AISยกระดับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วย Blockchain บนแพลตฟอร์ม E-Waste+ เป็นรายแรกในอาเซียน


เมื่อปัญหาโลกร้อน ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม กลายเป็นหัวข้อใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ หลายองค์กรต่างมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องความยั่งยืน หรือกำหนดเป็นนโยบายใหญ่เลยก็มี เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกัน ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

AIS เป็นหนึ่งในองค์กรยักษ์ใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและ Sustainability มาโดยตลอด เรียกว่าให้ความสำคัญควบคู่กันไปทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในภาคส่วนของสิ่งแวดล้อมนั้น ทาง AIS ได้โฟกัสทั้งในแง่ของ Emission ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคธุรกิจให้ได้มากที่สุด รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการช่วยสิ่งแวดล้อม ทั้งการใช้ e-Bill การส่งเสริมการใช้แอปพลิเคชั่น เพื่อลดการใช้กระดาษ และลดทราฟิกของลูกค้าในการเดินทางมาที่สาขา เป็นการลดขยะ และลดค่าน้ำมันได้พร้อมๆ กัน

นอกจากนี้ AIS ยังได้เริ่มพัฒนาอีโคซิสเท็มในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่ปี 2562 ภายใต้ภารกิจ “คนไทยไร้ E-Waste” เรียกว่าเป็นองค์กรอันดับต้นๆ ที่ตื่นตัวในเรื่องการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ก็ว่าได้

โครงการนี้เป็นการการรับรู้ให้คนไทยต่อขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ครอบคลุมตั้งแต่สร้างองค์ความรู้ให้เห็นถึงผลกระทบจากการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกวิธี ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนในการสร้างความตระหนักรู้ในการทิ้งขยะ และเปิดจุดบริการฝากทิ้งทั่วประเทศ เพื่อเป็นการรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่การกำจัดอย่างถูกวิธี รวมไปถึงกระบวนการรีไซเคิลแบบ Zero Landfill ตามมาตรฐานสากล เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมาโครงการคนไทยไร้ E-Waste มีพาร์ทเนอร์ทั้งหมด 142 ราย มีจุดดร็อปให้ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ 2,484 จุด และมีจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสิ้น 397,376 ชิ้น

ถ้าเปรียบโครงการคนไทยไร้ E-Waste อยู่ในเฟสที่ 1 ในปีนี้ AIS ก็พร้อมยกระดับเข้าสู่เฟสที่ 2 ด้วยแพลตฟอร์ม E-Waste+ พร้อมกับการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาพัฒนากระบวนการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ ตั้งแต่ผู้ทิ้งจนถึงโรงงานรีไซเคิล เพื่อให้ทุกคนสามารถจัดการขยะ E-Waste ได้ง่ายขึ้น เห็นผลลัพธ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บนแพลตฟอร์ม E-Waste+ ที่สำคัญแพลตฟอร์มนี้ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มนำร่องกับ 6 องค์กรพันธมิตร

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า

“จากสถานการณ์โลกที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในทุกภาคส่วน สิ่งที่ตามมาคือ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานดิจิทัลก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ดังนั้นเราจึงทำหน้าที่ 2 ส่วนคือ สร้างการรับรู้และตระหนักถึงโทษภัยของขยะ E-Waste ในขณะเดียวกันก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการจัดเก็บและทำลาย E-Waste อย่างถูกวิธี ทั้งการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ตั้งจุดรับทิ้งและนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล

และเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในวงกว้างมากขึ้น เราจึงขยายผลไปอีกขั้นด้วยการ Redesign Ecosystem เพื่อให้องค์กรต่างๆ สามารถลงมือบริหารจัดการ E-Waste ในองค์กรเองได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านเครือข่ายพนักงานและลูกค้าของแต่ละองค์กร เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการนำขยะ E-Waste กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐาน ผ่านแพลตฟอร์ม E-Waste+ โดยเทคโนโลยี Blockchain จะทำงานผ่านกระบวนการ Track and Trace ทำให้ขยะ E-waste ทุกชิ้น สามารถตรวจสอบสถานะได้ทั้งกระบวนการ จากนั้นจะคำนวณขยะ E-Waste ที่ได้ออกมาเป็น Carbon Scores เพื่อให้ทราบว่าเราช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่”

