ธุรกิจท่องเที่ยวเเละโรงเเรม เป็นภาคอุตสาหกรรมลำดับต้นๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ขั้นรุนเเรงทั่วโลก หลายเเห่งต้องปลดพนักงาน บางเเห่งถึงขั้นต้องปิดกิจการเพราะไม่มีเงินทุนสำรองที่เพียงพอ
ในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 เราเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว หลังมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ผู้คนเริ่มหันมาท่องที่ยวในประเทศมากขึ้น จุดนี้ทำให้ยักษ์ใหญ่ของวงการอย่าง “ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” หรือ MINT เริ่มเดินเกม ปรับเเผนกลยุทธ์เพื่อฟื้นฟูธุรกิจเเละกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยเน้น “ไทยเที่ยวไทย” เป็นหลัก
ธุรกิจในเครือไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เเบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจอาหาร และธุรกิจไลฟ์สไตล์ ล้วนได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งสิ้น เห็นได้ชัดจากไตรมาสแรกของปีนี้ ไมเนอร์ขาดทุนกว่า 1,700 ล้านบาท นับเป็นขาดทุนครั้งเเรกตั้งแต่ดำเนินงานมากว่า 20 ปี
ไมเนอร์ ประกอบกิจการในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก มีพนักงานทั้งหมดกว่า 7.9 หมื่นคน โดยมีพอร์ตรายได้ของบริษัทมาจากต่างประเทศ 73% อีก 27% เป็นรายได้ในไทย ขณะที่สัดส่วนรายได้แบ่งตามประเภทกิจการ ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม 70% ธุรกิจร้านอาหาร 25% และธุรกิจไลฟ์สไตล์ 5%
เมื่อเจาะลงไปในธุรกิจโรงเเรมของไมเนอร์ ปัจจุบัน มีเครือโรงแรมอยู่ 535 แห่งใน 57 ประเทศทั่วโลก มีห้องพักกว่า 80,000 ห้อง ภายใต้ 8 เเบรนด์หลัก ยกตัวอย่างเช่น “อนันตรา” และ “อวานี” เเละโรงเเรม NH Hotels ในโซนยุโรป โดยช่วงมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลให้ต้องปิดให้บริการโรงแรมในเครือชั่วคราวกว่า 75% ทั่วโลก ซึ่งกระทบต่อรายได้ตลอดทั้งปีของกลุ่มให้ลดลงอย่างแน่นอน
หลังจากช่วงปลายเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา โรงเเรมในเครือไมเนอร์เริ่มทยอยเปิดให้บริการเเล้ว โดย ณ ตอนนี้โรงเเรมในเครือสามารถกลับมาเปิดได้แล้วราว 60%
ไม่หวั่นระบาดรอบ 2 ลุ้นเเพ็กเกจกระตุ้นเที่ยวไทย
โทมัส ไมเออร์ รองประธานอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ (เอเชีย) ของกลุ่ม ไมเนอร์ โฮเทลส์ ในเครือ MINT อัพเดตธุรกิจโรงแรมในไทยว่า คนไทยเริ่มทยอยกลับมาท่องเที่ยวอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วงวันหยุด เเต่ช่วงวันธรรมดายังมีอัตราการเข้าพักที่ต่ำมาก
อย่างไรก็ตาม เริ่มมองเห็นสัญญาณบวกของตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น บริษัทจึงได้ทยอยกลับมาเปิดให้บริการโรงแรมต่างๆ เพื่อสร้างรายได้อีกครั้ง โดยในไทยได้กลับมาเปิดให้บริการกว่า 18 แห่งจากทั้งหมด 29 แห่งแล้ว และคาดว่าจะกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้งเร็ว ๆ นี้
เมื่อผู้คนไม่สามารถเดินทางต่างประเทศได้ จึงกลายมาเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวในประเทศเเทน โดยไมเนอร์ได้เร่งเเผนโปรโมตเเบรนด์ เเละออกเเคมเปญโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้าในประเทศ ซึ่งจะเป็นกลยุทธ์ที่ไมเนอร์จะมุ่งเน้นไปในปีนี้
โดยมีการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย สร้างความสบายใจในการเข้าพัก ซึ่งได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ทั้งหน่วยงานในไทยและต่างประเทศ เช่น เครือโรงแรมอนันตรา ได้กำหนดมาตรฐาน “พักอย่างสบายใจ” (Stay with Peace of Mind) ตั้งแต่การเว้นระยะห่าง ตรวจเช็กอุณหภูมิ การฆ่าเชื้อในพื้นที่ต่างๆ ของโรงแรม รวมถึงสัมภาระของแขกก่อนที่จะจัดส่งถึงมือผู้เข้าพัก
ส่วนเครือโรงแรมอวานี ได้กำหนดมาตรฐานภายใต้ชื่อ “อวานี ชิลด์” (AvaniSHIELD) โดยจะเน้นไปที่การให้บริการแบบไร้สัมผัส ใช้แอปพลิเคชันเข้ามาให้บริการแทนเพื่ออำนวยความสะดวกตั้งแต่การเช็กอิน ไปจนถึงเช็กเอาต์ออกจากโรงแรม รวมถึงชำระค่าบริการและรับใบเสร็จรับเงินผ่านทางระบบออนไลน์ด้วย
สำหรับโปรโมชั่นที่จะนำมากระตุ้นท่องเที่ยวไทย ไมเนอร์ได้เข้าร่วมมาตรการกระตุ้นกับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่เปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราเที่ยวด้วยกัน.com ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคมนี้ โดยนักท่องเที่ยวจะสามารถรับสิทธิ์ส่วนลดที่พัก 40% หรือสูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน สูงสุด 5 ห้อง หรือ 5 คืน รวมถึงคูปองมูลค่า 600 บาท ต่อวันเพื่อใช้เป็นส่วนลดค่าอาหารและค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวที่ร่วมรายการ และสิทธิ์ค่าตั๋วเครื่องบินในประเทศไม่เกินใบละ 1,000 บาท สามารถใช้สิทธิ์เดินทางท่องเที่ยวตั้งแต่ 18 กรกฎาคม-31 ตุลาคม 2563
รวมถึงการเปิดตัวบริการใหม่ๆ ทั้ง Loy Pela เป็นบริการล่องเรือแบบค้างคืน และ Manohra Cruises บริการล่องเรือ พร้อมบริการอาหารมื้อค่ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าคนไทยโดยเฉพาะ
“เรามองว่าเเพ็กเกจกระตุ้นท่องเที่ยวของรัฐครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในครึ่งปีหลังได้อย่างมาก ซึ่งจะช่วยให้อัตราการเข้าพักของเราปรับตัวดีขึ้น”
ขณะเดียวกัน ประชาชนยังคงมีความกังวลว่าจะเกิดการเเพร่ระบาดระลอก 2 ในไทยหรือไม่นั้น ผู้บริหาร Minor Hotels ตอบว่า ทางโรงเเรมมีการยกระดับความปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้น พร้อมติดตามสถานการณ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เเละหวังว่าการสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าจะยังคงดึงดูดให้ผู้คนท่องเที่ยวมากขึ้นได้
ปัจจุบันมีโรงแรมในเครือไมเนอร์ 3 แห่ง คือ อนันตรา สยาม, อนันตรา ริเวอร์ไซด์ และ อนันตรา ไม้ขาว ภูเก็ต ที่เปิดให้เป็นสถานที่กักตัวทางเลือก (Alternative State Quarantine) สำหรับผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข มีการแยกโซนชัดเจนกับห้องพักปกติ มีอัตราการเข้าพัก 50-60%
ขยายหารายได้ใหม่ รอ Travel Bubble
ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจโรงเเรมจะขาดรายได้จากการประชุม จัดเลี้ยงเเละงานสัมมนาไปอย่างมาก เเต่ในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น โดยไมเนอร์จะหันมามุ่งตลาด “MICE” มากยิ่งขึ้น พร้อมกับความช่วยเหลือของภาครัฐกำลังศึกษาแนวทางสนับสนุนด้าน “ภาษี” โดยให้องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ที่จัดงานในโรงเเรมสามารถนำไปลดภาษีได้เท่าตัว ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการรอความชัดเจน
