ผู้ใช้ Garmin ทั่วโลกน่าจะหายใจหายคอโล่งขึ้นเมื่อแอปพลิเคชันกลับมาใช้งานได้เกือบเป็นปกติเมื่อวานนี้ (27 ก.ค. 63) หลังจากระบบซิงค์ข้อมูลของ Garmin เป็นอัมพาตไป 4 วัน เนื่องจากถูกโปรแกรมเรียกค่าไถ่ (ransomware) โจมตี ยังไม่มีใครทราบว่า Garmin แก้ปัญหาด้วยการจ่ายเงินหรือแก้โปรแกรมเรียกค่าไถ่ได้สำเร็จ แต่วิกฤตครั้งนี้น่าจะสะเทือนความรู้สึกลูกค้าบางส่วนพอสมควร
Garmin ประกาศในแถลงการณ์สาธารณะเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 63 ว่า บริษัทตกเป็นเหยื่อของการโจมตีทางไซเบอร์ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค. 63 ยังผลให้บริการออนไลน์หลายประเภทของบริษัทใช้การไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันที่ลูกค้าใช้งาน หน้าเว็บไซต์บริษัท ตลอดจนระบบสื่อสารกับลูกค้า
ปัญหาการโจมตีที่ส่งผลแม้กระทั่งช่องทางสื่อสารกับลูกค้า ยิ่งสร้างปัญหาให้บริษัท เพราะอีเมลที่ส่งไปยังแผนกประชาสัมพันธ์ของ Garmin จะเด้งกลับไปที่ผู้ส่งทันที และเบอร์โทรศัพท์ก็เชื่อมต่อไม่ได้ด้วย
ทั้งนี้ แถลงการณ์ของบริษัทประกาศด้วยว่า จากการตรวจสอบยังไม่พบข้อบ่งชี้ว่าข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าที่ใช้ในระบบเพย์เมนต์ Garmin Pay ถูกเข้าถึงได้หรือขโมยข้อมูลออกไป รวมถึงฟังก์ชันการใช้งานของตัวสินค้าของ Garmin ยังคงใช้งานได้ปกติ ซึ่งน่าจะสร้างความโล่งใจให้ผู้ใช้ในระดับหนึ่งว่าอย่างน้อยบัญชีการเงินของตนยังไม่ถูกโจมตี
4 วันแห่งความโกลาหล
ตลอด 4 วันที่ Garmin ถูกโจมตีโดยพุ่งเป้าไปที่ระบบ Garmin Connect สำหรับผู้ใช้งานปลายทางหลายล้านคนที่ได้รับผลกระทบจะแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายนาฬิกาสมาร์ตวอชต์ กับกลุ่มนักบินผู้ใช้ระบบนำทางเครื่องบิน flyGarmin และแอปฯ Garmin Pilot
กลุ่มผู้ใช้นาฬิกาสมาร์ตวอชต์จะพบปัญหาคือไม่สามารถเชื่อมต่อนาฬิกากับแอปฯ ของ Garmin บนโทรศัพท์มือถือได้ ซึ่งทำให้การเก็บข้อมูลการออกกำลังกายไปประมวลผลบนมือถือทำไม่ได้ การใช้งานนาฬิกาจึงไม่เต็มประสิทธิภาพ สร้างความสับสนให้กับชุมชนคนใช้ Garmin เป็นอย่างมาก
ส่วนกลุ่มนักบินผู้ใช้ flyGarmin และ Garmin Pilot ยิ่งเจอปัญหาหนัก เพราะโปรแกรมโจมตีทำให้อุปกรณ์ของ Garmin บนเครื่องบินไม่สามารถทำแผนการบินได้ และไม่สามารถอัพเดตฐานข้อมูลอุตุนิยมวิทยาทางการบินของ FAA ได้ ซึ่งปกติจะต้องอัพเดตราวๆ ทุก 1 เดือน และถ้าหากไม่ได้อัพเดตจะไม่สามารถขึ้นบินได้ โดยข้อมูลรอบล่าสุดออกมาเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 63 ทำให้เครื่องบินหลายลำอัพเดตไปแล้ว ส่วนเครื่องบินที่ยังไม่ได้อัพเดตต้องเลี่ยงไปใช้แพลตฟอร์มอื่นชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม หลัง Garmin กู้คืนระบบสำเร็จเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา บริษัทระบุว่าระบบกำลังค่อยๆ คืนสู่ภาวะปกติโดยต้องใช้เวลาอีกราว 2-3 วันจึงจะเสร็จสมบูรณ์
ด้านเสียงของผู้ใช้ในเพจ Garmin Thailand by GIS พบว่าแอปฯ จะขึ้นข้อความว่า “ขออภัย เรากำลังปิดเพื่อทำการบำรุงรักษา ตรวจสอบอีกครั้งในเร็วๆ นี้” โดยนาฬิกากลับมาเชื่อมต่อแอปฯ ได้แล้ว แต่การซิงค์ข้อมูลระหว่างนาฬิกากับแอปฯ หรือการค้นหาสัญญาณ GPS ยังช้ากว่าปกติ
การโจมตีทางไซเบอร์ ภัยที่น่ากลัวของธุรกิจ
แม้ว่าในแถลงการณ์ของ Garmin จะไม่มีการระบุถึง “การเรียกค่าไถ่” หลังถูกโจมตีทางไซเบอร์ครั้งนี้ แต่ก่อนหน้านี้สื่อหลายรายรายงานว่า Evil Corp กลุ่มแฮกเกอร์ชื่อดังในรัสเซียคือผู้อยู่เบื้องหลังการปล่อยโปรแกรมชื่อ WastedLocker เข้าไปแฮกระบบของบริษัท และเรียกค่าไถ่เพื่อกู้คืนระบบมูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 316 ล้านบาท)
ยังไม่มีการรายงานว่าหลังจาก Garmin กู้คืนระบบมาได้นั้นเป็นเพราะทางบริษัทยอมจ่ายค่าไถ่ระบบคืน หรือโปรแกรมเมอร์ของบริษัทสามารถหาทางกู้ระบบคืนมาเองได้สำเร็จ
การโจมตีทางไซเบอร์ครั้งนี้สร้างความหงุดหงิดใจให้ผู้บริโภคบางกลุ่ม ด้วยนาฬิกาสมาร์ตวอชต์ของ Garmin จัดว่าเป็นนาฬิการะดับพรีเมียม ด้วยสนนราคาตั้งแต่ 2 พันกว่าบาทไปจนถึง 3 หมื่นกว่าบาท เทียบกับสมาร์ตวอตช์แบรนด์อื่นที่อาจจะทำราคาลงไปต่ำไม่ถึง 1 พันบาท ดังนั้น ผู้บริโภคย่อมคาดหวังว่าคุณภาพและการเก็บข้อมูลของ Garmin น่าจะยอดเยี่ยม ทำให้การโจมตีทางไซเบอร์เช่นนี้สั่นคลอนความเชื่อมั่นของลูกค้า
ต้องรอดูผลที่ตามมาของกรณีนี้ว่าจะทำให้ Garmin สูญเสียลูกค้าในระยะยาวหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงความตื่นตระหนกในช่วงสั้นๆ และแบรนด์จะกลับมาแข็งแรงได้ดังเดิม