‘ดีแทค’ พาแกะรอย ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ พร้อมปักหมุด ‘Zero Landfill’ ในปี 2565

หากใครมีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่พังเสียหาย หากไม่ทิ้งลงถังขยะทันทีก็อาจจะรอ ‘ซาเล้ง’ มาซื้อ ซึ่งข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อมพบว่าผู้บริโภคที่ขายให้ซาเล้งหรือผู้รับซื้อของเก่าคิดเป็นกว่า 50% เลยทีเดียว แน่นอนว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้มีวิธีการกำจัดอย่างถูกวิธี แต่แค่แกะของที่มีค่าเพื่อเอาไปขายอีกทอด ส่วนอย่างอื่นก็จัดการเผาไม่ก็ฝัง ซึ่งจะก่อปัญหามลพิษต่อโลก และกลับมาส่งผลต่อสุขภาพอนามัยทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของเราอีกทอด ดังนั้น ‘ดีแทค’ (Dtac) จึงจะพาไปดูว่าการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีไม่ได้ช่วยแค่โลก แต่ยังสามารถนำไปต่อยอดสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ได้อีกด้วย

เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นมากกว่าเทรนด์

ในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ นักลงทุนให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ตอนนี้เขาเลิกถามเรื่องกลยุทธ์ทางการตลาด แต่สิ่งที่ออนท็อปและสร้างความแตกต่างก็คือ การทำด้านความยั่งยืน ซึ่งเป็นเทรนด์อย่างชัดเจน จนตอนนี้กลายมาเป็นเรื่องพื้นฐาน

โดยในปี 2562 ขยะอิเล็กทรอนิกส์แค่เฉพาะของดีแทคในด้านชิ้นส่วนโครงข่ายก็สร้างขยะกว่า 167,255 ชิ้น หรือคิดเป็น 79% ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดที่เก็บได้ ส่วนอีก 21% หรือประมาณ 46,221 ชิ้น มาจากผู้ใช้งานทั่วไปที่มาทิ้งกับดีแทคผ่านโครงการ ‘ทิ้งให้ดี ทิ้งที่ดีแทค’ นอกจากนี้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มาจากหน่วยงานภายในดีแทค ทั้งจากศูนย์บริการดีแทคและสำนักงาน หากยังมีสภาพดี ก็จะนำกลับมาใช้ซ้ำ ส่วนที่เสื่อมสภาพถาวรแล้ว ก็จะเข้ากระบวนการกำจัดและรีไซเคิลต่อไป

ต้องยอมรับว่า โอเปอเรเตอร์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพราะแค่ยอดขายสมาร์ทโฟนในแต่ละปีก็มากกว่า 5 แสนเครื่อง ยังไม่รวมอุปกรณ์โครงข่าย ดังนั้นเราจึงเริ่มทำเรื่องการนำมือถือของผู้บริโภคไปกำจัดอย่างถูกวิธีตั้งแต่ปี 2555” นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอคเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าว

นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอคเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

ไม่ใช่แค่ใครก็ได้ แต่ต้องมีมาตรฐาน

กิจการที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดหรือรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีใบรับรองมาตรฐาน NIST 800-88R1 ซึ่งเป็นมาตรฐานการกำจัดข้อมูลต่าง ๆ ที่ยังอาจคงค้างอยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กันมากที่สุดทั่วโลก โดยดีแทคมีหน่วยงานกำกับดูแลห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Sustainability Management) ทำหน้าที่ตรวจประเมินบริษัทผู้ให้บริการรีไซเคิลเหล่านี้เป็นประจำทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทผู้ให้บริการที่ได้รับคัดเลือกมานี้ยังคงรักษามาตรฐานกระบวนการรีไซเคิล มีการพัฒนาระบบการทำงานและเทคโนโลยีอยู่เสมอ