นอกจากนี้ ยังต้องรอดูความเคลื่อนไหวของรัฐบาลในการทำ Travel Bubble กับประเทศต่างๆ ซึ่งหวังว่าจะช่วยดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้อีกทาง เเละมองว่าการท่องเที่ยวในไทยจะกลับมาฟื้นตัวอย่างเเน่นอน ก่อนขยายไปในภูมิภาคเเละการท่องเที่ยวข้ามทวีปในช่วงปีหน้า
เเม้ Minor Hotels จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างหนัก เเต่ยังคงจะเดินหน้าโครงการต่างๆ ทั้งส่วนโรงแรม โรงเรียนการโรงแรม และศูนย์ดูแลสุขภาพ ต่อไป ซึ่งจะเป็นเเหล่งรายได้อีกทาง
สำหรับโครงการ ศูนย์ดูเเลสุขภาพ (Wellness Center) ไมเนอร์ ร่วมกับเวอริตา เฮลท์แคร์ กรุ๊ป เตรียมเปิดศูนย์บริการสุขภาพเวอริตาในพื้นที่โรงแรมอนันตารา สยาม และอนันตารา ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ ซึ่งเตรียมจะเปิดตัวในช่วงไตรมาสเเรก เเต่ต้องชะลอไปก่อนหลังมีการระบาด ซึ่งยืนยันว่าจะสามารถเปิดบริการได้ภายในปีนี้
นอกจากนี้ ยังมีโครงการ VLCC ในพื้นที่โรงแรมอนันตารา หัวหินและโครงการ Clinique La Prairie ในพื้นที่โรงแรมเซนต์รีจิสรวมอยู่ในเเผนการดังกล่าวด้วย
ส่วนธุรกิจใหม่ที่จะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคมนี้ คือ สถาบันการศึกษาการโรงแรม AIHM หรือ Asian Institute of Hospitality Management ภายใต้ความร่วมมือด้านวิชาการกับเลส์โรชส์โกลบอลฮอสปิตอลลิตี้เอ็ดดูเคชั่น ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนด้านการบริหารจัดการธุรกิจบริการที่ระดับโลก โดยจะเปิดสอน 2 วิทยาเขตในกรุงเทพฯ และพัทยา รองรับทั้งคนไทยและเอเชีย คาดว่าปีหน้าจะมีมีนักศึกษา 150 คน
ลดต้นทุน-ระดมทุน รับมือ COVID-19 ยืดเยื้อ
เมื่อรายได้จากห้องพักยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ไมเนอร์จึงมีการปรับองค์กรครั้งใหญ่ รวมถึงต้องสร้างแหล่งรายได้ใหม่นอกเหนือจากห้องพัก เช่นเปิดร้านอาหาร เบเกอรี่เเละคาเฟ่
นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินเเผน “ลดต้นทุน” ผ่าน 3 วิธีการ ได้เเก่ 1) การปรับลดพนักงาน ซึ่งบริษัทจ้างพนักงานพาร์ตไทม์ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะไมเนอร์ฟู้ดกว่า 60% เป็นพนักงานพาร์ตไทม์ ดังนั้นจึงลดในส่วนนี้ได้ค่อนข้างมากเเละมีความยืดหยุ่น 2)เจรจาขอลดหรือเลื่อนจ่ายค่าเช่าพื้นที่ร้านอาหารและโรงแรม และ 3)การเจรจากับคู่ค้าเพื่อขอปรับเงื่อนไขการชำระเงินรวมถึงส่วนลด
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ MINT ให้สัมภาษณ์กับ Positioning ว่า “ไมเนอร์สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างเยอะ มากกว่า 25-30% จากที่เราเคยจ่ายไปในปีที่เเล้ว ทำให้เราถึง Breakeven Point หรือจุดคุ้มทุนได้เร็วขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในธุรกิจโรงเเรมเเต่ก่อนต้องมีอัตราเข้าพักถึง 50-60% กว่าถึงจะถึงจุดคุ้มทุน เเต่พอองค์กรคล่องตัวมากขึ้น มีวิธีการทำงานที่รวดเร็วเเละต้นทุนต่ำลง เราก็ลดจุดคุ้มทุนลงเหลือเเค่ 30-40% ของอัตราเข้าพักเท่านั้น”
ก่อนหน้านี้ ไมเนอร์ได้ประกาศแผนระดมทุนแบบเบ็ดเสร็จ 25,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมตัวรับมือกับความไม่เเน่นอน หากมีการระบาดของ COVID-19 รอบสองเเละยืดเยื้อกว่าที่คาด ซึ่งประเมินเเล้วว่าสามารถรับมือหากเกิดสถานการณ์เลวร้ายในช่วงครึ่งปีหลังได้เเน่นอน