ZEN เตรียมยุบ 3 แบรนด์ในเครือ จัดโครงสร้างองค์กรใหม่ลดต้นทุน เชื่อครึ่งปีหลังพลิกมากำไร

  • เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป (ZEN) เปิดแผนครึ่งปีหลัง 2563 เตรียมยุบ 3 แบรนด์รองในเครือ คือ แจ่วฮ้อน, FOO Flavor และ Musha by ZEN มุ่งผลักดันเฉพาะ 7 แบรนด์หลักตลาดแมส และ 2 แบรนด์ในตลาดพรีเมียม
  • จัดโครงสร้างองค์กรใหม่ช่วยลดต้นทุน รวมศูนย์บริหารแยกเป็นเพียง 2 กลุ่มคือกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นกับร้านอาหารไทย จากเดิมที่มีทีมแยกบริหารของแต่ละแบรนด์ และยังคงรัดเข็มขัด ตัดงบลงทุนลงครึ่งหนึ่งเหลือ 100 ล้านบาท
  • หลังรัฐบาลยกเลิกเคอร์ฟิว ZEN พบว่าลูกค้ากลับมาทานอาหารที่ร้าน 80-85% ของปกติ เชื่อธุรกิจนี้จะฟื้นแบบ V-shape ครึ่งปีหลังกลับมาทำกำไร ชดเชยช่วงครึ่งปีแรกที่ขาดทุน

อีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักในช่วงล็อกดาวน์ควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 คือ “ร้านอาหาร” แต่ปัจจุบันกลับมาดำเนินธุรกิจกันได้เกือบเป็นปกติแล้ว ทำให้มีความหวังฟื้นตัวเร็วในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ก็ยังต้องระวังตัวและประหยัดต้นทุนอยู่

“บุญยง ตันสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN เปิดแผนดำเนินธุรกิจช่วงครึ่งปีหลัง ยังปรับตัวต่อเนื่องอีกหลายอย่าง จากก่อนหน้านี้บริษัทปรับกลยุทธ์รับมือ COVID-19 โดยไปมุ่งเน้นเดลิเวอรี่อย่างเต็มที่เพื่อช่วยพยุงกระแสเงินสดไว้ ในช่วงที่เปิดร้านอาหารบนห้างสรรพสินค้าไม่ได้ยาวนานถึง 56 วัน

 

ยุบ 3 แบรนด์รอง เน้น 7+2 แบรนด์หลัก

สิ่งที่บริษัทจะปรับจากนี้คือการยุบแบรนด์รอง 3 แบรนด์ ได้แก่ แจ่วฮ้อน (4 สาขา) FOO Flavor (2 สาขา) และ Musha by ZEN (3 สาขา) เพื่อมาเน้นการลงทุนสาขาและการตลาดกับแบรนด์หลักในพอร์ตเท่านั้น โดยสาขาเดิมของแบรนด์ร้านอาหารเหล่านี้จะถูกปรับไปเป็นร้านอาหารแบรนด์หลักในพอร์ตแทน เช่น FOO Flavor สาขาเอ็มควอเทียร์ถูกปรับเป็นร้าน On the table และสาขาลาดพร้าวกำลังจะถูกปรับเป็นร้าน Din’s ในเดือนสิงหาคมนี้

FOO Flavor ร้านอาหารสไตล์ไทย-อาเซียนฟิวชั่นที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปลายปีที่แล้ว กำลังจะถูกเปลี่ยนไปเป็นแบรนด์อื่น

ส่วน 7+2 แบรนด์หลักดังกล่าว แยกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มร้านอาหารตลาดแมส 7 แบรนด์ คือ ร้านอาหารญี่ปุ่น ZEN, ร้านปิ้งย่าง AKA, ร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่น On the table, ร้านอาหารอีสาน ตำมั่ว, ร้านอาหารตามสั่ง เขียง, ร้านอาหารจีน Din’s และร้านอาหารเวียดนาม ลาวญวน

ตัวอย่างเมนูร้าน On the table แบรนด์ที่แข็งแรงในพอร์ต

และอีก 2 แบรนด์ใน กลุ่มร้านอาหารพรีเมียม คือ Sushi CYU (ซูชิชู) ร้านซูชิแบบโอมากาเสะ กับร้าน Tetsu ร้านเนื้อย่างระดับพรีเมียม

บุญยงกล่าวว่า กลุ่มร้านอาหารเหล่านี้คือร้านที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก และช่วยบาลานซ์พอร์ตของ ZEN ได้เหมาะสม เพราะมีร้านอาหารครบทุกสัญชาติ และมีทั้งร้านที่ทำเมนูเดลิเวอรีได้ดี เช่น ตำมั่ว เขียง กับร้านที่ดึงลูกค้ารับประทานในร้านได้ดี เช่น AKA

 

รัดเข็มขัดเต็มที่ ยุบรวมทีมบริหาร

บุญยงกล่าวต่อไปว่า หลังจัดพอร์ตใหม่แล้ว วันที่ 1 ส.ค. 63 เป็นต้นไป บริษัทจะจัดโครงสร้างองค์กรใหม่เพื่อบริหารต้นทุน จากเดิมบริษัทมีการแยกทีมทำงาน มีตำแหน่ง GM และทีมพัฒนาเมนูอาหารแยกของแต่ละแบรนด์ แต่ละร้านจะได้รับงบการตลาดคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของรายได้ร้าน ซึ่งทำให้ต้นทุนค่อนข้างสูง

