10 ประเทศที่ยังปลอด COVID-19 พวกเขาคือผู้ชนะท่ามกลางโรคระบาดหรือไม่?

ประเทศวานูอาตู ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตะวันออกของออสเตรเลีย (Photo : Pixabay)
COVID-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก ยกเว้น 10 ประเทศเหล่านี้ แต่พวกเขามีความเป็นอยู่อย่างไรบ้างในประเทศที่ “ปลอดเชื้อ” ไปฟังมุมมองที่ทั้งเหมือนและแตกต่างของกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกอย่าง ประเทศปาเลา หมู่เกาะมาร์แชล และวานูอาตู

The Palau เป็นโรงแรมที่เปิดมาตั้งแต่ปี 1982 ก่อนที่ธุรกิจท่องเที่ยวของ ประเทศปาเลา จะได้รับความนิยม แต่ตั้งแต่นั้นมา ประเทศเล็กจิ๋วแต่แวดล้อมด้วยน้ำทะเลสีฟ้าใสของมหาสมุทรแปซิฟิกแห่งนี้ ก็กลายเป็นจุดหมายยอดฮิตของนักเดินทาง

ในปี 2019 ประเทศปาเลามีนักท่องเที่ยวมาเยือนทั้งหมด 90,000 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรบนเกาะถึง 5 เท่า ข้อมูลจาก IMF ปี 2017 ยังพบว่า ภาคธุรกิจท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ของจีดีพีประเทศปาเลา

แต่นั่นคือภาพก่อนเกิดโรคระบาด COVID-19 ขึ้น

ชายแดนประเทศปาเลาต้องปิดรับคนต่างชาติตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม และกลายเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศของโลกที่ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโรคระบาด COVID-19 (นับเฉพาะประเทศที่เป็นสมาชิก UN และไม่นับประเทศเกาหลีเหนือกับเติร์กเมนิสถาน)

“10 ประเทศที่ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ COVID-19”
  • ปาเลา
  • ไมโครนีเซีย
  • หมู่เกาะมาร์แชล
  • นาอูรู
  • คิริบาตี
  • หมู่เกาะโซโลมอน
  • ตูวาลู
  • ซามัว
  • วานูอาตู
  • ตองกา

เศรษฐกิจ “ปาเลา” กำลังนับถอยหลัง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อแม้แต่รายเดียว ไวรัสโคโรนาก็ยังทำลายประเทศนี้ในเชิงเศรษฐกิจ

โรงแรม The Palau ต้องปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม และไม่ใช่แค่โรงแรมนี้โรงแรมเดียวที่ต้องปิดชั่วคราว บรรดาร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ก็ต้องปิดเช่นกัน ส่วนแขกที่เข้าพักในโรงแรมก็เหลือแต่ประชาชนของปาเลาที่ใช้โรงแรมเป็นสถานที่กักตัว

The Palau โรงแรมแห่งแรกของประเทศ กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต

“มหาสมุทรของที่นี่สวยกว่าที่อื่นในโลกมาก” ไบรอัน ลี ผู้จัดการและเจ้าของร่วมโรงแรม The Palau กล่าว ก่อนที่จะเกิดการระบาด โรงแรมขนาด 54 ห้องของเขามีอัตราเข้าพัก 70-80% แต่เมื่อประเทศถูกปิด เขาก็ไม่มีเบาะรองรับอื่นในการทำธุรกิจ

“ที่นี่เป็นประเทศเล็กๆ ดังนั้นคนท้องถิ่นจะไม่มาพักที่ The Palau หรอกครับ” ไบรอันกล่าว

เขามีพนักงานประมาณ 20 คนในโรงแรม และเขายังคงจ้างงานทุกคนแม้ว่าจะต้องลดชั่วโมงทำงานลง “ผมพยายามหางานให้พวกเขาทำ อย่างเช่นการซ่อมบำรุง รีโนเวต และอื่นๆ”

แต่โรงแรมที่ว่างเปล่าคงไม่สามารถรีโนเวตหรือซ่อมบำรุงอย่างเดียวไปตลอดกาลได้ “ผมอยู่อย่างนี้ได้อีกครึ่งปีเท่านั้น” ไบรอันกล่าว “หลังจากนั้นผมอาจจะต้องปิดโรงแรม”

หาดทรายขาวของปาเลา ประเทศทางตะวันออกของฟิลิปปินส์ บัดนี้ร้างไร้ผู้คนเนื่องจาก COVID-19 (Photo : Shutterstock)

