เบื้องหลัง “สเวนเซ่นส์” กาดน่าน มากกว่าขยายสาขา คือการเบลนด์ให้เข้ากับ “วัฒนธรรมท้องถิ่น”


สร้างเสียงฮือฮาบนโลกออนไลน์ได้เป็นอย่างดี เมื่อ “สเวนเซ่นส์” ผุดสาขาใหม่ขึ้นที่จังหวัดน่าน เป็นสาขาเดียวของจังหวัด ที่สำคัญคือมีการตกแต่งสไตล์ไทลื้อให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นการเดินกลยุทธ์สร้างสาขา Regional Flagship Store ในแต่ละจังหวัด

ปักหมุด Regional Flagship Store

เรียกได้ว่าคงจะเป็นสเวนเซ่นส์สาขาแรก และสาขาเดียวในประเทศไทย ที่ให้ลูกค้าได้ทานไอศกรีมในขันโตกในบรรยากาศล้านนา มีการตกแต่งด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ใครๆ ก็อยากมาเช็กอินกันที่นี่

สเวนเซ่นส์ได้เปิดให้บริการสาขาใหม่ที่ “กาดน่าน” อยู่ตรงข้ามสำนักงานเทศบาลน่าน ซึ่งการเปิดสาขาในครั้งนี้ไม่ธรรมดาตรงที่เป็นการเปิดในโมเดลสแตนอโลน และมีการตกแต่งแบบมีเอกลักษณ์ตามสไตล์ท้องถิ่น หรือเรียกว่าบ้าน “ไทลื้อ” ตามฉบับชาวน่านแท้ๆ

ให้คำจำกัดความของโมเดลนี้ว่า Regional Flagship Store ที่เคยเปิดสาขาแรกที่ “ภูเก็ตทาวน์” เป็นสาขาสแตนอโลนเช่นเดียวกัน มีการตกแต่งร้านสไตล์ชิโนโคโลเนียลตามแบบฉบับของชาวภูเก็ต เป็นการออกแบบให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น ปัจจุบันได้เปิดให้บริการได้เกือบ 2 ปีแล้ว

หลังจากเปิดให้บริการสาขาภูเก็ตทาวน์ก็ได้รับการตอบรับดีจากทั้งนักท่องเที่ยว และคนภูเก็ต กลายเป็นอีกหนึ่งเดสติเนชั่นที่ดึงดูดคนไปถ่ายรูป ไปทานไอศกรีมได้ สเวนเซ่นส์จึงต่อยอดความสำเร็จของโมเดลนี้ที่จังหวัดอื่น ด้วยองค์ประกอบหลายๆ อย่างทั้งวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ทำให้ตกลงปลงใจที่จังหวัดน่าน

โดยที่สเวนเซ่นส์ กาดน่านสาขานี้มีพื้นที่ทั้งหมด 350 ตารางเมตร มี 2 ชั้น ที่นั่งทั้งหมด 130 ที่นั่ง ใช้งบลงทุนราวๆ 10 ล้านบาท เป็นการลงทุนที่มากกว่าร้านปกติ 50% เพราะเป็นสาขาสแตนอโลน และมีการตกแต่งแบบเฉพาะด้วย

ทำไมต้องเป็น “น่าน”

อนุพนธ์ นิธิยานันท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สเวนเซ่นส์ (ไทย) จำกัด เริ่มเล่าว่า

“หลักการของร้าน Regional Flagship Store คือ จังหวัดนั้นต้องมีวัฒนธรรมที่โดดเด่น ทั้งตึกรามบ้านช่อง คนในท้องถิ่น ที่จังหวัดภูเก็ตมีสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสชัดเจน และที่เลือกจังหวัดน่าน เพราะเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่มีความเป็นชุมชนท้องที่เข้มแข็งมาก คนในชุมชนรักกันมาก สถานที่แต่ละแห่งก็มีความคลุมโทนเพื่อให้เป็นทิศทางเดียวกัน ร้านสะดวกซื้อก็ไม่มีสีสัน เป็นโทนสีน้ำตาล เป็นจังหวัดที่มีสเน่ห์ ยังเห็นคนน่านแต่งกายพื้นเมืองอยู่ เหมือนที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น จังหวัดมรดกโลก ตอนนี้คนชอบไปเที่ยวน่านกันด้วย”

ถ้าจะบอกว่าสเวนเซ่นส์ กาดน่านเป็นสาขาแรกในจังหวัดน่านก็คงไม่ผิดมากนัก เพราะก่อนหน้านี้เคยเปิดสาขาในเทสโก้ โลตัสน่านมาแล้ว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ จึงปิดให้บริการไปได้ 3 ปีกว่าแล้ว ครั้งนี้จึงเป็นการคัมแบ็กตลาดน่านใหม่ ด้วยคอนเซ็ปต์ใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม

อนุพนธ์บอกว่า เริ่มไอเดียในการที่จะเปิดสาขาที่กาดน่านตั้งแต่กลางปีที่แล้ว หลังจากเห็นความสำเร็จที่ภูเก็ตจึงต่อยอดไอเดียที่น่าน ในครั้งนี้ได้ใช้เวลาในการศึกษาตลาดในหลายๆ อย่าง ทั้งในเรื่องสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณีต่างๆ เข้าไปศึกษาที่พิพิธภัณฑ์ ศึกษาความเป็นมาของน่าน และยังปรึกษากับ “อาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม” นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองน่าน ผู้ประพันธ์ “บทกระซิบรัก” ของปู่ม่านย่าม่าน การออกแบบทุกอย่างต้องส่งในทางอาจารย์สมเจตน์ดูก่อน

