Fitbit ออกจำหน่ายสมาร์ตวอชต์เชิงพาณิชย์รุ่นแรกของโลกที่สามารถติดตามระดับ “ความเครียด” ของผู้ใช้ได้ ผ่านเซ็นเซอร์ล้ำสมัยเรียกว่า EDA ในอีกมุมหนึ่ง เทคโนโลยีนี้ทำให้เกิดความกังวลหากมีการนำมาใช้ในที่ทำงาน อาจทำให้ความเป็นส่วนตัวของพนักงานสูญเสียไป
Fitbit Sense สมาร์ตวอชต์ใหม่ล่าสุดเพิ่งจะเปิดตัวในสัปดาห์นี้ โดยเครื่องมือนี้มีการบรรจุเซ็นเซอร์ EDA (Electrodermal Activity) ติดตั้งเข้าไปด้วย ทำให้สามารถติดตามระดับความเครียดของผู้ใช้ อ่านค่าจากระดับ 1-100 แสดงบนนาฬิกาและแอปพลิเคชันที่เชื่อมต่อได้เลย
หลักการทำงานของ EDA คือ ผู้ใช้วางฝ่ามือลงบนหน้าปัดของเครื่อง เครื่องจะวัดปฏิกิริยาการตอบสนองต่อกระแสไฟฟ้าในระดับชั้นเหงื่อของผิวหนัง เมื่อวิเคราะห์ออกมาแล้ว หากอยู่ในระดับที่มีความเครียด Fitbit จะแนะนำการบริหารจัดการความเครียดด้วยวิธีต่างๆ เช่น ฝึกหายใจ ฝึกสมาธิ นอนให้เร็วขึ้น และเป็นดัชนีชี้วัดให้ผู้ใช้ตัดสินใจได้ว่าตนเองควรลุยโปรเจกต์งานใหม่ๆ หรือพักก่อน
ในประเทศไทย Fitbit Sense จะจำหน่ายในราคา 11,990 บาท ทั้งนี้ สมาร์ตวอชต์ตัวใหม่ของบริษัทรุ่นนี้ถือเป็นการกรุยทางไปสู่อุตสาหกรรมเวลเนสที่ได้รับความนิยมสูงในยุคนี้
จะใช้ได้จริงหรือไม่?
สมาร์ตวอชต์แต่ละแบรนด์กำลังแข่งขันกันเพิ่มความสามารถในเชิงการแพทย์ โดย อเดล เลายู ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท NeuTigers บริษัทด้านแมชชีนเลิร์นนิ่ง ให้ความเห็นกับ Business Insider ว่า ด้วยเทคโนโลยีเซ็นเซอร์และแมชชีน เลิร์นนิ่งที่ล้ำสมัยขึ้นจะทำให้สมาร์ตวอชต์สามารถตรวจหาโรคได้หลายพันโรคในอนาคต
NeuTigers เองเป็นผู้นำในการวิจัยด้านนี้ โดยมีการพัฒนางานวิจัยเชิงคลินิกเพื่อพิสูจน์คอนเซ็ปต์ว่าแมชชีนเลิร์นนิ่งและเซ็นเซอร์เหล่านี้สามารถวินิจฉัยโรคอย่างโรคเบาหวาน ซึมเศร้า จิตเภท และไบโพลาร์ได้จริง
อย่างไรก็ตาม เลายูชี้ให้เห็นว่า NeuTigers ร่วมกับสถาบัน MIT พัฒนาเซ็นเซอร์ในระดับงานวิจัยได้สำเร็จก็จริง แต่ไม่แน่ใจว่าเซ็นเซอร์ EDA ของ Fitbit มีการผ่านการพิสูจน์วิจัยทางคลินิกหรือยัง “การนำเซ็นเซอร์ไปติดตั้งในสมาร์ตวอตช์เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การสาธิตให้เห็นว่าสมาร์ตวอชต์นั้นอยู่ในระดับที่ใช้ได้จริงทางการแพทย์คืออีกเรื่องหนึ่งเลย”
ถึงอย่างนั้นก็ตาม ความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ของเซ็นเซอร์ EDA ก็มีสูงมาก เพราะที่ผ่านมานักวิจัยก็ใช้เซ็นเซอร์นี้วัดระดับทางอารมณ์ เช่น ความกลัว ความโกรธ ความสุข ความประหลาดใจ ได้อย่างแม่นยำ
ความเป็นส่วนตัวของพนักงานอาจลดลง?
ศักยภาพในการวินิจฉัยโรคของสมาร์ตวอชต์ ในอีกมุมหนึ่งก็ทำให้เกิดความกังวลด้านความเป็นส่วนตัวด้วย เพราะบริษัทใหญ่อย่าง Apple และ Fitbit (ซึ่งบริษัท Google เข้าซื้อไปด้วยเม็ดเงิน 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปี 2562) ต่างก็ออกโปรแกรมสมาร์ตวอชต์ให้กับองค์กรต่างๆ เพื่อสนับสนุนเรื่องสุขภาพในที่ทำงาน โปรแกรมเหล่านี้พยายามจูงใจถึงผลประโยชน์แบบวิน-วินของบริษัทกับพนักงาน เพราะบริษัทจะได้บุคลากรที่สุขภาพดีขึ้น ทำงานได้ดีขึ้น ส่วนพนักงานก็จะมีโปรแกรมดูแลสุขภาพแบบเฉพาะรายบุคคล
แต่โปรแกรมเหล่านี้ก็ทำให้เกิดข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัว ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้ Fitbit มีโปรแกรมชื่อ Ready for Work เพื่อใช้ตรวจสอบว่าพนักงานมีแนวโน้มจะติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือไม่ และข้อมูลพนักงานจะถูกส่งตรงไปที่ผู้ว่าจ้าง
เมื่อสมาร์ตวอชต์สามารถวิเคราะห์ได้ถึงขั้นสุขภาพใจของพนักงาน ผสมกับโปรแกรมของบริษัทเทคโนโลยีที่จับมือกับองค์กรโดยตรง หากไม่มีการป้องกัน ต่อไปองค์กรอาจจะสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของพนักงานทั้งร่างกายไปถึงจิตใจก็ได้