ตู้หนีตาย! Vending Machine ยุค COVID-19 ต้องดิ้น เคลือบสารฆ่าเชื้อ-ปรับสินค้ากู้รายได้หาย 90%

ผู้ค้าปลีกผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติหรือเวนดิ้งแมชชีนปรับทัพหนีภาวะโคม่าทั่วโลก ผลจาก COVID-19 ที่ทำให้ผู้คนนิยมซื้อสินค้าครั้งละมากชิ้นเพื่อลดการเดินทางและเก็บตุนสำหรับการอยู่บ้านมากกว่าเดิม ยังมีฝีหนองเรื่องความไม่มั่นใจในความสะอาดของตู้ ส่งให้ธุรกิจตู้เวนดิ้งแมชชีนรายได้หด 90% ช่วงเมษายนที่ผ่านมา บีบให้เกิดการเปลี่ยนกลยุทธ์ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษ

ความเคลื่อนไหวที่เห็นได้ชัดในวงการตู้เวนดิ้งแมชชีนโลก คือการประกาศเคลือบสารฆ่าไวรัส เช่น Coca-Cola Japan ที่ประกาศพร้อมเคลือบสารนี้ให้กับ 30,000 ตู้ทั่วญี่ปุ่น ขณะที่บางตู้ปรับเปลี่ยนสินค้ามาเป็นเจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดและหน้ากากอนามัย เบื้องต้นสินค้ากลุ่มหน้ากากถูกมองว่ามีอนาคตในตลาดเวนดิ้งแมชชีนข้างทางของญี่ปุ่น เพราะกำลังเป็นช่วงฤดูฝนซึ่งมีโอกาสที่หน้ากากอนามัยของคนเดินถนนอาจเปียกชื้น จนผู้สวมอยากเปลี่ยนผืนใหม่

สำหรับตลาดสหรัฐฯ ตู้เวนดิ้งแมชชีนในสนามบินและในสถานศึกษาล้วนส่อเค้าอาการหนัก เพราะมีการประเมินว่ามหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ อาจไม่เปิดการเรียนการสอนจนถึงปี 2021 ซึ่งล่าสุดมีรายงานการล้มตายของสตาร์ทอัปดาวรุ่งอเมริกันผู้ผลิตเวนดิ้งแมชชีน AI อัจฉริยะที่ควบคุมด้วยแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนและเคยมีนายทุนใหญ่อย่างผู้ร่วมก่อตั้ง McDonald’s หนุนหลัง ขณะที่ตู้ในสนามบินต้องเปลี่ยนมาจำหน่ายชุดป้องกันเชื้อโรคแบบเต็มตัวหรือ PPE (personal protection equipment) อย่างจริงจังแทน

ตู้ AI ไปไม่รอด

Stockwell สตาร์ทอัปผู้พัฒนา AI vending machine ที่ก่อตั้งโดยอดีตคนกูเกิลด้วยเงินทุนมากกว่า 45 ล้านเหรียญสหรัฐตั้งแต่ปี 2017 กำลังจะปิดฉากลงในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ด้วยสถิติจุดติดตั้งตู้ 1,000 จุดตามมินิบาร์ของโรงแรมหรู อพาร์ตเมนต์ และสำนักงาน ซึ่งลูกค้าสามารถซื้อสินค้าได้ผ่านแอปพลิเคชันได้สะดวก

สถานการณ์ของ Stockwell นั้นดูไม่ดีมาตั้งแต่ช่วงก่อน COVID-19 เห็นได้ชัดจาก Ashwath Rajan ผู้ร่วมก่อตั้ง McDonald’s ที่ถอนตัวจาก Stockwell ช่วงธันวาคม แต่ภัย COVID-19 กลายเป็นสายฟ้าที่ตอกฝาโลง Stockwell ด้วยรายได้ที่หดหายไป 90% ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับที่สมาคม European Vending Association ประกาศเมื่อเมษายนที่ผ่านมาว่า COVID-19 ทำให้เม็ดเงินในธุรกิจเวนดิ้งแมชชีนทั่วยุโรปหดหายไปไม่ต่ำกว่า 90%

Stockwell คือกรณีศึกษาสำคัญว่าแม้จะมีผู้สนับสนุนรายใหญ่ แต่รูปแบบธุรกิจที่ไม่แมตช์กับโลกยุค COVID-19 ก็ส่งผลกระทบแรงพอจนทำให้ธุรกิจไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ทั้งที่ตลาดนี้เคยใหญ่โตเกิน 3 หมื่นเหรียญสหรัฐ ตามสถิติที่บริษัท Grandview Research เคยสำรวจตลาดอเมริกันในปี 2018

