เปิดมุมมอง ‘ไมโครซอฟท์’ กับการใช้ดิจิทัลฟื้นฟูศก.ไทย เมื่อทางออกเดียวคือ “ปั้นคนไอที”

ต้องยอมรับว่าไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการเป็นอย่างมาก เพราะแต่ละปีสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศถึง 400,000 ล้านบาท หรือราว 2.4% ของ GDP ไทย ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่โดนผลกระทบจาก COVID-19 เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชีย จากที่คาดว่า GDP จะเติบโต 3% กลายเป็นติดลบ –6.7% และจะมีอัตราว่างงานถึง 7.1% จากที่ปกติต่ำกว่า 1% อย่างไรก็ตาม จากวิกฤตินี้ส่งผลให้เทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ส่งผลให้มีความต้องการ ‘แรงงานไอที’ พุ่งสูงขึ้น ดังนั้น โอกาสที่จะอยู่รอดคือต้อง ‘รีสกิล’ และ ‘อัพสกิล’ เพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต

ทางรอดเดียวต้องมีทักษะด้านไอที

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีแรงงานด้านเทคโนโลยีกว่า 41 ล้านตำแหน่ง และภายในปี 2025 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 149 ล้านตำแหน่ง แบ่งเป็น งานด้านพัฒนาซอฟต์แวร์ 98 ล้านตำแหน่ง คลาวด์และดาต้า 23 ล้านตำแหน่ง การวิเคราะห์ข้อมูล แมชชีนเลิร์นนิ่ง เอไอ 20 ล้านตำแหน่ง ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ 6 ล้านตำแหน่ง และความเป็นส่วนตัวและความเชื่อมั่น 1 ล้านตำแหน่ง สำหรับประเทศไทยเองคาดว่าตำแหน่งงานด้านเทคโนโลยีจะเพิ่มเป็น 3 ล้านตำแหน่งใน 5 กลุ่มดังกล่าว ดังนั้นจะเห็นว่านี่เป็นโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต

“พนักงานรายวัน เด็กจบใหม่ First Jobber คนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในเมืองเป็นส่วนที่โดนผลกระทบมากที่สุดจากการมาของ Covid-19 แม้จะตกงาน แต่ก็มีโอกาสจากงานด้านเทคโนโลยี เพราะองค์กรต้องทรานส์ฟอร์ม ความต้องการเพิ่มขึ้นตลอด” ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

ที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ตระหนักถึงเรื่องแรงงานดี จึงได้เปิดตัวโครงการเพื่อเสริมสร้างทักษะแรงงาน โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลเพิ่มเติมให้กับผู้คนจำนวนกว่า 25 ล้านทั่วโลกภายในสิ้นปีนี้ และสำหรับในประเทศไทยไมโครซอฟท์ก็ได้ผนึกความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อจะพัฒนาทักษะด้านไอที และไม่ใช่แค่บุคคลภายนอก แต่ต้องอัพสกิลและรีสกิลของพนักงานด้วย

3 เทคโนโลยีตัวฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลัง Covid-19

สำหรับเทคโนโลยีที่จะเป็นตัวช่วยหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ทางไมโครซอฟท์มองว่ามี 3 เทคโนโลยี ได้แก่ 1.Cloud Computing ที่จะช่วยเพิ่มความเร็วและความคล่องตัว 2.Data & AI เพราะจากนี้ไปข้อมูลจะเป็นยิ่งกว่า New Air เนื่องจากข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญมากที่ทำให้แต่ละองค์กรรู้ว่าต้องเพิ่ม ต้องลดอะไร และ 3.Security ถ้าไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี เทคโนโลยีที่มีก็สูญเปล่า เพราะไม่มีใครกล้าใช้

“3 ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่องค์กรเน้นลงทุนแน่นอน ตอนนี้เทคโนโลยีกลายเป็นผลกระทบในเชิงบวก ดังนั้น เชื่อว่าองค์กรยังต้องลงทุนในไอทีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน และทุกอุตสาหกรรมจะต้องลงทุนแน่นอน”

นอกจากนี้ยังมองว่าวิกฤติ Covid-19 ส่งผลให้เกิดเทรนด์การใช้งานเทคโนโลยีแบบใหม่ ได้แก่ 1.New Way of Work and Life หรือ การผสมผสานการใช้ชีวิตและการทำงาน 2.Virtual Century โลกเสมือนที่จะใกล้ชิดกับโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น 3.Hyper Automation ทุกอย่างจะเป็นรูปแบบอัตโนมัติมากขึ้นด้วย AI 4.Accelerating Digital หรือการเร่งความเร็วในการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล 5.Business Model Revamp การเปลี่ยนธุรกิจทั้งระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใหม่ ๆ และ 6.Trust Ethics, Security & Privacy NOW องค์กรจะโฟกัสกับเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อสร้างความเชื่อมั่น

โอกาสของไมโครซอฟท์ในยุค Covid-19

ต้องยอมรับว่ารายได้จาก Licensing หรือลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์นั้นลดลงจนติดลบ แต่ในส่วนของบริการอื่น ๆ มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด อาทิ Microsoft Teams ที่เติบโตถึง 936% และอีกส่วนที่เติบโตมากคือ ‘คลาวด์’ โดยอยู่ในอัตรา 2 หลัก และบางโปรดักส์เติบโตในระดับ 3-4 หลัก ดังนั้น ไมโครซอฟท์จะเน้นการรุกตลาดคลาวด์เป็นหลัก โดยได้จัดตั้งทีมงานเฉพาะ “Customer Success Unit” เพื่อร่วมทำงานกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดในฐานะพันธมิตร ซึ่งไมโครซอฟท์เชื่อว่า Covid-19 ถือเป็นโอกาสที่บริษัทจะเข้าไปสร้างอิมแพ็กต์ในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะทักษะทางด้านดิจิทัล

“Covid-19 เป็นตัวทดสอบว่าองค์กรจะอยู่รอดต่อไปในตลาดได้ไหม นี่เป็นช่วงเวลาที่องค์กรจะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้อยู่รอด แม้อุปสรรคในการนำเทคโนโลยีมาใช้มีเยอะ แต่อยากมองให้อย่าถอยหลัง ต้องมีไมนด์เซตที่จะพัฒนา ถ้าไม่เปลี่ยนองค์กรจะถอยหลัง ต้องมองว่าในอุปสรรคเป็นโอกาสเสมอ”