RS เข้าสู่ยุคที่ 4 ของการดำเนินธุรกิจ ได้เปิดสำนักงานใหม่ย้ายจากลาดพร้าวสู่ย่านถนนประเสริฐมนูกิจ หรือเกษตร-นวมินทร์ ยุคที่ 4 นี้มีการปรับโมเดลใหม่หลายๆ อย่าง เตรียมลุยตลาดอาหารสัตว์เต็มตัว แถมยังเตีรยมปัดฝุ่นธุรกิจเพลงที่ห่างหายไปนานด้วย
RS สู่ยุคที่ 4
ถ้าฝั่งแกรมมี่มี “อากู๋” ฝั่ง RS ที่เป็นเหมือนคู่ปรับทางดนตรีมาตลอดก็ต้องมี “เฮียฮ้อ”
RS เป็นหนึ่งในตำนานเพลงยุค 90 ที่หลายๆ คนเติบโตมาพร้อมกับเพลง และศิลปินของ RS ถึงแม้ว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป โมเดลธุรกิจต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อรับกับความต้องการของตลาด แต่ชื่อของ RS ก็ยังคงอยู่
RS ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2519 โดย “สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” หรือเฮียฮ้อ และพี่ชาย “เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์” เริ่มก่อตั้ง RS และ Rose Sound จากธุรกิจตู้เพลง และค่ายเพลง ด้วยเงินลงทุน 50,000 บาท โดยมีสำนักงานแห่งแรกเป็นตึกแถวจำนวน 2 คูหา บนถนนอุรุพงษ์ ตอนนั้นเฮียฮ้อมีอายุ 19 ปี
จากนั้นในปี 2525 ก้าวเข้าสู่ธุรกิจเพลงวัยรุ่น ภายใต้บริษัท อาร์.เอส.ซาวด์ จำกัด โดยมีศิลปินวงแรกในสังกัดคือ วงอินทนิล ตามด้วย คีรีบูน, ฟรุตตี้, ซิกเซนต์, บรั่นดี, และ เรนโบว์ เป็นต้น
ในปี 2535 ย้ายสำนักงานจากตึกแถว 2 คูหา ถนนอุรุพงษ์ มายังอาคารเชษฐโชติศักดิ์ ซอยลาดพร้าว 15 และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “บริษัท อาร์.เอส. โปรโมชั่น 1992 จำกัด”
ถ้านับถึงตอนนี้ RS มีอายุ 39 ปีแล้ว ย่างเข้าปีที่ 40 ผ่านการทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิทัลเต็มตัวในปี 2557 ใช้ช่อง 8 เป็นหัวหอกหลัก ในปี 2559 เปิดบริษัท “ไลฟ์สตาร์ (LifeStar)” เข้าสู่ธุรกิจสุขภาพ และความงาม
จนถึงในปี 2562 มีการทรานส์ฟอร์มครั้งสำคัญที่ RS ได้ขอปรับย้ายหมวดธุรกิจ จากหมวดธุรกิจ “สื่อและสิ่งพิมพ์” มาเป็นหมวด “ธุรกิจพาณิชย์” หรือ MPC (Multi-platform Commerce) โดยกลุ่มนี้สร้างรายได้ได้ในสัดส่วนถึง 65% ของรายได้รวมของ RS และในปีเดียวกันนั้น “บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” ก็ได้เข้าถือหุ้น RS จำนวน 68 ล้านหุ้น (หรือประมาณ 7%) เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลลูกค้า
เฮียฮ้อเริ่มเล่าว่า 39 ปีของ RS ที่ผ่านมา ได้แบ่งเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ จนในปีนี้ถึงยุคที่ 4 เป็นการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ พร้อมกับย้ายสำนักงานใหญ่ด้วย
