คืบหน้าอีกราย! อังกฤษทดสอบ “วัคซีน” ต้าน COVID-19 ในอาสาสมัครหลักพันคน “เห็นผล”

(Photo : มหาวิทยาลัย Oxford)
มหาวิทยาลัย Oxford ทดสอบวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาได้ผลจากการฉีดให้อาสาสมัครหลักพันคน ด้านรัฐบาลอังกฤษสั่งซื้อล่วงหน้าทันที 100 ล้านโดส แม้ว่าการวิจัยนี้จะยังต้องผ่านการทดสอบอีกหลายขั้น เช่นเดียวกับงานวิจัยในสหรัฐฯ เยอรมนี และจีนที่ประสบผลสำเร็จไปก่อนหน้านี้

มหาวิทยาลัย Oxford ทดสอบวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาชื่อ ChAdOx1 nCoV-19 กับอาสาสมัครร่วมงานวิจัยจำนวน 1,077 คน ผลทดสอบพบว่า วัคซีนสามารถกระตุ้นให้ผู้รับวัคซีนสร้างแอนติบอดี้และทีเซลส์ เพื่อต่อต้านไวรัสโคโรนาได้สำเร็จ และถึงแม้จะยังเหลือการทดสอบอีกหลายขั้นตอนกว่าที่วัคซีนจะสามารถผลิตออกสู่ตลาดได้ทั่วไป แต่รัฐบาลอังกฤษก็สั่งซื้อล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว 100 ล้านโดส

วัคซีนรุ่นที่มหาวิทยาลัย Oxford กำลังวิจัย ผลิตขึ้นจากการปรับพันธุกรรมไวรัสที่เป็นสาเหตุให้เกิดไข้หวัดในลิงชิมแปนซี การปรับพันธุกรรมเป็นไปเพื่อให้ไวรัสนี้คล้ายกับไวรัสโคโรนามากที่สุดโดยไม่ทำให้มนุษย์ติดเชื้อ

เมื่อฉีดวัคซีนนี้เข้าไปในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์สามารถทำความรู้จักกับไวรัสแปลกปลอมและสร้างภูมิขึ้นมาทำลายไวรัสได้ โดยวัคซีนจะไปกระตุ้นการสร้างแอนติบอดี้ โปรตีนที่ไปเกาะกับตัวไวรัสเพื่อต่อต้าน และสร้างทีเซลส์ซึ่งเป็นเซลส์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ตรวจหาว่าเซลส์ไหนในร่างกายที่ติดเชื้อไวรัสและทำลายทิ้ง

การวิเคราะห์ผลจากผู้รับการฉีดวัคซีนในห้องแล็บ (Photo : มหาวิทยาลัย Oxford)

การวิจัยนี้พบว่า 90% ของผู้รับวัคซีนสามารถสร้างแอนติบอดี้ที่เข้าไปจับกับไวรัสได้จากการฉีดวัคซีนโดสเดียว โดยมี 10 คนที่สร้างได้หลังจากฉีดไปสองโดส

อย่างไรก็ตาม วัคซีนชุดนี้ยังมีผลข้างเคียง เพียงแต่ไม่ร้ายแรงนัก โดย 70% ของผู้รับวัคซีนมีอาการไข้หรือปวดหัวตามมา ซึ่งสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยยาพาราเซตามอล

 

ขั้นต่อไป : ทดสอบหลักหมื่นคน

แม้ว่าการทดสอบขั้นต้นจะดูมีความหวังอย่างยิ่ง แต่ยังมีขั้นตอนทดสอบอีกมากเพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนใช้ได้ผลจริงและปลอดภัย โดยขั้นต่อไปจะเป็นการทดสอบกับผู้รับวัคซีนในสหราชอาณาจักร 10,000 คน ตามด้วยขั้นสุดท้าย ซึ่งจะต้องขยายวงการทดสอบไปสู่ประเทศอื่นที่มีการติดเชื้อมากกว่าในอังกฤษ กล่าวคือจะมีการทดสอบในสหรัฐฯ 30,000 คน ในแอฟริกาใต้ 2,000 คน และในบราซิล 5,000 คน

ทีมวิจัยยังร้องขอที่จะทำ “challenge trials” ด้วย โดยการทดสอบนี้หมายถึงจะต้องให้ผู้รับการทดสอบยอมติดเชื้อไวรัสโคโรนาอย่างจงใจ เพื่อจะได้ทดลองฉีดวัคซีนให้กับผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม การวิจัยเช่นนี้จะหมิ่นเหม่ทางจริยธรรม เพราะยังไม่มีการคิดค้นวิธีรักษาสำเร็จนั่นเอง

 

วัคซีน 163 ตัวกำลังเร่งวิจัยอยู่รอบโลก

ทีมวิจัยมหาวิทยาลัย Oxford ไม่ใช่รายแรกที่ทดสอบวัคซีนสำเร็จ ก่อนหน้านี้มีบริษัทยาสหรัฐฯ ที่ทำสำเร็จในการทดลองกับผู้รับวัคซีนหลักพันคนมาแล้วคือบริษัท Moderna และ Pfizer บริษัทยาเยอรมนี BioNTech รวมถึงบริษัทยาในจีนก็มีการทดสอบเป็นวงกว้างถึงหลักพันคนแล้วเช่นกัน

โดยรวมแล้ว องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า มีวัคซีนในห้องวิจัย 23 ตัวที่ถูกทดสอบถึงระดับทดลองใช้กับมนุษย์แล้ว ขณะที่มีอีก 140 ตัวยังอยู่ระหว่างพัฒนาขั้นต้น

สำหรับประเทศไทยเราก็มีการพัฒนาวัคซีนเช่นกันคือ CHULA-Covid19 พัฒนาโดย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีการแถลงผลทดสอบในลิงเห็นผลเมื่อเดือนกรกฎาคมนี้เอง ทีมวิจัยจึงส่งไปผลิตเป็นวัคซีนสำหรับมนุษย์ที่ต่างประเทศ จากนั้นจะเริ่มนำมาทดลองฉีดในคนกลุ่มเล็กก่อนสิ้นปีนี้ หากได้ผลดีจะไปสู่การทดลองฉีดให้กับคนไทยหลักพันคนภายในกลางปีหน้า

ความหวังสำหรับมนุษยชาติในการเอาชนะโรค COVID-19 มีสูงขึ้นแล้ว แต่ยังต้องใช้เวลา โดยคาดการณ์จากความคืบหน้าเหล่านี้ว่า เราน่าจะได้เห็นผลสำเร็จของการวิจัยภายในสิ้นปีนี้ จากนั้นวัคซีนที่ได้รับอนุมัติผลิตน่าจะแจกจ่ายให้บุคลากรสาธารณสุขและผู้มีความเสี่ยงต่อโรคมากที่สุดก่อน ส่วนการฉีดให้แก่สาธารณชนจำนวนมากน่าจะเกิดขึ้นได้ภายในปี 2021 ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องหวังว่าการคิดค้นและทดสอบวัคซีนจะเป็นไปตามแผน

Source