“บุญยง ตันสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ต่อจากนี้ ZEN จะยุบการบริหารจัดแบ่งเหลือเพียง 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น กับ กลุ่มร้านอาหารไทย แต่ละกลุ่มขึ้นตรงกับ CCO – Chief Commercial Officer ไม่มี GM แยกแบรนด์แล้ว และมีทีมพัฒนาเมนูอาหารของกลุ่มรวมกัน ทำให้ใช้คนน้อยลง รวมถึงจะมีการจัดงบการตลาดรวมทั้งกลุ่ม หากช่วงนั้นร้านใดกำลังเป็นกระแส จะทุ่มงบการตลาดให้ส่วนนั้น ไปจนถึงการสั่งวัตถุดิบร่วมกัน ทำให้ประหยัดต้นทุนได้เพิ่มขึ้น

การรวมศูนย์แบบนี้ยังมีข้อดีคือทำให้การทำตลาดและบริการหลังขายทำร่วมกันได้ อาจจะมีการจัดแพ็กเกจร่วมกันหลายแบรนด์ และสามารถเปลี่ยนมาใช้บัตรสมาชิกสะสมแต้มหรือส่วนลดของทั้งกลุ่ม จากปัจจุบันแยกเป็นบัตรสมาชิกของแต่ละแบรนด์อยู่

ทั้งนี้ เฉพาะร้านระดับพรีเมียม 2 แบรนด์คือ Sushi CYU และ Tetsu จะยังมีทีมบริหารแยกเป็นเอกเทศ เพราะลักษณะร้านอาหาร เป้าหมายลูกค้า วัตถุดิบ แตกต่างจากร้านระดับแมส

 

ตัดงบลงทุน เน้นทำ “ครัวกลาง” ส่งเดลิเวอรี่

ด้านแผนการลงทุนก็ยังคงตัดงบดังที่เคยแจ้งไว้เมื่อเดือนมีนาคม คือลดจาก 200 ล้านบาทเหลือประมาณ 100 ล้านบาท โดยแบรนด์ที่ยังมีการเปิดสาขาใหม่คือ AKA และ On the table นอกจากนั้นเป็นการรีโนเวตสาขาเดิม และเน้นผลักดันการขายแฟรนไชส์ร้าน “เขียง” แทน ซึ่งเชื่อว่าปีนี้ร้านเขียงจะเพิ่มสาขาไปแตะ 100 สาขาสำเร็จ

ร้านเขียง ร้านที่ขายดีช่วง COVID-19 เพราะเหมาะกับการเดลิเวอรี่

แม้สาขาใหม่อาจจะมีน้อย แต่บุญยงกล่าวว่า ครัวกลางในลักษณะ Cloud Kitchen ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปีนี้ จากปัจจุบันมี 30 สาขา เพิ่มเป็น 60 สาขา เพราะเป็นโมเดลที่ใช้ได้ดี ปัจจุบันทำรายได้เฉลี่ย 2 ล้านบาทต่อเดือนต่อสาขา

ครัวกลางของ ZEN คือโมเดลสอดไส้อีกแบรนด์หนึ่งเข้าไปในครัวของร้านที่มีหน้าร้านเพื่อให้เป็นจุดส่งเดลิเวอรี่ เช่น ครัวร้านตำมั่วบางสาขาสามารถทำเมนูร้านเขียงสำหรับส่งเดลิเวอรี่ได้ด้วย เป็นการขยายพื้นที่ที่ลูกค้าสามารถสั่งเดลิเวอรี่ได้ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะไม่ต้องลงทุนทำสาขาใหม่ เพียงฝึกแม่ครัวร้านเดิมให้ทำเมนูเพิ่มขึ้นได้ก็พอ

 

ร้านอาหารฟื้นแบบ V-shape แต่ยังไม่ 100%

สำหรับสถานการณ์หลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ไปแล้วทุกเฟส บุญยงกล่าวว่า ลูกค้ากลับมาทานอาหารที่ร้าน 80-85% ของช่วงเวลาปกติ ซึ่งเร็วกว่าที่บริษัทเคยคาดไว้ ทำให้เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเป็นเดือนที่บริษัทถึงจุดคุ้มทุน หลังจากขาดทุนติดต่อกันมาตั้งแต่เดือนมีนาคม

มองว่าธุรกิจร้านอาหารน่าจะฟื้นตัวได้แบบ V-shape แต่ก็ยังไม่ถึงจุดเดียวกับช่วงก่อน COVID-19 เพราะประเทศไทยยังขาดลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยว ทำให้ร้านอาหารบางจุดยังต้องปิดต่อไป คือ เกาะสมุย พัทยา ภูเก็ต และหัวหิน

รวมรายได้ตลอดทั้งปี บุญยงเชื่อว่าบริษัทจะมีรายได้ลดลงจากปีก่อนราว 15-20% แต่จะไม่ขาดทุน เพราะได้ปรับกลยุทธ์ลดต้นทุนไปดังกล่าวทำให้ครึ่งปีหลังนี้จะทำกำไร ชดเชยการขาดทุนในช่วงครึ่งปีแรกได้พอดี

ทั้งนี้ ผลประกอบการที่ ZEN รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปี 2562 มีรายได้ 3,144 ล้านบาท กำไรสุทธิ 106 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 1/63 ทำรายได้ 644 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ -44 ล้านบาท จากการถูกสั่งปิดร้านอาหารไปเพียง 10 วัน ส่วนไตรมาส 2/63 คาดการณ์กันว่าผลขาดทุนจะยิ่งสาหัส เนื่องจากร้านถูกปิดยาวจนถึงปลายเดือนพฤษภาคมจึงจะกลับมาดำเนินการได้