“ที่ผ่านมาแบ่ง RS เป็น 3 ช่วงด้วยกัน ช่วงแรกเป็นช่วงของปลาใหญ่กินปลาเล็ก ช่วงนั้นเราเป็นปลาเล็ก ช่วงวัยรุ่น คิดแค่ว่าจะเอาตัวรอดได้อย่างไรไม่ถูกกินก่อนที่จะโต พอเข้าสู่ช่วงที่ 2 คือช่วงปี 2535 เริ่มย้ายมาที่ลาดพร้าว ธุรกิจเริ่มใหญ่ขึ้น เป็นปลาใหญ่แล้ว ช่วงนี้จะเป็นปลาใหญ่กินปลาช้า แต่ในช่วงที่ 3 คือช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นยุคปลาฉลามที่กินทุกปลา ปลาใหญ่ หรือปลาเล็กไม่สำคัญ”
โลโก้ใหม่สุดมินิมอล พร้อมสำนักงานใหม่
ในปีนี้มีการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ เฮียฮ้อบอกว่าไม่ใช่แค่เปลี่ยนโลโก้ใหม่ แต่ยังมีการจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ ใช้ระบบ Agile ที่เน้นความรวดเร็ว คล่องตัว กำหนดวัฒนธรรมองค์กรใหม่ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนด้วยคอนแทนต์ และสินค้านั่นเอง
โดยที่โลโก้ใหม่ที่ให้ภาพลักษณ์เรียบง่าย มินิมอล และแฝงไปด้วยความร่วมสมัยเป็นสากล ได้ทำงานร่วมกับ มารีน่า วิลเลอร์ กราฟฟิกดีไซเนอร์ผู้ออกแบบโลโก้ให้แก่ เทต โมเดิร์น พิพิธภัณฑ์ศิลปะชื่อดังในอังกฤษ โลโก้ใหม่ยังสื่อถึงความเป็นเป็นองค์กรที่ไร้ขีดจำกัด ไม่มีสี ไม่มีกรอบ เป็นตัวอักษรขาวหรือดำก็ได้
ส่วนสำนักงานใหญ่ที่ย้านมาอยู่ที่ย่านถนนเกษตร-นวมินทร์ มีพื้นที่รวมถึง 16 ไร่ เป็นพื้นที่ส่วนตัวของเฮียฮ้อ และให้ RS เป็นผู้เช่า ซึ่งบ้านของเฮียฮ้อก็อยู่ในระแวกเดียวกันด้วย
ย้ำจุดยืน Entertainmerce
RS ได้เข้าสู่วงการขายของได้ราว 4 ปี เริ่มต้นจากธุรกิจไลฟ์สตาร์ เฮียฮ้อเริ่มมองเห็นแล้วว่าธุรกิจสื่อเริ่มอยู่ในช่วงขาลง ยิ่งมีทีวีดิจิทัล ยิ่งแบ่งเค้กกันมากขึ้น ในขณะที่จำนวนคนดูเท่าเดิม จึงเริ่มเปลี่ยนวิธีจากให้เอยนซี่เป็นลูกค้าซื้อสปอตโฆษณา เป็นให้คนดูเป็นผู้ซื้อแทน ใช้สื่อในเครือทั้งหมดเป็นช่องทางการขาย
RS ได้ Disrupt ตัวเองด้วยการใช้โมเดลธุรกิจ Entertainmerce หรือ Entertainment + Commerce ธุรกิจมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขนาดขอย้ายจากหมวดธุรกิจ Entertainment มาอยู่หมวด Commerce ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
การทำ Entertainmerce ของ RS ก็คือ การใช้ศักยภาพ ทรัพย์สินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ดารา นักแสดง คอนเทนต์ สื่อ ทีวี และวิทยุในมือทั้งหมด มาต่อยอดผสมผสานกับธุรกิจคอมเมิร์ซ เพื่อสร้างธุรกิจให้แข็งแรง
พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ เล่าว่า
