8 เทรนด์ “วิถีชีวิตใหม่” ที่ผู้บริโภคใส่ใจเมื่อต้องการซื้อ “คอนโดฯ” ยุคหลัง COVID-19

โรคระบาด COVID-19 ทำให้ชีวิตคนต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อหยุดการแพร่ระบาด และบางอย่างอาจจะเป็น “วิถีชีวิตใหม่” ที่ผู้บริโภคเคยชินและมองหาในอนาคต อย่างน้อยก็ในช่วงที่เชื้อไวรัสโคโรนายังไม่มีวัคซีนป้องกัน วิถีชีวิตใหม่นี้ยังส่งผลถึง “การอยู่อาศัย” ด้วย โดยเฉพาะการอาศัยใน “คอนโดฯ” ซึ่งอยู่ร่วมกับคนหมู่มากและมีพื้นที่น้อยกว่าบ้าน ยิ่งทำให้ผู้บริโภคมีแนวคิดที่เปลี่ยนไปหลังเกิดโรคระบาด

Positioning รวบรวมข้อมูลจากกูรูวงการอสังหาริมทรัพย์หลายแหล่ง เช่น บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) , บมจ.ศุภาลัย, บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จนถึงบริษัทสถาปนิก ต่างคาดการณ์เทรนด์ใหม่ของผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้นจากผลของโรคระบาด COVID-19

บริษัทอสังหาฯ หลายแห่งมองตรงกันว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาทำให้ลูกบ้านมีความกังวลต่อการอยู่ร่วมกับคนหมู่มาก และถึงแม้จะคลายล็อกดาวน์ไปแล้ว ประชาชนจำนวนมากยังคงลดการไปเยือนที่สาธารณะ ใช้เวลาในบ้านมากขึ้น สองเหตุผลนี้ทำให้สินค้าประเภทโครงการแนวราบได้รับความนิยมมากขึ้น ส่วนคอนโดฯ ได้รับความนิยมลดลง

อย่างไรก็ตาม แม้คอนโดฯ จะมีดีมานด์ลดลง แต่ด้วยแพ็กเกจราคาที่ถูกกว่าบ้านในทำเลเดียวกัน จึงเป็นไปได้ว่าผู้บริโภคบางส่วนจะยังต้องการคอนโดฯ อยู่ เพียงแต่มี “จุดโฟกัส” ในการเลือกคอนโดฯ เพิ่มขึ้น ตอบรับการใช้ชีวิตในยุคโรคระบาด ยกตัวอย่าง 8 ปัจจัยดังต่อไปนี้

1.ชีวิตไร้สัมผัส

จุดที่คนอยู่คอนโดฯ มักจะใช้ร่วมกันทุกวันคือ ประตูเข้า-ออกและลิฟต์ แปลว่าต้องมีการสัมผัสในจุดเดียวกัน เช่น มือจับประตู จุดสแกนนิ้ว ปุ่มกดลิฟต์ เมื่อเผชิญโรคระบาด COVID-19 ทำให้คนใส่ใจจุดสัมผัสร่วมกันแบบนี้มากขึ้น

ปัจจุบัน เทคโนโลยีไร้สัมผัส (touchless) กลายเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์นี้ได้ดี โดย ระบบสแกนใบหน้า สามารถนำมาใช้แทนระบบสแกนนิ้วหรือคีย์การ์ด เพราะไม่จำเป็นต้องแตะปุ่มใดๆ ส่วนในลิฟต์อาจจะเสริม ระบบคำสั่งเสียง เพิ่มเพื่อหลีกเลี่ยงการกดปุ่ม

