“ผักผลไม้” อาหารสุขภาพอันดับ 1 ในใจชาวไทย แต่คนกว่าครึ่ง “เงินไม่พอ” ซื้อทานประจำ

ผักผลไม้
(Photo: Any Lane / Pexels.com)
บริษัทวิจัย “มินเทล” สำรวจการเลือกทานอาหารเพื่อสุขภาพของชาวไทย พบว่าอาหารสุขภาพอันดับ 1 ที่ชาวไทยสนใจคือ “ผักผลไม้” แต่ด้วยภาวะทางการเงินทำให้คนกว่าครึ่งไม่มีเงินพอซื้อผักผลไม้ทานเป็นประจำ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในฐานะการเงินระดับต่ำ

มินเทล สำรวจความต้องการของผู้บริโภคด้านสุขภาพกับการทานอาหาร พบว่า ผู้บริโภคไทย 52% สนใจหาความรู้ด้านโภชนาการมากขึ้น สะท้อนว่าหลังโควิด-19 ชาวไทยมีความสนใจการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันสูงขึ้นกว่าเดิม ผ่านการดูแลอาหารการกินของตนเอง

อาหารสุขภาพที่ผู้บริโภคชาวไทยสนใจคืออะไรบ้าง? มินเทลพบว่า 7 ใน 10 ของคนไทยยกให้ “ผักผลไม้” เป็นสิ่งสำคัญที่ดีต่อสุขภาพ เป็นอาหารที่ช่วยเสริมโภชนาการได้

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคใหญ่ที่ทำให้คนไทยไม่ทานผักผลไม้มากนักคือเรื่อง “การเงิน” ทุกคนทราบประโยชน์ของผักผลไม้ แต่ผลสำรวจพบว่า ผู้บริโภคในชนบทมีเพียง 48% ที่ทานผักผลไม้เป็นประจำ ขณะที่ในเมืองจะมีสัดส่วนสูงกว่า โดยผู้บริโภคคนเมืองมี 56% ที่ทานผักผลไม้เป็นประจำ

กลุ่มที่รับผลกระทบหนักที่สุดคือ คนรุ่นใหม่วัยไม่เกิน 24 ปีที่มีสถานะทางการเงินระดับต่ำ กลุ่มนี้มีเพียง 37% ที่ได้ทานผักผลไม้เป็นประจำ

พิมพ์วดี อากิลา Associate Director แผนกอาหารและเครื่องดื่ม มินเทล รีพอร์ทส์ ประเทศไทย มองว่าแบรนด์สามารถนำอินไซต์นี้มาใช้ได้ เพราะคนไทยใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เพียงแต่ต้องการเข้าถึงผักผลไม้ได้ง่ายขึ้นผ่านการลดราคาสินค้าและแหล่งจำหน่าย ซึ่งที่จริงแล้วผักผลไม้ไทยตามฤดูกาลของไทยนั้นมีจำนวนมากและราคาจับต้องได้ จึงควรจะเป็นตัวเลือกอาหารเพื่อสุขภาพในราคาเป็นมิตร

 

คนไทย “ทำอาหาร” เอง และสนใจ Plant-based

นอกจากประเด็นผักผลไม้ คนไทยยังมีความสนใจการดูแลสุขภาพและโภชนาการด้านอื่นๆ ด้วย โดยมี 51% ที่ตอบว่าปัจจุบันหันมา “ทำอาหาร” ทานเอง ซึ่งดีต่อสุขภาพมากกว่า

คนไทยบางส่วนเริ่มสนใจการลดละเลิกเนื้อสัตว์ด้วย โดยมีผู้บริโภค 21% ที่สนใจลดการทานเนื้อสัตว์ และมีผู้บริโภค 24% ที่วางเป้าหมายจะเปลี่ยนจากการทานเนื้อสัตว์มาทานอาหาร Plant-based และผลิตภัณฑ์ทดแทนนม

มินเทลยังพบด้วยว่า เหตุปัจจัยที่ทำให้คนไทยใส่ใจโภชนาการมากขึ้น นอกเรื่องการป้องกันโรคแล้ว ยังมีเหตุอื่นๆ ด้วย เช่น 38% ต้องการกินเพื่อเพิ่มสมรรถภาพร่างกาย และ 28% ทานเพื่อสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดี

ข้อมูลเหล่านี้เป็นอินไซต์ที่น่าสนใจสำหรับแบรนด์ในการเข้าถึงผู้บริโภคด้วยมุมมองด้านสุขภาพ หรือพัฒนาสินค้าที่มีประโยชน์ทางโภชนาการกันมากขึ้น