“ในปี 2557 เป็นปีที่อุตสาหกรรมสื่อเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากทีวี 4 ช่อง เป็น 24 ช่อง แต่สายตาคนดูเท่าเดิม RS เลยใช้วิธีแตกต่าง เอาเวลาครึ่งนึงของโฆษณามาทำธุรกิจใหม่ จนวันนี้ 5 ปีผ่านไป RS Mall เป็นการผสมช้อปปิ้งเข้ากับความบันเทิง เล่าถึงแนวทางการแก้ปัญหา เสนอข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าได้”
แม้ในแต่ละสื่อทุกช่องทางของ RS จะมีการขายของเก่งอย่างไร แต่โมเดล Entertainmerce ก็พิสูจน์ได้ว่ามันเข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ และสามารถทำให้บริษัทอยู่รอดได้ และ RS ยังโตสวนกระแสวงการทีวีดิจิทัลที่มีการขาดทุนกันอย่างนัก ร่วมกับวิกฤต COVID-19 โดยที่ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ สามารถสร้างรายได้ 586.2 ล้านบาท สร้างสถิติ New High สูงที่สุด และมียอดขายจากช่องทางออนไลน์โต 80%
ปัจจุบันมีฐานลูกค้า 1.4 ล้านราย แบ่งสัดส่วนเป็นคนกทม. 65% และคนต่างจังหวัด 35% ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุ 40 ปี ขึ้นไป มียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 2,000 บาท
ทาสหมาตัวยง เตรียมขายอาหารสัตว์
ภายใต้ RS Mall ที่เป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าของ RS มีสินค้าที่หลากหลาย ทั้งสินค้าแบรนด์ของ RS เอง และแบรนด์ที่รับมาขาย โดยสัดส่วนรายได้ 60% เป็นสินค้าในเครือ และอีก 40% เป็นสินค้าข้างนอก
ชาคริต พิชญางกูร หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจไลฟ์สตาร์ บอกว่า ในปีนี้จะบุกโมเดล Star Commerce Modelนำศิลปินดารามาร่วมคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มแฟนคลับ เริ่มต้นที่ใบเตย อาร์สยาม กับแบรนด์ BT Cosmetics Color Collection มีสินค้าแป้ง Color Palette และ Lipstick
อีกหนึ่งไฮไลท์ของไลฟ์สตาร์ คือ การบุกตลาด “อาหารสัตว์” นอกจากตัวเลขมูลค่าตลาดอันมหาศาลถึง 40,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 10% โดยตลอด ที่สำคัญคือ เฮียฮ้อเป็น “ทาสหมา” ตัวยง จึงรู้ว่าตลาดนี้มีโอกาสมากมายขนาดไหน
เฮียฮ้อเล่าว่า “เฮียเลี้ยงหมา 2 ตัว เริ่มจากตัวเองนี่แหละถึงรู้ว่าตลาดใหญ่มาก เอาจากอินไซต์ของตัวเองเลย ซื้อยาสระผมให้ตัวเองอย่างมากราคา 200 บาท แต่ซื้อให้หมา 700 บาท พวกทาสเนี่ยจ่ายให้หมาแมวเหมือนลูก บางอย่างซื้อดีกว่าลูกด้วยซ้ำ”
เฮียฮ้อเสริมอีกว่า เชื่อว่าอาหารสัตว์จะทำให้เรามีแต้มต่อได้ เพราะเป็นเรื่องของ Emotional ใช้ Storytelling ให้เหมาะสม ยิ่งตอนนี้เป็นเทรนด์ของสังคมอีกด้วย ซึ่งอาหารสัตว์ในตลาดมีหลายกลุ่ม แต่ของไลฟ์สตาร์จะอยู่ในกลุ่มไฮเอนด์ มีทีมคิดสูตรเป็นของตัวเอง คาดว่าจะวางจำหน่ายช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้
