้อมเครื่องติดตามการทำงานของหัวใจ และสัญญาณชีพชนิดจอสัมผัส จำนวน 1 เครื่อง เป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท

5. โรงพยาบาลตำรวจ: สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องศูนย์กลางเฝ้าติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพ (Central Monitor) 1 เครื่องและเครื่องติดตามสัญญาณชีพชนิดข้างเตียง (Bedside Monitor) 10 เครื่องเป็นจำนวนเงิน 5,000,000 บาท

6. โรงพยาบาลพุทธชินราชจังหวัดพิษณุโลก: จัดซื้อเครื่อง Portable Wireless Ultrasound เพื่อมอบให้แก่โรงพยาบาลจำนวน 2 เครื่องเป็นจำนวนเงิน 120,000 บาท

นอกจากนี้ กัลฟ์ยังได้มอบหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ชนิด KN95 จำนวน 100,000 ชิ้นซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับวิกฤตในครั้งนี้ เพราะเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยให้ป้องกันกลุ่มบุคคลการทางแพทย์ไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19 โดยได้มอบให้แก่โรงพยาบาลต่างๆได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย จำนวน 50,000 ชิ้น และอีกจำนวน 50,000 ชิ้นมอบให้แก่โรงพยาบาลในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แก่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลจะนะ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โรงพยาบาลยะลา เป็นต้น ตลอดจนโรงพยาบาลอื่นๆที่ขาดแคลน

ความช่วยเหลือสู่ส่วนภูมิภาค

อย่างไรก็ตามอย่างที่เรารู้กันการระบาดของโควิด-19 ไม่ได้เกิดเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง แต่ได้กระจายออกไปทั่วประเทศด้วยสามารถแพร่กระจายเชื้อได้จากละอองฝอยจากการไอหรือจาม น้ำลาย น้ำมูก ซึ่งหากร่างกายสูดดมเอาละอองฝอยจากการไอ จาม ของผู้ติดเชื้อ ก็จะสามารถรับเชื้อสู่ร่างกายได้

ดังนั้นนอกจากความช่วยเหลือในส่วนกลางแล้ว ส่วนภูมิภาคในจังหวัดต่างๆก็จำเป็นไม่แพ้กัน ซึ่งกัลฟ์ได้มอบหน้ากากอนามัยแบบผ้ารวมจำนวนกว่า 13,000 ชิ้นแก่ชุดปฏิบัติการคัดกรองผู้ป่วยระดับตำบลในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครราชสีมา สงขลา และยะลา

หากพูดถึงชุดปฏิบัติการคัดกรองผู้ป่วยระดับตำบลนั้น คนกลุ่มนี้ประกอบด้วย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแพทย์ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดถือเป็น “นักรบด่านหน้า” ที่มีภารกิจสำคัญในการตรวจคัดกรองบุคคลที่เข้ามาภายในชุมชนของตนเองจึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 เป็นอย่างมาก ดังนั้นการมอบหน้ากากอนามัยแบบผ้านั้นก็เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ทั้งยังช่วยสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่แก่ผู้ปฏิบัติงานอีกด้วย

นอกจากนี้ยังได้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด-19 เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์และ Face Shield ให้แก่หน่วยงานส่วนท้องถิ่นจังหวัดต่างๆได้แก่ สระบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรีนครราชสีมา และสงขลา

ความช่วยเหลือจากกัลฟ์ไม่ได้มีแค่ในประเทศเท่านั้น แต่ยังเผื่อแผ่ออกไปยังต่างประเทศด้วย โดยกัลฟ์ได้ส่งมอบหน้ากากอนามัยหมวกทางการแพทย์และแอลกอฮอล์ล้างมือชนิดเจล ให้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในจีนช่วงต้นเดือน ก.พ. รวมถึงการมอบเงินจำนวน 3 พันล้านด่อง (ประมาณ 4.5 ล้านบาท) เพื่อนำไปบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในจังหวัดนินห์ถ่วน และจังหวัดเบ๊นแจ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

แบ่งปันน้ำใจสู่ “ช้าง”

น้ำใจของกัลฟ์ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น แต่ยังส่งต่อให้เพื่อนร่วมโลกอย่างช้างอีกด้วย มองเผินๆช้างอาจจะดูไม่เกี่ยวข้องกับวิกฤตโควิด-19 แต่แท้จริงแล้วการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคบริการและการท่องเที่ยวทำให้รายได้ลดน้อยลงหรือสูญเสียรายได้ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวอย่างปางช้างต่างๆซึ่งต้องพึ่งพิงนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวปางช้างก็ต้องปิด ผู้ดูแลช้างควาญช้างก็ต้องแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา ปัญหานี้ยังส่งผลสะท้อนถึงกลุ่มอาชีพต่างๆที่เกี่ยวข้องได้แก่ เกษตรกรผู้ปลูกและส่งอาหารให้ปางช้าง ผู้ทำอาชีพลากไม้และงานประเพณี ผู้ประกอบการโรงแรม กลุ่มมัคคุเทศก์ คนขับรถรับส่งนักท่องเที่ยว ฯลฯ อีกด้วย

เมื่อช้างขาดทั้งงบประมาณในการดูแลทั้งอาหารและยารักษาโรค จึงกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่และอาการเจ็บป่วยของช้าง กัลฟ์จึงทำโครงการ “ช่วยช้างไทยสู้ภัยโควิด-19” เพื่อบริจาคงบประมาณในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ให้แก่โรงพยาบาลช้าง จังหวัดกระบี่ และโรงพยาบาลช้าง จังหวัดลำปาง รวมทั้งการบริจาคงบประมาณให้แก่สมาคมสมาพันธ์ช้างไทย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสมาคมที่เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการปางช้างในเขตภาคเหนือจำนวน 15 ปางช้างเพื่อช่วยเหลือในการดูแลอาหารและสุขภาพช้างไปควบคู่กัน

ทั้งหมดนี้คือน้ำใจจาก “กัลฟ์” ที่เข้ามาเป็นอีกแรงสำคัญช่วยเหลือประเทศไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19 และได้เข้ามาตอกย้ำว่าไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่าน้ำใจที่ช่วยเหลือกันอีกแล้ว