ระบบสแกนใบหน้าเพื่อเข้าอาคาร จะกลายเป็นฟังก์ชันที่ดึงดูดใจผู้ซื้อคอนโดฯ มากขึ้น

2.อัตราผู้พักอาศัยต่อลิฟต์ 1 ตัวต่ำลง

ต่อเนื่องจากข้อแรก “ลิฟต์” ยังคงเป็นจุดร่วมที่สำคัญที่สุดในพื้นที่ส่วนกลางคอนโดฯ เพราะต้องอยู่ในพื้นที่แคบกับบุคคลอื่นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ปกติการมีอัตราจำนวนผู้ใช้ลิฟต์ต่อลิฟต์ 1 ตัวต่ำนั้นเป็นจุดขายของคอนโดฯ อยู่แล้ว เพราะคนส่วนใหญ่ต้องการความเป็นส่วนตัวในพื้นที่พักอาศัยและไม่ต้องคอยนานช่วงเช้า-เย็นที่คนใช้ลิฟต์มาก แต่โรคระบาดอาจเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้อัตราผู้พักอาศัยต่อจำนวนลิฟต์ 1 ตัวยิ่งเป็นจุดเด่นที่ผู้บริโภคต้องการมากขึ้น

3.ที่นั่งในพื้นที่ส่วนกลางห่างกันและเป็นส่วนตัว

จุดถัดมาที่มีการใช้งานร่วมกันคือที่นั่งพื้นที่ส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นล็อบบี้ เลาจน์ โคเวิร์กกิ้งสเปซ ฯลฯ แล้วแต่สิ่งอำนวยความสะดวกที่คอนโดฯ นั้นมีให้ ก่อนหน้า COVID-19 การใช้งานพื้นที่เหล่านี้ร่วมกันโดยมีความหนาแน่นสูงอาจจะยังไม่เป็นปัญหามากนัก แต่หลังการระบาด ที่นั่งที่ใกล้กันเกินไปและไม่มีฉากกั้นอาจจะทำให้ผู้อยู่อาศัยกังวลถึงความปลอดภัยทางสุขอนามัย ขนาดพื้นที่ส่วนกลางที่เพียงพอต่อจำนวนผู้พักอาศัยจึงกลายเป็นความจำเป็น

4.ฟิตเนสมีฉากกั้น

อีกหนึ่งบริเวณพื้นที่ส่วนกลางที่ผู้พักอาศัยกังวลคือ ฟิตเนส เพราะเป็นสถานที่ออกกำลังกาย อาจมีเหงื่อไคลกระเซ็นปนเปื้อนเป็นสาเหตุการติดเชื้อ การออกแบบฟิตเนสคอนโดฯ จึงควรมีโซลูชันส์ที่ช่วยลดความกังวล เช่น ติดตั้งฉากกั้นใส ตั้งเครื่องออกกำลังกายเหลื่อมกันเพื่อเพิ่มระยะห่าง โดยดีไซเนอร์แต่ละแห่งต้องลงรายละเอียดการออกแบบให้ฉากกั้นและการวางเครื่องเหล่านี้ยังดูสวยงาม ไม่อึดอัด แต่ทำให้ผู้พักอาศัยสบายใจ

5.มีพื้นที่รับพัสดุและฟู้ดเดลิเวอรี่โดยเฉพาะ

ยุคอีคอมเมิร์ซและการสั่งฟู้ดเดลิเวอรี่ทำให้มีคนขับรถขนส่งแวะเวียนเข้ามาในโครงการมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้พักอาศัยรู้สึกกังวล เพราะแปลว่ามีโอกาสติดเชื้อสูงขึ้น ดังนั้น คอนโดฯ ยุคใหม่บางแห่งจึงเริ่มมีการปรับแบบให้มีจุดรับพัสดุและฟู้ดเดลิเวอรี่โดยเฉพาะแยกจากพื้นที่ล็อบบี้ การปรับโครงสร้างนี้ยังทำให้คอนโดฯ มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นด้วย