“การออกแบบยากกว่าร้านทั่วไปมาก เพราะร้านปกติจะมีฟอร์แมทดีไซน์อยู่แล้ว ร้านแบบนี้จะต้องไปศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่น ต้องกินทุกร้าน ดูสิ่งก่อสร้าง วิธีการเสิร์ฟ ดูพิพิธภัณฑ์เพื่อให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ต้องใช้เวลาเยอะกว่า ดีไซเนอร์ต้องเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ มีคนถนัดการออกแบบล้านนาจริงๆ”

ในตอนแรกตั้งเป้าว่าจะเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนมีนาคม แต่ด้วยติดสถานการณ์ไวรัส COVID-19 จึงเลื่อนมาเปิดในวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ภายในสาขานี้มีเบื้องหลังวัฒนธรรมของน่าน 5 อย่างด้วยกัน

1. กำแพง น่านเป็นเมืองแปลกที่มีกำแพงต่ำ ที่วัดภูมินทร์ก็มีกำแพงต่ำ เพราะมีความเชื่อว่ากำแพงต่ำแต่ใจคนสูง สาขานี้จึงมีการดีไซน์ให้กำแพงต่ำชนิดที่ว่าคนปีนข้ามได้

2. ไม้สัก แต่ก่อนน่านดังเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ไม้ กับบ่อเกลือ สาขานี้จะเป็นไม้หมดเลย

3. บ่อเกลือ แต่ก่อนหลายเมืองอยากได้น่านเป็นเมืองขึ้น เพราะอยากได้เกลือเปรียบเหมือนทองคำ เพราะในสมัยก่อนเวลาออกศึกจะเอาไปถนอมอาหาร ที่น่านก็มีสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ ที่สาขานี้มีบ่อเกลือเป็นจุดไว้ให้ถ่ายรูปได้ด้วย

4. การทอผ้า มีวัฒนธรรมเรื่องการทอผ้าไทลื้อ

5. จิตรกรรมภาพกระซิบรักปู่ม่านย่าม่าน เป็นภาพวาดที่คนน่านชอบกัน เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของสาขานี้

มากกว่าขยายสาขา แต่คือพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว

สเวนเซ่นส์สาขา Regional Flagship Store มี 2 สาขา สาขาแรกที่ภูเก็ตเป็นการลงทุนเองของบริษัท แต่ที่กาดน่านเป็นการลงทุนของแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นการรจับมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่น เพราะต้องการพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

อนุพนธ์ให้เหตุผลที่ว่าทำไมถึงเลือกใช้โมเดลแฟรนไชส์ เพราะสาขานี้ต้องการคนท้องถิ่นที่เข้าในวัฒนธรรมจริงๆ ซึ่งน่านเป็นจังหวัดที่มีวัฒนธรรมชุมชนที่เข้มแข็งมาก จะผิดพลาดไม่ได้

จุดมุ่งหมายที่สำคัญของการทำ Regional Flagship Store จึงไม่ใช่แค่การขยายสาขาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนไปด้วย ทำเป็นจุดท่องเที่ยว เป็นเดสติเนชั่นที่คนจะมาแวะได้ และต้องเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์

“อย่างที่ภูเก็ตมีความชัดเจนเรื่องชิโนโปรตุกีสมาก โลเคชั่นอยู่ใกล้กับภูเก็ตทาวน์ ต่อยอดไอเดียสร้างตึกเป็นแลนด์มาร์ก จริงๆ สาขานั้นเป็นสาขาที่ 10 ในภูเก็ต แต่คนก็ให้การตอบรับดี เชื่อว่าที่สาขากาดน่านจะสร้างอิมแพ็คได้ดีกว่า เพราะเป็นจังหวัดที่เล็กกว่าภูเก็ต คนทั้งจังหวัดรู้จักหมด คนจังหวัดรอบๆ ก็มา เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ได้”

ที่สาขานี้มีการตั้งเป้าผู้ใช้บริการวันละ 500-600 คน/วัน แต่จากที่เปิดให้บริการในช่วง 4 วันแรก มีผู้ใช้บริการเกิน 1,000 คนตลอด โดยตั้งเป้าสัดส่วนลูกค้าเป็น 70% ลูกค้าในท้องถิ่น และ 30% เป็นนักท่องเที่ยว

ถ้าถามถึงแผนในการขยายสาขารูปแบบ Regional Flagship Store อนุพนธ์ทิ้งท้ายว่า ยังไม่มีแผนที่ตายตัว แต่คาดว่าจะเปิดปีละ 1 สาขา แต่ต้องดูคุณภาพเป็นหลัก เพราะต้องเป็นพื้นที่สแตนอโลน มีงบการก่อสร้างสูง มีรายละเอียดเยอะ ที่สำคัญจังหวัดนั้นๆ ต้องมีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจน และมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง อย่างเช่นจังหวัด “น่าน” นั่นเอง