ที่ผ่านมา ดีแทคทำงานร่วมกับ ทส’ ผู้นำระดับโลกในเรื่องของการจัดการรีไซเิลขยะอิเล็กทรอนิกส์มานาน 8 ปี เมื่อเทสรับซากโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ มายังโรงงานแล้ว เทสจะทำการตรวจนับและชั่งน้ำหนัก เพื่อรายงานจำนวนและน้ำหนักและสถานที่รับเพื่อแจ้งให้ดีแทคทราบและยืนยันว่าได้รับอุปกรณ์เป็นที่เรียบร้อย จากนั้นจะนำเข้าพื้นที่จัดเก็บและจะทำการคัดแยกวัสดุตามประเภทหลัก ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่ หูฟัง สายชาร์จแบตเตอรี่ พาวเวอร์แบงค์ เป็นต้น เพื่อนำวัสดุหลักดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการแกะแยก

หลังการแกะแยกจะทำการบรรจุวัสดุตามแต่ละประเภท วัสดุทั้งหมดจะถูกนำส่งออกไปยังโรงงานของเทสที่สิงคโปร์ เพื่อทำลายหน่วยความจำในเครื่อง และสกัดเป็นโลหะมีค่า ได้แก่ ทองคำ ทองแดง พาลาเดียม เหล็ก อะลูมิเนียม ลิเทียม และวัสดุประเภทพลาสติก เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าใหม่ต่อไป ทั้งนี้ 96-98% ของขยะทั้งหมดที่ดีแทคเก็บได้สามารถนำเข้าสู่กระบวนกำจัดที่ถูกต้อง เพื่อช่วยลดการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด

“ปัญหาของไทยตอนนี้คือ ผู้ให้บริการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานยังมีน้อย ดังนั้นนี่อาจเป็นโอกาสสู่กิจกรรมใหม่ทางเศรษฐกิจ เพราะวัสดุบางอย่างใช้หมดเเล้วหมดเลย อย่างพวกลิเทียม ซึ่งบางประเทศใช้เป็นอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ”

เป้าหมาย Zero Landfill และนำรายได้ต่อยอดความยั่งยืน

ที่ผ่านมา ในส่วนของการรีไซเคิลมือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากฝั่งผู้ใช้งานทั่วไป ดีแทคสามารถรีไซเคิลโดยไม่ทิ้งเศษซากขยะเป็นขยะฝังกลบเลย หรือ Zero Landfill ตั้งแต่ปี 2555 แต่ในส่วนของขยะจากโครงข่ายดีแทควางเป้าหมายว่าจะไม่ฝังกลบเลยในปี 2565 นอกจากนี้ ดีแทคจะนำรายได้ที่กลับมาจากการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 1 ล้านบาท มาร่วมกับหน่วยงานที่สนใจเพื่อตั้งกองทุนพัฒนา (Innovation Fund) ต่อไป จากก่อนหน้านี้นำเงินไปบริจาคให้แก่มูลนิธิต่าง ๆ

ทั้งนี้ ดีแทคตั้งเป้าที่จะเก็บขยะจากฝั่งผู้ใช้งานทั่วไปไม่ต่ำกว่า 50,000 ชิ้นในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ที่สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี การเปลี่ยนสมาร์ทโฟนใหม่ก็จะน้อยลง อายุการใช้งานก็จะนานขึ้นจาก 2 เป็น 3 ปี ขณะที่อุปสรรคและความท้าทายในระยะยาวยังอยู่ที่ความเข้าใจของ ‘ผู้บริโภค’ เพราะเขามองว่าทิ้งกับซาเล้งยังได้เงินบ้าง แต่เอามาทิ้งเปล่า ๆ กับดีแทคไม่ได้อะไร

“เราต้องแข่งกับซาเล้งและความเข้าใจของผู้บริโภค เพราะเขามักตั้งคำถามว่าทิ้งกับซาเล้งแล้วได้เงิน ทิ้งกับเราแล้วได้อะไร ดังนั้นเราจึงต้องทำให้เขาเห็นว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปทิ้งอย่างถูกวิธีแล้วมีประโยชน์อะไร และเอาไปทำไปต่อยอดอะไรได้อีกบ้าง”