6.ยอมเดินทางไกลเพื่อให้ได้พื้นที่ใช้สอยในห้องชุดกว้างขึ้น

นอกจากพื้นที่ส่วนกลาง พื้นที่ใช้สอยภายในห้องชุดที่เคยเล็กลงไปทุกทีจนยุคนี้เหลือแค่ 21 ตร.ม. อาจจะเริ่มไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป เพราะถ้าหากวิถีชีวิตใหม่ของคนไม่ได้มีที่พักคอนโดฯ เพียงแค่เป็นที่นอน แต่เริ่มทำกิจกรรมในห้องมากขึ้น ทั้งทำงาน ออกกำลังกาย ชมภาพยนตร์ นัดพบปะสังสรรค์กับเพื่อนในบ้าน หมายความว่าในห้องชุดจะต้องการที่วางตู้เย็นขนาดใหญ่ขึ้น มีโต๊ะทำงานเป็นสัดส่วน มีพื้นที่กว้างพอให้วางเสื่อโยคะสักผืนเมื่อจะออกกำลังกาย เป็นต้น

เมื่อพื้นที่เล็กๆ ของห้องเริ่มคับแคบเกินไป ผู้ซื้อจึงเริ่มยอมแลกทำเลออกไปอยู่ไกลขึ้นเพื่อให้ได้ห้องขนาดใหญ่ขึ้นในงบประมาณเท่าเดิม ดังนั้นห้องแบบ 1 ห้องนอน “พลัส” ที่มีห้องเล็กๆ ไว้ใช้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ น่าจะได้รับความนิยมมากขึ้น

ทั้งนี้ “พีระพงศ์ จรูญเอก” ซีอีโอ บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ให้ความเห็นว่า อนาคตมีแนวโน้มที่ผู้ซื้อจะต้องการห้องชุดไซส์ 35 ตร.ม.ขึ้นไปมากกว่าเดิม ต่างจากปัจจุบันที่ห้องชุดโครงการมักจะพัฒนาไซส์ไม่เกิน 30 ตร.ม. เป็นหลัก

ชีวิตยุคใหม่มีกิจกรรมภายในห้องมากขึ้น

7.ห้องชุดช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า

จากสาเหตุที่คนอาศัยอยู่ในห้องมากขึ้น นำไปสู่อีกประเด็นที่ผู้บริโภคใส่ใจคือเรื่อง “ค่าไฟฟ้า” โดยเฉพาะ “เครื่องปรับอากาศ” ซึ่งเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีผลกับค่าไฟมากที่สุด

ปกติทิศห้องชุดที่ผู้ซื้อในไทยนิยมเลือกมักจะเป็นทิศหนีแดดตะวันตกอยู่แล้วเพื่อให้ห้องร้อนน้อยที่สุด ปัจจัยนี้น่าจะยิ่งสำคัญมากขึ้นในยุคหลัง COVID-19 พร้อมๆ กับการเลือกเครื่องปรับอากาศที่ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า ดังนั้น หากโครงการเป็นแบบตกแต่งเสร็จพร้อมแถมเครื่องใช้ไฟฟ้า ถ้ามีแอร์แบบอินเวอร์เตอร์ช่วยประหยัดค่าไฟ น่าจะถูกใจผู้บริโภคมากขึ้น

8.ครัวปิด

ก่อนหน้านี้ คอนโดฯ หลายแห่งออกแบบเลย์เอาต์ห้องชุดให้เป็นแบบครัวเปิด คือบริเวณครัวไม่อยู่ติดกับระเบียง ทำให้ทำอาหารหนักมากไม่ได้ แม้จะติดเครื่องดูดควันแล้วก็ตาม

แต่หลังจากการล็อกดาวน์ช่วง COVID-19 หลายคนหันมาเข้าครัวทำอาหารมากขึ้น โดยบริษัทวิจัยหลายแห่งคาดว่าเทรนด์การทำอาหารทานเองจะเป็นเทรนด์ระยะยาว จึงเป็นไปได้ว่าเลย์เอาต์ “ครัวปิด” ที่ระบายอากาศได้ดีกว่า จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อคอนโดฯ

การวิเคราะห์เทรนด์เหล่านี้ยังเป็นการคาดการณ์ที่ต้องรอดูอีกสักระยะว่า พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจะกลายเป็นความเคยชินและเป็นพฤติกรรมถาวรมากแค่ไหน