เขาไม่โทษรัฐบาลที่ทำให้เกิดสถานการณ์นี้ เพราะรัฐได้ให้เงินช่วยเหลือแก่ประชาชนทุกคน และสำคัญที่สุดก็คือ สามารถป้องกันไม่ให้ไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดในประเทศได้

“ผมคิดว่าพวกเขาทำได้ดีแล้ว” เขากล่าว แต่ถ้าโรงแรมแห่งนี้จะรอดจากสถานการณ์วิกฤตไปได้ ก็คงต้องมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงเร็วๆ นี้

รัฐบาลปาเลาเพิ่งประกาศว่า เที่ยวบิน “ที่จำเป็น” จะสามารถบินเข้าออกประเทศได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้ และมีข่าวลือว่ารัฐบาลกำลังหารือเปิด “ระเบียงทางอากาศ” กับไต้หวัน เพื่ออนุญาตให้นักท่องเที่ยวจากไต้หวันเข้ามาท่องเที่ยว

สำหรับไบรอัน เขามองว่าการเปิดรับนักท่องเที่ยวควรเกิดขึ้นให้เร็วกว่านี้ “ผมคิดว่ารัฐต้องเริ่มเปิดประเทศอีกครั้งได้แล้ว อาจจะเริ่มจากมี Travel Bubble กับนิวซีแลนด์ หรือประเทศอื่นๆ ใกล้เคียง” เขากล่าว “ไม่เช่นนั้น จะไม่มีใครรอดเลยในประเทศนี้”

 

ไม่ใช่แค่ท่องเที่ยว การประมงก็ซบเซา

ห่างออกไปทางตะวันออกอีก 4,000 กิโลเมตร หมู่เกาะมาร์แชล ที่ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ไม่เพียงแต่ไร้ผู้ติดเชื้อเหมือนปาเลา แต่ยังเจอสถานการณ์เศรษฐกิจคล้ายๆ กัน

โรงแรม Robert Reimers ที่ตั้งอยู่บนหาดทะเลแหวก Majuro ฝั่งหนึ่งของโรงแรมเป็นสระน้ำใส อีกฝั่งหนึ่งคือมหาสมุทรก่อนเกิดโรคระบาด โรงแรมขนาด 37 ห้องนี้มีอัตราเข้าพัก 75-88% รับนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จากทวีปเอเชียแปซิฟิกและสหรัฐอเมริกา

แต่เมื่อต้องปิดพรมแดนในช่วงต้นเดือนมีนาคม อัตราเข้าพักก็ร่วงลงเหลือ 3-5% เท่านั้น “เรามีนักท่องเที่ยวบ้างจากเกาะรอบนอก แต่ก็ไม่มากนัก” โซเฟีย ฟาวเลอร์ ผู้บริหารเครือโรงแรมนี้กล่าว

มหาสมุทรสีเขียวสดของหมู่เกาะมาร์แชล แหล่งดำน้ำ ตกปลา (Photo : hotelrobertreimers.com)

ในระดับประเทศ หมู่เกาะมาร์แชลคาดการณ์ว่าจะมีคนตกงานเพิ่ม 700 คนจากโรคระบาด เป็นวิกฤตตลาดงานที่หนักที่สุดนับจากครั้งวิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997 ในจำนวนดังกล่าว 258 คนอยู่ในธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร

สำหรับหมู่เกาะมาร์แชลนั้นพึ่งพิงนักท่องเที่ยวน้อยกว่าปาเลา ดังนั้นการปิดประเทศจะส่งผลมากกว่าแค่ธุรกิจท่องเที่ยว กลายเป็นว่าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบยิ่งกว่าคืออุตสาหกรรมประมง

เนื่องจากรัฐต้องการทำให้ประเทศปลอดเชื้อ เรือลำใดที่เคยเดินทางไปยังประเทศที่มีผู้ติดเชื้อจะถูกแบนห้ามกลับเข้าท่าหมู่เกาะมาร์แชล คำสั่งนี้รวมถึงเรือน้ำมันและเรือคอนเทนเนอร์ด้วย ทุกลำจะต้องลอยลำกลางทะเลไป 14 วันก่อนจะได้กลับเข้าเทียบท่า

หมู่เกาะมาร์แชลนั้นโดดเด่นมากใน ตลาดปลาสวยงาม โดยมีปลายอดนิยมคือ “ปลาเปลวไฟสินสมุทร” แต่เมื่อมีคำสั่งแบนเรือเมื่อจะกลับเข้าท่า ทำให้ยอดส่งออกปลาสวยงามตกลง 50% นอกจากนี้ยังมีกลุ่มปลาทูน่าสำหรับทำปลาดิบ ยอดส่งออกตกลง 50% เช่นกัน ส่วนการประมงปลาประเภทอื่นๆ ตกลง 30%