เบื้องหลังการปลุกชีพธุรกิจ “เพลง”
อีกหนึ่งไฮไลท์ของแผนธุรกิจในปีนี้ของ RS ก็คือ การที่กลับมาปัดฝุ่น “ธุรกิจเพลง” อีกครั้ง หลังจากที่ห่างหายไปนาน เพราะ RS โฟกัสกับธุรกิจสื่อ และคอมเมิร์ซ
RS Music ในปีนี้จะกลับมาเต็มรูปแบบด้วย 3 ค่ายเพลง RSIAM, Kamikaze และ RoseSound ทั้งหมดเป็นค่ายดั้งเดิมที่เคยมี แต่ศิลปินใหม่ทั้งหมด แต่มาพร้อมกับโมเดลธุรกิจใหม่ ไม่ใช่แค่งานเพลงอย่างเดียว ศิลปินจะต้องขายของได้ด้วย! จะเริ่มเปิดตัวในเดือนตุลาคม
สุกฤช สุขสกุลวัฒน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจเพลง บอกว่า
“ความท้าทายครั้งสำคัญของธุรกิจเพลง คือ การปรับตัวเพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่แตกต่าง เพลงเป็นแค่เครื่องมือหนึ่ง แต่สิ่งที่จะสร้างและต่อยอดธุรกิจได้คือ สตาร์ ที่มีตัวตน มีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจน และมีฐานแฟนคลับ ซึ่งทั้งหมดจะถูกเชื่อมโยงกับโมเดลธุรกิจใหม่ Music Star Commerce จากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ศิลปิน และสอดคล้องกับธุรกิจของอาร์เอส กรุ๊ป”
ถ้าถามว่าทำไมในปีนี้ถึงเป็นจังหวะที่ RS จะกลับมารุกธุรกิจเพลงอีกครั้ง เฮียฮ้อบอกแค่ว่า วันนี้มี Business Model รองรับนั่นเอง
“หัวใจสำคัญของกลยุทธ์ RS รู้ว่าเมื่อไหร่ควรทำ ควรหยุด ควรช้า ควรเร็ว จังหวะในการทำธุรกิจคือสิ่งสำคัญ โตได้โต โตไม่ได้อย่าฝืน มาทำช่วงที่กลับมาได้ เราปรับตัวในธุรกิจเพลงตลอด สร้างโมเดลใหม่ๆ ทำให้ยังมีรายได้ ตอนนี้ทรานฟอร์มจนคอมเมิร์ซเป็นธุรกิจใหญ่ การกลับมารุกธุรกิจเพลงอีกครั้ง เอาค่าย RoseSound ค่ายเพลงแรกในชีวิตกลับมา เพราะวันที่มี Business Model พร้อมรองรับ ต้องต่อยอดกับโมเดลคอมเมิร์ซได้ เรามีต้นน้ำถึงปลายน้ำพร้อม”
เฮียฮ้อบอกว่าแต่เดิมโมเดลธุรกิจเพลงของ RS จะเป็นการวางตัวเป็นมาร์เก็ตติ้ง นั่นคือให้ศิลปินออกเงินเอง แต่ทางค่ายเป็นคนทำการตลาดให้ หรือมีหน้าที่ซัพพอร์ต แต่ตอนนี้มีธุรกิจคอมเมิร์ซ ไม่เลือกแค่ร้องดีมีคุณภาพ แต่ต้องต่อยอดคอมเมิร์ซได้ ขึ้นอยู่กับศักยภาพของศิลปิน เป็นพาร์ทเนอร์ เจ้าของแบรนด์ได้
ในปี 2562 RS มีรายได้รวม 3,200 ล้านบาท ในปีนี้ตั้งเป้ารายได้ที่ 4,200 ล้านบาท มีการปรับลดแผนจากเดิมที่วางไว้ที่ 5,000 ล้านบาทเพราะวิกฤต COVID-19
แบ่งสัดส่วนรายได้ธุรกิจคอมเมิร์ซ 65% ทีวี 20% วิทยุ 10 และเพลง 5%
เฮียฮ้อตั้งเป้ารายได้ไปถึง 10,000 ล้านบาท แต่ยังไม่บอกว่าภายในกี่ปี แต่ที่แน่ๆ คอมเมิร์ซยังเป็นธุรกิจใหญ่ที่จะยังคงมีสัดส่วนถึง 80%