“ศักดิ์สยาม” ปิ๊งไอเดีย สั่ง ทล.ปรับผังจุดพักรถ ผุดอาคารลอยฟ้าคร่อม “มอเตอร์เวย์” ใช้พื้นที่ด้านบนเชิงพาณิชย์ ส่วนด้านล่างเป็นที่จอดรถทั้งหมด มีทางเชื่อมสองฝั่งให้ผู้ใช้ทางทั้งขาเข้า-ขาออกสะดวก เผยโมเดลเกาหลีลดต้นทุนเพิ่มยอดขาย
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงโครงการก่อสร้างจุดพักรถมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวง (ทล.) ว่าได้ให้นโยบายกรมทางหลวงว่าให้นำนวัตกรรมจากต่างประเทศ เช่น เกาหลีมาปรับใช้ เพื่อเกิดประโยชน์ในการพัฒนาและให้บริการสูงสุด เดิมจะมีพื้นที่จอดรถและพื้นที่ร้านค้าเพื่ออำนวยความสะดวกนั้น เห็นว่าควรจะใช้พื้นที่ทั้งหมดเป็นที่จอดรถ ส่วนพื้นที่ร้านค้านั้นให้ก่อสร้างเป็นอาคารคร่อมบนมอเตอร์เวย์ แล้วใช้พื้นที่ด้านบนทั้งหมดเป็นเชิงพาณิชย์
รูปแบบดังกล่าวจะทำให้มีพื้นที่สำหรับจอดรถมากขึ้น ในขณะที่ร้านค้าจะสามารถขายสินค้าได้มากขึ้น เพราะจะมีทางขึ้นลงเชื่อมทั้งสองฝั่งของมอเตอร์เวย์ ผู้ใช้ทางจากทั้งสองฝั่งจะสามารถเดินขึ้นไปบนพื้นที่ร้านค้าได้ ซึ่งที่ประเทศเกาหลีให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) ระยะเวลา 25 ปี (รวมเวลาก่อสร้างด้วย) หากใช้เวลาก่อสร้างนานเอกชนจะมีเวลาเหลือเพื่อเก็บรายได้น้อยลง หากก่อสร้างเร็วก็มีเวลาเหลือมาก
“ผมได้ให้นโยบายอธิบดีกรมทางหลวงใช้แนวคิดโมเดลนี้ในทุกจุดที่จะทำ PPP จุดพักรถ ขึ้นกับพื้นที่ของแต่ละแห่ง ส่วนระยะเวลาสัญญาร่วมทุนอยู่ที่ความคุ้มค่า แต่รูปแบบนี้จะทำให้มีพื้นที่จอดรถเพิ่ม ส่วนร้านค้าให้ไปอยู่บนอาคารทั้งหมด อาจจะก่อสร้างเป็นอาคาร 3 ชั้น มีทางเชื่อมกับสองฝั่งมอเตอร์เวย์ ทั้งขาเข้าและขาออก ซื้อของได้หมด ผู้ประกอบการประหยัดการลงทุน ร้านค้าขายของได้มากขึ้นแน่นอน”
สำหรับโครงการก่อสร้างจุดพักรถมอเตอร์เวย์นั้น กรมทางหลวงได้สรุปการร่วมลงทุนเอกชน (PPP) นำร่องที่มอเตอร์เวย์สาย 7 ช่วงชลบุรี-พัทยา โดยแบ่ง 2 สัญญา เป็นบริการทางหลวงขนาดใหญ่ (Service center) คือ สัญญาจุดพักรถที่ศรีราชา บริเวณ กม.95 ทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งละประมาณ 50 ไร่ และสัญญาจุดพักรถที่บางละมุง บริเวณ กม.140 ซึ่งศึกษาเสร็จแล้ว เตรียมสรุปข้อมูลเสนอกระทรวงคมนาคม
เนื่องจากเป็นโครงการลงทุนที่มีมูลค่าไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ตามขั้นตอน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ ปี 2562 จะต้องเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) พิจารณา ซึ่งคาดว่าจะได้รับอนุมัติ และจัดทำทีโออาร์ประกาศเชิญชวนได้ต้นปี 2564
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประมูลนั้นทีโออาร์จะกำหนดจุดที่ตั้ง ขนาดพื้นที่ และกิจกรรมในการพัฒนา และให้เอกชนนำเสนอรูปแบบพัฒนา ขณะที่แนวคิดการทำอาคารคร่อมมอเตอร์เวย์สองฝั่งเพื่อใช้เป็นพื้นที่ร้านค้านั้นอาจจะทำไม่ได้ทุกแห่ง เนื่องจากบางแห่งจุดพักรถสองฝั่งอยู่ไม่ตรงกัน
สำหรับที่พักริมทางนั้นมี 3 รูปแบบ คือ จุดพักรถ (Rest Stop) พื้นที่ประมาณ 15 ไร่, สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) พื้นที่ประมาณ 20 ไร่ และศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) พื้นที่ประมาณ 50 ไร่ ซึ่งจะเปิดให้เอกชนร่วม PPP net cost ระยะเวลา 20-30 ปี
โดยมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา มีทั้งสิ้น 8 แห่ง ประกอบด้วย จุดพักรถจำนวน 5 แห่ง (วังน้อย หนองแค ทับกวาง ลำตะคอง ขามทะเลสอ) สถานที่บริการทางหลวง จำนวน 2 แห่ง (สระบุรี สีคิ้ว) ศูนย์บริการทางหลวง จำนวน 1 แห่ง (ปากช่อง), สายบางใหญ่-กาญจนบุรี มีทั้งสิ้น 6 แห่ง ประกอบด้วย จุดพักรถ จำนวน 3 แห่ง (ทับช้าง ลาดกระบัง บ้านบึง) สถานที่บริการทางหลวง จำนวน 2 แห่ง (บางปะกง พัทยา-มาบตาพุด) ศูนย์บริการทางหลวง 1 แห่ง (ศรีราชา)