เอาด้วย! “ออสเตรเลีย” อ้าแขนต้อนรับผู้อพยพ “ฮ่องกง” กลุ่มทักษะสูง-นักเรียน-นักธุรกิจ

18 ส.ค. 2019 ผู้ประท้วงเรียกร้องเสรีภาพให้ฮ่องกงชุมนุมกัน ณ สวนสาธารณะเบลมอร์ในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย (photo : Brook Mitchell/Getty Images)
ออสเตรเลีย อ้าแขนต้อนรับบุคคลกลุ่ม “ทาเลนต์” ที่มีความสามารถสูง กลุ่มนักเรียน นักธุรกิจ ที่ต้องการอพยพจากฮ่องกง สามารถเข้ามาลี้ภัยในออสเตรเลียได้ โดยสอดคล้องกับนโยบายที่ออสเตรเลียมีอยู่แล้วคือการค้นหาบุคคลกลุ่มทาเลนต์จากทั่วโลก ให้เข้ามาทำงานและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจออสเตรเลีย

รัฐบาลออสเตรเลียประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า จะให้การช่วยเหลือประชาชนบนเกาะฮ่องกงที่ต้องการลี้ภัยออกจากเกาะ เนื่องจากรัฐบาลปักกิ่งประกาศบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงของรัฐฉบับใหม่เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2020 โดยออสเตรเลียเป็นดินแดนแห่งที่สามที่ประกาศต้อนรับผู้ลี้ภัยชาวฮ่องกงต่อจากไต้หวันและสหราชอาณาจักร

“ออสเตรเลียเป็นประเทศแห่งผู้อพยพ และเรายังคงตามหา ‘ทาเลนต์’ จากทั่วโลก” อลัน ทัดจ์ รัฐมนตรีกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานของเมืองและประชากร ประเทศออสเตรเลีย กล่าวกับสำนักข่าว CNBC

ข้อกำหนดของออสเตรเลียคือ ชาวฮ่องกงที่มีทักษะอาชีพและบัณฑิตจบใหม่ที่ถือวีซ่าชั่วคราวออสเตรเลีย จะได้รับการต่อวีซ่าออกไปอีก 5 ปี ซึ่งจะปูทางให้บุคคลเหล่านั้น “มีสิทธิเป็นผู้พำนักถาวร (PR)” หลังจากสิ้นสุดการถือวีซ่า 5 ปีดังกล่าว

เหตุที่ออสเตรเลียต้องการกลุ่มทาเลนต์จากทั่วโลก ทัดจ์ระบุว่า เป็นเพราะออสเตรเลียเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนนับแสนคนต้องตกงาน และประชาชนต้องการให้รัฐบาลออกนโยบายมุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้คนมีงานทำอีกครั้ง ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องการแรงงานที่มีทักษะเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ

ในกรณีฮ่องกง ออสเตรเลียจะเน้นให้สิทธิกับ นักเรียนนักศึกษา และ บุคคลที่มีความสามารถหรือ ‘ทาเลนต์’ อย่างสูง รวมถึง บริษัทที่ต้องการย้ายสำนักงานใหญ่ออกจากฮ่องกง เพื่อให้เขาเหล่านั้นมาช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจแก่แดนจิงโจ้

การประท้วงในฮ่องกงเมื่อปี 2019

สำหรับกลุ่มธุรกิจ ทัดจ์กล่าวว่ากลุ่มบริษัทประเภทบริการทางการเงิน บริษัทที่ปรึกษา และบริษัทสื่อ คือกลุ่มที่กำลังมองหาโลเคชันใหม่ในการย้ายสำนักงาน และออสเตรเลียต้องการสร้างแรงดึงดูดใจให้บริษัทที่จะย้ายฐานเข้ามาที่นี่ ดังนั้นการให้วีซ่าระยะยาวและสิทธิที่จะได้เป็นผู้พำนักถาวรในอนาคตจึงสำคัญยิ่ง เพราะทำให้พนักงานระดับสูงของบริษัทสามารถย้ายมาทำงานที่ออสเตรเลียได้

ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีซึ่งสำคัญมากกับกลุ่มธุรกิจ ทัดจ์กล่าวว่าจะมี “การจัดการทางการเงินให้เป็นพิเศษ” เพื่อเสนอแก่กลุ่มธุรกิจส่วนตัวที่ต้องการย้ายเข้ามา ทั้งนี้ ปัจจุบัน ภาษีนิติบุคคลของฮ่องกงอยู่ที่ 16.5% แต่ภาษีนิติบุคคลของออสเตรเลียสามารถขึ้นไปสูงสุดถึง 30% ดังนั้น นี่อาจจะเป็นข้อด้อยที่ทำให้ออสเตรเลียไม่ใช่ตัวเลือกได้

ความเป็นไปได้ที่ชาวฮ่องกงและธุรกิจฮ่องกงจะย้ายออกจากเกาะนั้น เป็นเพราะการคืนเกาะฮ่องกงจากสหราชอาณาจักรกลับไปให้จีนเมื่อปี 1997 แต่ชาวฮ่องกงต้องการเสรีภาพแยกจากจีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยระบบเศรษฐกิจและกฎหมายที่แยกจากกันชัดเจน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปักกิ่งมีนโยบาย “จีนเดียว” ซึ่งจะบีบให้ฮ่องกงต้องเป็นดินแดนหนึ่งที่ใช้ระบบกฎหมายเดียวกันกับจีน และไม่มีการเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตย

แรงกดดันจากปักกิ่งทำให้ชาวฮ่องกงประท้วงมานานหลายเดือน แต่รัฐบาลจีนยังคงตั้งมั่นในนโยบาย โดยล่าสุดเพิ่งออก กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ ดังกล่าว ระบุให้ 4 การกระทำเหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ได้แก่ การล้มล้างการปกครอง, แบ่งแยกดินแดน, ก่อการร้าย และสมคบคิดกับกองกำลังต่างชาติก่ออันตรายแก่ความมั่นคงแห่งชาติ โทษของกฎหมายร้ายแรงมากโดยมีโทษจำคุกขั้นต่ำ 10 ปีจนถึงจำคุกตลอดชีวิต รวมถึงศาลมีสิทธิให้พิจารณาโดยทางลับ ไม่มีคณะลูกขุน และไม่เปิดเผยต่อสาธารณะจนกว่าการตัดสินจะสิ้นสุด

เป็นหมุดหมายสำคัญของข้อพิพาทระหว่างจีนกับฮ่องกง ที่น่าจะส่งแรงกระเพื่อมให้ชาวฮ่องกงบางกลุ่มตัดสินใจย้ายถิ่นฐานจากบ้านเกิดไปสู่อิสระเสรี

Source