ถ้าให้อธิบายให้เห็นภาพยิ่งขึ้น ก็คือ ในเฟสที่ 1 โครงการคนไทยไร้ E-Waste เป็นการตั้งจุดทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงจุดทิ้งได้ง่ายขึ้น และเริ่มตระหนักถึงการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ จากเดิมที่ไม่มีเจ้าภาพ หรือไม่มีใครที่ให้ความรู้ในด้านนี้อย่างจริงจัง

แต่ในเฟสที่ 1 ก็มี Pain Point หลายจุด ที่ทำให้การกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ก็คือ เมื่อเป็นจุดที่ตั้งทิ้งเฉยๆ ทำให้ผู้บริโภคทิ้งขยะอื่นๆ ลงไป แทนที่จะมีแค่ขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเดียว แต่ในเฟส 2 เป็นเวอร์ชั่นอัพเกรด ถ้าในภาษาวัยรุ่นต้องบอกว่า “แบบใหม่แบบสับ” เมื่อเรานำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปทิ้งแล้วสามารถแทร็คกิ้งแบบเรียลไทม์ได้ว่าตอนนี้ขยะอยู่ในกระบวนการใดและเปลี่ยนเป็นคาร์บอนสกอร์เท่าไหร่ทำให้ผู้บริโภคได้ทราบว่าตนเองมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณเท่าไหร่บ้าง

นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS เล่าว่า

“แพลตฟอร์ม E-Waste + เป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้แก้ปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม โดยเทคโนโลยี Blockchain จะช่วยทำให้ผู้ทิ้งมั่นใจว่าขยะ E-Waste จะถูกนำส่งไปยังกระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานและโปร่งใส สามารถตรวจสอบสถานะของกระบวนการนำส่งได้ในแต่ละขั้นตอน และนอกเหนือจากนั้นยังสามารถคำนวณปริมาณ Carbon Scores ซึ่งเป็นเครื่องบ่งบอกถึงการลงมือทำในกิจกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่สามารถแชร์ในโซเชียลและแสดงตัวตนในโลก Metaverse ได้”

อราคินยังกล่าวเสริมอีกว่า โดยปกติแล้วประเทศไทยมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 4 แสนตัน แต่มีการจัดเก็บอย่างถูกต้องเพียงแค่ 1% เท่านั้น แต่เดิมการตั้งที่ให้คนทิ้งเฉยๆ อย่างเดียวไม่ค่อยได้ผล ต้องมีการให้ความรู้ผู้บริโภค ควบคู่กับการสร้าง Incentive ไปด้วย

โดย AIS ยังมีแผนพัฒนาให้คาร์บอนสกอร์ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการขยะ E-Waste อย่างถูกต้อง นำไปใช้เป็น Utility Token ที่จะช่วยต่อยอดธุรกิจให้กับองค์กรพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการนี้อีกด้วย แรกเริ่มอาจจะเริ่มจากการเปลี่ยนคาร์บอนสกอร์ เป็น AIS Point ก่อน จากนั้นจะเริ่มเปลี่ยนเป็น Utility Token อื่นๆ ที่สามารถใช้ได้สำหรับผู้บริโภคทุกคน ไม่ได้จำกัดแค่ลูกค้า AIS อย่างเดียว

เบื้องต้น AIS ได้ร่วมทำงานกับพันธมิตรเครือข่าย Green Partnership ทั้ง 6 องค์กร ประกอบไปด้วย บริษัท เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย จำกัด, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บริษัท เงินติดล้อ จำกัด, ธนาคารออมสิน และธนาคารกสิกรไทย ที่จะเข้ามาเริ่มใช้แพลตฟอร์ม E-Waste+ เพื่อส่งต่อการดูแลสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปยังบุคลากรในองค์กรและสังคม

สายชลยังได้เสริมถึงการเป็นพันธมิตรของทั้ง 6 องค์กรนี้ว่า เป็น “อารีย์ คอมมูนิตี้” เริ่มต้นจากองค์กรที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเส้นถนนพหลโยธินก่อน เป็นย่านเดียวกันกับ AIS นั้นเอง ทั้งธนาคารออมสิน, ธนาคารกสิกรไทย, เด็นโซ่, เงินติดล้อ ล้วนมีสำนักงานอยู่ในระแวกเดียวกัน ย่านอารีย์นี้จึงกลายเป็นแซนด์บ็อกซ์ในการนำร่องโครงการนี้ ก่อนจะขยายไปยังที่อื่น