โดยสรุปก็คือ ประเทศหนึ่งๆ อาจจะจำกัดไวรัสไม่ให้เข้าประเทศได้ แต่ถ้ายังเอาชนะไวรัสไม่ได้ ผลกระทบจาก COVID-19 จะส่งผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

โซเฟียหวังว่าสิ่งต่างๆ จะกลับสู่วิถีชีวิตปกติภายในปีหน้า แต่ถ้าหากไม่เกิดขึ้นดังหวังล่ะ? “ถ้าเช่นนั้น ธุรกิจคงไม่คุ้มค่าการลงทุนสำหรับเรา” เธอกล่าว

 

ความปลอดภัยสำคัญกว่าเศรษฐกิจ

แม้ว่าการปิดชายแดนจะทำให้ประเทศยากจนลง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการให้กลับมาเปิดประเทศ

ดร.เลน ตาริวอนดา ผู้อำนวยการด้านสาธารณสุขประเทศวานูอาตู ซึ่งมีประชากรทั้งหมด 300,000 คน โดยเขามีพื้นเพเป็นชาวเกาะอัมเบทางเหนือของประเทศ “ถ้าคุณคุยกับคนที่อัมเบ คนส่วนใหญ่จะบอกว่าให้ปิดประเทศไปนานที่สุดเท่าที่จะทำได้” เขากล่าว “พวกเขาจะบอกว่า ‘เราไม่ต้องการความเจ็บป่วย ถ้าไม่ทำอย่างนี้เราพังพินาศแน่'”

เนื่องจาก 80% ของประชากรวานูอาตูอาศัยอยู่นอกเมืองและห่างไกลจาก “ระบบเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ” นั่นเอง “จากการสังเกตของผมพบว่า พวกเขายังไม่รู้สึกถึงผลกระทบมาถึงตัว เพราะพวกเขาเป็นเกษตรกรพึ่งตนเอง พวกเขาผลิตอาหารเองได้ และยังพึ่งพิงระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมในท้องถิ่น” ดร.ตาริวอนดากล่าว

80% ของชาววานูอาตูยังมีระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม พึ่งพิงตนเอง (Photo : vanuatu.travel)

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ประเทศก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน โดย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่าจีดีพีของวานูอาตูจะตกลงเกือบ 10% ในปีนี้ และเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดนับจากปี 1980 ปีที่ประเทศประกาศเอกราช ทั้งนี้ จีดีพีที่ตกต่ำของวานูอาตูไม่ได้เกิดจาก COVID-19 เท่านั้น เพราะเมื่อเดือนเมษายนเกิดพายุไซโคลนฮาโรลด์พัดผ่านประเทศ สร้างหายนะครั้งใหญ่ให้หมู่เกาะ มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และประชากรมากกว่าครึ่งได้รับผลกระทบจากพายุ

ย้อนไปเมื่อเดือนกรกฎาคม รัฐบาลวานูอาตูประกาศแผนกลับมาเปิดชายแดนกับประเทศที่ปลอดภัย วันที่ 1 กันยายนนี้ แต่หลังจากทำแผน ประเทศใกล้เคียงอย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์กลับมีผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นอีกครั้ง ทำให้แผนเปิดประเทศถูกเลื่อนไป

ดร.ตาริวอนดา หนึ่งในสมาชิกคณะทำงานด้านพรมแดนร่วมกับรัฐบาล การท่องเที่ยว และบริษัทสายการบินต่างๆ ยอมรับว่าการเลื่อนแผนทำให้ประเทศ “เกือบจะกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่” เพราะยังไม่มีกำหนดวันที่เปิดพรมแดนใหม่เลย

วานูอาตูพึ่งพิงการท่องเที่ยวเป็นสัดส่วน 35% ของเศรษฐกิจประเทศ (photo : vanuatu.travel)

อย่างไรก็ตาม วานูอาตูก็มีโครงการเดินทางข้ามประเทศเพื่อช่วยเศรษฐกิจ โดยรัฐเพิ่งอนุญาตให้แรงงาน 172 คนเดินทางไปยังเขตนอร์ธ เทอริทอรีของออสเตรเลียเป็นเวลา 6 เดือนเพื่อทำงานเก็บมะม่วงในสวน แรงงานเหล่านี้จะส่งเงินกลับบ้านเพื่อพยุงเศรษฐกิจประเทศไว้ แต่วานูอาตูที่พึ่งพิงเศรษฐกิจท่องเที่ยวประมาณ 35% ของจีดีพี เม็ดเงินจากแรงงานคงจะไม่เพียงพอ