การปรับตัวของผู้ค้าตู้ในสหรัฐฯ ที่ชัดเจนคือการเปลี่ยนสินค้า มีรายงานว่าสนามบิน Long Beach Airport ได้ติดตั้งตู้จำหน่ายสินค้าแบบใหม่ที่จำหน่ายอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (PPE) ให้กับผู้โดยสาร มีทั้งหน้ากาก ถุงมือ และน้ำยาล้างมือฆ่าเชื้อโรค สนนราคาแตกต่างกันไปตั้งแต่ 4 ถึง 14 เหรียญ (120-750 บาท

การเปลี่ยนแปลงนี้สอดรับกับมาตรการของสนามบินอเมริกันที่กำหนดให้ผู้โดยสารต้องสวมหน้ากากปิดหน้าก่อนขึ้นเครื่อง โดยหลายสนามบินมีแผนจะเพิ่มตู้ PPE อีกหลายจุดในอาคารผู้โดยสาร

เทรนด์ตู้จำหน่าย PPE ในสหรัฐฯ กำลังร้อนแรง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัท Hudson เจ้าพ่อตู้ที่มีสถิติติดตั้งตู้จำหน่าย 1,000 จุดในสนามบิน ห้างสรรพสินค้า และจุดท่องเที่ยวทั่งอเมริกาเหนือ ย้ำว่าจะเปิดบริการเวนดิ้งแมชชีนจำหน่าย PPE ใน 27 สนามบิน เครื่องส่วนใหญ่รองรับการจ่ายผ่านบัตรเครดิต ตอบโจทย์กลยุทธ์ 24/7 retailing experience ที่ผู้ซื้อสามารถช้อปได้ 24 ชั่วโมง

Photo : Coca-Cola Bottlers Japan Inc.

ญี่ปุ่นเคลือบสารต้านไวรัสที่ตู้

ฝั่งญี่ปุ่นนั้นเน้นเรื่องการสร้างความมั่นใจ ให้ลูกค้าไม่กังวลว่ามีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ที่ตู้กดสินค้า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท Coca-Cola Bottlers Japan ย้ำว่าบริษัทจะเคลือบเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 30,000 เครื่องด้วยสารต้านไวรัสและแบคทีเรีย เพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขอนามัยในหมู่ประชาชนท่ามกลางวิกฤต COVID-19

แม้ญี่ปุ่นจะมีเวนดิ้งแมชชีน 700,000 ตู้ แต่ Coca-Cola Japan จะประเดิมก่อน 30,000 เครื่องโดยจะเคลือบสารที่ปุ่มเลือกผลิตภัณฑ์และช่องจ่ายสินค้า ให้กับตู้ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงพยาบาลและสถานีรถไฟทั่วประเทศ โดยย้ำว่าสารนี้มีคุณสมบัติต้านไวรัสและต้านเชื้อแบคทีเรียที่สามารถป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ได้

กระบวนการนี้ค่อนข้างยุ่งยาก เพราะรายงานชี้ว่าการเคลือบสารให้เครื่องจะต้องมีการเปลี่ยนฟิล์มใหม่ทุก 6 เดือน แต่ผู้ค้าตู้ก็ก้มหน้าทำ ซึ่งไม่เพียง Coca-Cola Japan บริษัท Ito En ผู้ค้าเวนดิ้งแมชชีนอีกรายก็เริ่มใช้สารเคลือบต้านเชื้อแบคทีเรียแล้วกับตู้จำหน่ายสินค้ากว่า 30,000 เครื่องทั่วญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

สิ่งที่ผู้ค้าญี่ปุ่นทำคู่ขนานไปกับการเคลือบสาร คือการเปลี่ยนมาจำหน่ายหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือเช่นกัน โดยเน้นเจาะตลาดผู้ที่อยากเปลี่ยนหน้ากากอนามัยเพราะอากาศที่ร้อนหรือความชื้น ซึ่งในบางตู้ หน้ากากอนามัยจะถูกแช่เย็นเหมือนเครื่องดื่มด้วย

ไม่รู้ว่าตู้จะหนีตายด้วยหน้ากากเย็นเฉียบได้ไหม แต่ที่รู้แน่นอนคือระหว่างที่คนไทยยังบินไปญี่ปุ่นไม่ได้ อาจจะลองเอาหน้ากากแช่ตู้เย็นที่บ้านแทนไปก่อน.


ที่มา :