อนาล็อกขาลง! นาฬิกา Citizen ประกาศขาดทุนในรอบ 7 ปี จ้างออกพนักงาน 550 คน

Photo : citizenwatch

คนขายนาฬิกาก็ต้องใช้เวลาเหมือนกัน “Citizen Watch Co.” หน่วยธุรกิจผลิต และจำหน่ายนาฬิกาอนาล็อกจำใจประกาศข้อเสนอแพ็กเกจเกษียนก่อนกำหนดให้กับพนักงาน 550 คน ผลจากภาวะยอดจำหน่ายนาฬิการะบบอนาล็อกหดหาย และนาฬิกาอัจฉริยะ หรือสมาร์ทวอตช์ขายดีมากขึ้น

นอกจากตลาดที่เปลี่ยนไป บริษัท Citizen Watch Manufacturing ยังให้เหตุผลถึงการ “จ้างออกพนักงาน” ครั้งนี้ว่าเป็นเพราะความวุ่นวายทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้บริษัทต้องหาทางลดค่าใช้จ่าย เพื่อให้บริษัทอยู่รอดในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

สิ่งสำคัญคือ Citizen ไม่ได้หมดหวัง แม้จะยอมรับความจริงว่าความต้องการนาฬิกาแบบอนาล็อกในตลาดโลกจะไม่ฟื้นตัวในระยะกลางถึงระยะยาว แต่ Citizen Watch Manufacturing จะยังมีพนักงานมากกว่า 2,000 คน จากเดิมที่มี 3,000 คน ในโรงงาน 17 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ 10 จังหวัดทั่วญี่ปุ่นทั้งฮอกไกโด ฟุกุชิมะ นิอิกาตะ และนากาโน

โละกลุ่มเงินเดือนสูง

พนักงานที่จะได้รับข้อเสนอจ้างออกคือกลุ่มอายุ 36 ปีขึ้นไป กำหนดการให้ออกจากบริษัทคือสิ้นเดือนธันวาคมนี้

การตัดสินใจครั้งนี้ของ Citizen Watch ชัดเจนว่าต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรลง เพื่อให้สามารถควบคุมต้นทุนของบริษัทได้ โดยที่ผ่านมา Citizen Watch มีร้านเรือธง Citizen Flagship Store Tokyo ในย่าน Ginza อันทันสมัยของโตเกียว ขณะเดียวกันก็ยังคงเปิดตัวนาฬิกาข้อมือระดับไฮเอนด์ใหม่ที่ชูจุดขายการใช้พลังงานแสงและการบอกเวลาแม่นยำมาก เรียกว่าผิดพลาดไม่เกินบวกหรือลบ 1 วินาทีต่อปี สนนราคารุ่นนี้คือ 800,000 เยน หรือประมาณ 240,000 บาท ซึ่งจะต้องสั่งจองไว้และให้ลูกค้ารอส่งมอบสินค้าอีกนานหลายเดือน

สนนราคานาฬิกาของ Citizen ที่แพงเช่นนี้มีที่มา เพราะมีข้อสังเกตได้ว่าราคานาฬิการุ่นหลักของ Citizen เริ่มสูงขึ้นไม่หยุดในช่วงหลังปี 2000 เวลานั้นนาฬิกา Citizen เคยมีราคาระหว่าง 30,000 ถึง 40,000 เยน แต่ก็ทะลุหลัก 100,000 เยนในปี 2004 และผลิตภัณฑ์หลักที่วางขายในปี 2011 มีราคามากกว่า 300,000 เยน

การสำรวจยังพบว่าราคาต่อหน่วยเฉลี่ยของนาฬิกา Citizen ทุกเรือนเพิ่มขึ้น 2.8 เท่าจากปี 2001 สถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดกับ Citizen คนเดียว แต่เกิดกับแบรนด์เพื่อนร่วมชาติอย่าง Seiko Holdings Corp. ด้วย

ราคาต่อหน่วยของนาฬิกาชายทั่วไปของ Seiko เพิ่มขึ้นจาก 80,000 เยน (ราคารุ่น Brightz ที่เปิดตัวในปี 2004) เป็น 230,000 เยน (ราคารุ่น Astron) ซึ่งปัจจุบันมีวางจำหน่ายอยู่ ขณะที่นาฬิกาสำหรับผู้หญิงที่ราคาแพงที่สุดในซีรีส์ Lukia นั้นมีราคาเพียง 50,000 เยนในปี 2004 ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับรุ่นใหม่ที่ราคา 78,000 เยนต่อเรือนในปี 2019

แม้กระทั่ง G-Shock ของ Casio Computer Co. ซึ่งแจ้งเกิดตลาดครั้งแรกในปี 1983 ก็มีราคาอยู่ระหว่าง 10,000-20,000 เยน หลังจากสร้างความนิยมในช่วงปี 1990 แต่บางรุ่นภายใต้แบรนด์ G-Shock นั้นมีราคากว่า 100,000 เยนวันนี้

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคานาฬิกากลไกเพิ่มขึ้นนั้นอาจเป็นเพราะต้นทุนนวัตกรรม และการรัดเข็มขัดจากการปรับโครงสร้างองค์กรอาจจะช่วยให้ Citizen ทำราคาสินค้าได้ดีขึ้น และกำไรมากขึ้น

กำไรต้องมา

Norio Takeuchi กรรมการผู้จัดการของ Citizen เคยแสดงความมั่นใจว่าบริษัทยังมีที่ว่างสำหรับการเพิ่มอัตรากำไรให้บริษัท ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ Citizen โดดเด่นด้วยเทคโนโลยีดั้งเดิมที่บริษัทมี

อย่างไรก็ตาม Citizen ยังมีต้นทุนเรื่องการซื้อกิจการแบรนด์ตะวันตก ทำให้แม้สินค้ารุ่นหลักของ Citizen จะมีราคาอยู่ในช่วงหลายแสนเยน แต่บริษัทก็เน้นขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาแพงกว่า ทั้งหมดนี้ทำให้ Citizen ได้รับผลกระทบสูงหลังจากอุตสาหกรรมนาฬิกาหยุดชะงักลงในช่วง COVID-19 เพราะงานแสดงสินค้านานาชาติ Baselworld ประจำปีซึ่งมีกำหนดจัดในเดือนเมษายนถูกยกเลิกไป ยังมีการปิดห้างสรรพสินค้าที่ทำให้ยอดขาย Citizen ลดลงทั่วโลก ทำให้ผู้ผลิตนาฬิกาหลายรายต้องประกาศผลการดำเนินงานย่ำแย่ในช่วงครึ่งแรกของปี 63

Citizen หนีไม่พ้นชะตากรรมนั้น และประกาศขาดทุนครั้งแรกในรอบ 7 ปี โดย Takeuchi ยอมรับว่าบริษัทตื่นตระหนกกับวิกฤติที่เกิดขึ้น และยืนยันในงานแถลงผลประกอบการทางการเงินว่าบริษัทจำเป็นต้องทำให้ธุรกิจนาฬิกาของ Citizen กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งอย่างรวดเร็ว

แต่ตอนนี้ขอเวลา เพื่อให้ Citizen ได้คัมแบ็กอย่างเต็มภาคภูมิ.


ที่มา :