แต่วานูอาตูก็ไม่คิดจะเร่งเปิดประเทศ โดยดร.ตาริวอนดาชี้ให้เห็นกรณีของประเทศปาปัวนิวกินีที่เกือบจะเป็นประเทศปลอดเชื้อ แต่กลับมีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ทำให้เกิดข้อกังวลกับการเปิดประเทศอีกครั้ง

“ถ้ามีไวรัสหลุดเข้ามา มันจะกลายเป็นเหมือนไฟไหม้ป่า” ดร.ตาริวอนดากล่าว “เนื่องจากเรามีข้อจำกัดด้านสาธารณสุข บริบทของเราเองที่ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ทางเลือกที่ดีที่สุดของเราคือการป้องกันไวรัสไม่ให้เข้าประเทศให้นานที่สุด”

 

Travel Bubble เป็นความหวังเดียว?

แล้วประเทศปลอดเชื้อเหล่านี้ทำอะไรอื่นไม่ได้เลยหรือ? จากสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ มีกลยุทธ์ระยะสั้นคือ จ่ายเงินอุดหนุนให้กับคนงานและธุรกิจ ส่วนกลยุทธ์ระยะยาวก็คือ…รอให้วัคซีนวิจัยสำเร็จ

จนกว่าจะมีวัคซีน ความหวังที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ Travel Bubble “ข้อตกลงเหล่านี้ต้องมีการตกลงเงื่อนไขกันก่อน อย่างข้อตกลงชุดตรวจมาตรฐานร่วมกัน การติดตามตัวบุคคล และสถานที่กักกันโรค ถ้าหากเกิดการระบาดขึ้นอีก ข้อตกลงเหล่านี้กำลังมีการเจรจากัน แต่ก็เป็นไปอย่างช้าๆ อาจเป็นเพราะต้องสร้างขั้นตอนอย่างระมัดระวัง” รอมเมล ราบานาล จากธนาคาร ADB กล่าว

เมืองควีนส์ทาวน์ นิวซีแลนด์ (Photo : Pixabay)

แต่ในอีกมุมหนึ่ง โจนาธาน ไพรก์ ผู้อำนวยการโครงการหมู่เกาะแปซิฟิก สถาบัน Lowy ประเมินว่า Travel Bubble คงเป็นไปได้ยาก และถ้าเกิดขึ้นแล้วดีลยังล้มได้ง่ายมากด้วย

“ออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์เป็นสองประเทศที่ระบุว่าจะทดลองโครงการนี้” ไพรก์กล่าว “แต่ก่อนจะมี Travel Bubble ได้ ทั้งสองประเทศต้องหยุดการติดเชื้อภายในประเทศให้ได้ก่อน ดังนั้น ผมมองว่าความหวังของการมี Travel Bubble เกิดขึ้นภายในปีนี้จะเกิดขึ้นได้ยาก” (หมายเหตุ – โครงการ Travel Bubble ของออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ถูกเลื่อนออกไปก่อนตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม เพราะเกิดมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในออสเตรเลีย)

ไพรก์กล่าวว่า กลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกกำลังหลังพิงฝาเข้าไปทุกที แต่ทางเลือกเดียวที่พวกเขามีก็ยังคงเป็นการปิดประเทศ โดดเดี่ยวตัวเองจากสากลโลก “ต่อให้ประเทศหมู่เกาะเปิดพรมแดนอีกครั้ง ตลาดนักท่องเที่ยวหลักก็ยังเป็นชาวออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ และสองประเทศนี้ก็ยังล็อกพรมแดนตัวเองอยู่”

“ดังนั้นการเปิดประเทศอาจทำให้คุณต้องเผชิญสิ่งเลวร้ายที่สุดทั้งสองทาง คือทั้งวิกฤตสุขภาพและวิกฤตเศรษฐกิจ ในอนาคตเราคงจะได้ศึกษากันอีกยาวว่าการตัดสินใจที่ถูกต้องคืออะไร” ไพรก์กล่าว “แต่มองย้อนกลับไปตอนนี้ ไม่มีใครตั้งข้อสงสัยหรอกว่า การล็อกดาวน์ของกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกเหล่านี้เป็นการตัดสินใจที่ผิด”

Source