ความสำคัญอีกหนึ่งสิ่งของแพลตฟอร์ม E-Waste+ ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ AIS ที่ต้องการยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาบูรณาการได้อย่างตรงจุด สามารถสร้างระบบการจัดการ E-Waste แบบใหม่ได้ด้วย Blockchain เป็นการกาวข้ามขีดจำกัดแบบเดิมๆ พร้อมกันนี้ยังได้ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ เป็นการร่วมแรงร่วมใจในการช่วยจำกัดขยะอิเล็คทรอนิกส์ได้อย่างยั่งยืน

“แพลตฟอร์ม E-Waste+เปิดตัวเป็นครั้งแรกในอาเซียนสามารถเอาจุดแข็งของโครงข่ายอัจฉริยะของ AISและเอาเทคโนBlockchainมาพัฒนาเพื่อบริหารจัดการให้ดีขึ้นจึงอยากให้มีหลายองค์กรมาร่วมมือกันมากขึ้นไม่ใช่การเพิ่มจำนวนขยะแต่ช่วยสร้างการรับรู้ช่วยกันเปลี่ยนพฤติกรรมเชื่อว่าทุกองค์กรมีเป้าหมายด้านยุทธศาสตร์ความยั่งยืนทุกองค์กรพูดเรื่อง ESGแต่เวลาลงมือทำจะทำคนเดียวไม่ได้ต้องทำร่วมกันถึงจะประสบความสำเร็จ” สายชลกล่าวทิ้งท้าย

สำหรับองค์กรใดสนใจใช้งาน แพลตฟอร์ม E-Waste+ เข้าร่วมเป็นเครือข่าย Green Partnership สามารถติดต่อได้ที่ e-mail: aissustainability@ais.co.th หรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง https://ewastethailand.com/ewasteplus

กระบวนการทำงานของ E-Waste+

  • E-Waste+ สามารถดาวน์โหลดรองรับทุกเครือข่ายและทั้งระบบ Android และ IOS โดยกดค้นหาคำว่า “E-Waste+” เพื่อดาวน์โหลด หลังจากนั้นลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกผู้รักษ์โลก โดยกรอกชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์มือถือ และตั้งรหัสผ่าน หลังจากนั้นเข้าสู่ระบบ (โดยสามารถลงทะเบียนได้ทุกเครือข่าย)สามารถโหลดแอปE-Waste+ ได้ทาง https://m.ais.co.th/ApH8dgAi8
  • การทำงานของทั้งระบบจะใช้เพียง Application เดียว ลงทะเบียนและนำขยะ E-Waste มาทิ้งที่จุดรับ E-Waste+ โดยมีเจ้าหน้าที่ในการรับขยะ E-Waste ถ่ายภาพและใส่ข้อมูล ระบบก็จะบันทึกการทิ้งขยะ โดยผู้ใช้งานก็จะเห็นได้ว่าขณะนี้ E-Waste ของคุณอยู่ในขั้นตอนไหน
  • เมื่อขยะ E-Waste ที่ถูกรวบรวมถึงโรงงานแยกขยะ จะทำการตรวจสอบเมื่อพบว่ามีขยะดังกล่าวจริงก็จะยืนยัน และแสดงผลลัพธ์การส่งขยะเสร็จสมบูรณ์ถึงโรงงานที่ได้มาตราฐานเพื่อทำการจัดการอย่างถูกวิธีแก่ผู้ทิ้งขยะจนออกมาเป็น Carbon Score

ประเภทของที่รับในการทิ้งผ่านแอปพลิเคชันE-Waste+

  • โทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต
  • อุปกรณ์เสริมมือถือ และแท็บเล็ตเช่นหูฟัง, ลำโพง, สายชาร์จ, อะแดปเตอร์
  • ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์เช่น คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก, เมาส์, คีย์บอร์ด, ฮาร์ดดิส, ลำโพง
  • อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กอื่นๆ เช่น กล้องถ่ายรูป, เครื่องเล่นดีวีดี, จอยเกมส์, วิทยุสื่อสาร, เครื่องคิดเลข, โทรศัพท์บ้าน, รีโมทคอนโทรล, เครื่องเล่น MP3 เป็นต้น

ยกเว้น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่, พาวเวอร์แบงค์, ถ่านไฟฉายทุกประเภท