“อีเวนต์” หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดช่วงสถานการณ์ COVID-19 เพราะไม่สามารถจัดงานได้เลยในช่วงล็อกดาวน์ และปัจจุบันก็ยังต้องรักษาระยะห่างภายในงานอย่างเคร่งครัด กลายเป็นโจทย์ใหญ่ให้ ZAAP Party มือออร์กาไนซ์งานคอนเสิร์ตต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ทั้งรูปแบบงาน แหล่งรายได้ ไปจนถึงขั้นตอนทำงาน แม้ครึ่งปีแรกรายได้จะลดแรง 70-80% แต่เชื่อว่าทั้งปีจะฟื้นกลับมาเติบโต 29% จากปี 2562
“เทพวรรณ คณินวรพันธุ์” ซีอีโอ บริษัท ZAAP Party จำกัด ผู้จัดงานคอนเสิร์ตและปาร์ตี้ดังๆ ที่เรารู้จักกันดี เช่น S2O, Single Fest หรือเชียงใหญ่เฟส กล่าวถึงสถานการณ์บริษัทช่วงครึ่งปีแรก หลังเผชิญสถานการณ์ COVID-19 รายได้บริษัทลดลง 70-80% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่ามีการล็อกดาวน์งดการพบปะของผู้คนจำนวนมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่อีเวนต์ต้องยกเลิกหรือเลื่อนทั้งหมด
แต่ขณะนี้หลังภาครัฐคลายล็อกดาวน์อนุญาตให้จัดอีเวนต์ได้ โดยต้องมีการเว้นระยะห่าง ลดความหนาแน่นของคนภายในงาน ทำให้ ZAAP เริ่มกลับมาจัดงานได้ แถมมองว่ารายได้รวมปี 2563 น่าจะยังเติบโตได้ 29% เทียบปี 2562 ที่มีรายได้เกือบ 500 ล้านบาท
ขณะที่ผู้จัดงานอีเวนต์หลายแห่งต้องรัดเข็มขัดอย่างหนัก และยังคงอยู่ในสถานการณ์วิกฤต ทำไม ZAAP ถึงยังเติบโต? ต้องฟังจากปากเทพวรรณ ซีอีโอของบริษัท
รูปแบบงานต้องเปลี่ยน เล็กลง ถี่ขึ้น และสร้างสรรค์
ซีอีโอ ZAAP กล่าวว่า ข้อสรุปการทำงานหลังช่วง COVID-19 ของทีมงานประกอบด้วย 3C คือ Creativity – ความคิดสร้างสรรค์ , Collaboration – ความร่วมมือกับองค์กรอื่น และ Consumer Needs – ตอบความต้องการของลูกค้า
เริ่มจากโจทย์แรกที่ต้องปรับตัวคือ “รูปแบบงาน” แน่นอนว่าข้อกำหนดด้านสุขอนามัยทำให้การจัดอีเวนต์ไม่สามารถให้คนเข้างานได้หนาแน่นเท่าเดิม งานจึงต้องจัดเล็กกว่าเดิม แต่จัดให้ถี่ขึ้น และมีไอเดียสร้างสรรค์ มองความต้องการที่เป็นกระแสในหมู่ผู้บริโภคซึ่งจะเป็น “นิชมาร์เก็ต” ยิ่งกว่าที่เคย
“พฤติกรรมคนตอนนี้จะเลือกไปในแบบที่ตัวเองชอบจริงๆ ซึ่งมันจะแยกย่อยมากขึ้น จากเมื่อก่อนงานงานหนึ่งเพื่อนทั้งกลุ่มอาจจะชวนกันไปหมดทุกคน แต่ตอนนี้จะแยกกันไปกลุ่มเล็กๆ ไปเฉพาะที่อยากไปจริงๆ แล้วไปรู้จักเพื่อนใหม่ที่ชอบแบบเดียวกันในงาน” เทพวรรณกล่าว ดังนั้น งานที่จัดจะเล็กลงโดยปริยายเพราะเป็นนิชมาร์เก็ต บริษัทจึงต้องจัดงานให้บ่อยขึ้น และทำงานให้เร็วขึ้น
ยกตัวอย่างงาน Social This Camping Event ที่ The Green-Chayana Resort จ.เชียงราย เป็นคอนเสิร์ตผสมกับการแคมป์ปิ้งท่ามกลางธรรมชาติ มีผู้ร่วมงานหลักร้อยคนเท่านั้น ไอเดียนี้มาจากการมอง Consumer Needs ที่บริษัทเล็งเห็นว่าคนยุคนี้กำลังสนใจแคมป์ปิ้ง ป่าเขา ธรรมชาติ ทำให้นำมาผสานกับอีเวนต์ดนตรี
มุมที่มอง “งานอดิเรก” หรือความสนใจของผู้เข้าร่วมงานยังต้องเปลี่ยนใหม่ เพราะจากเดิมงานอีเวนต์อาจจะมีงานที่ใช้ดึงดูดลูกค้าชาวต่างชาติ เช่น S2O แต่เมื่อลูกค้ากลุ่มนี้ถูกตัดออก จะเหลือเฉพาะลูกค้าคนไทย ทำให้ต้องคิดบนฐานว่าลูกค้าคนไทยชอบอะไร และจะดึงคนไทยให้ยอมลงทุนเดินทางไปงานได้อย่างไร
พึ่งรายได้จาก “สปอนเซอร์” มากขึ้น
เมื่อรูปแบบงานเปลี่ยน คอนเสิร์ตต้องเว้นระยะห่าง จำนวนคนเข้างานมีน้อยลง แต่หากจะขายบัตรแพงขึ้นนั้น ซีอีโอ ZAAP บอกว่า “ทำไม่ได้” เพราะกำลังซื้อคนมีน้อยลงด้วยซ้ำ ดังนั้น ถ้าเป็นงานประเภทที่บริษัทเป็นโปรโมเตอร์คือร่วมลงทุนในงานด้วย โมเดลแหล่งรายได้จะเปลี่ยนไป
จากปกติรายได้งานแบบที่บริษัทเป็นโปรโมเตอร์มักจะมาจากค่าบัตร 40% และจากสปอนเซอร์ 60% ตอนนี้ต้องมีสัดส่วนรายได้จากสปอนเซอร์มากกว่าเดิม เพื่อให้ค่าบัตรยังเท่าเดิม หรือบางงานเป็นรายได้จากสปอนเซอร์ “ล้วนๆ” ทำให้บัตรเข้างานแจกฟรีผ่านกิจกรรมของสปอนเซอร์
ยกตัวอย่างงานแรกที่บริษัทจัดหลังคลายล็อกดาวน์คือ Amazing Thailand TUK TUK Festival by Chang Music Connection ผู้เข้าร่วมงาน 600 คนจะเข้างานได้ต้องร่วมกิจกรรมกับน้ำดื่มตราช้าง
เทพวรรณกล่าวว่า ส่วนนี้คือการ Collaboration กับองค์กรอื่นๆ เพราะต้องคิดแพ็กเกจจูงใจสปอนเซอร์ แน่นอนว่าเศรษฐกิจเช่นนี้ สปอนเซอร์ไม่ได้ออกงบประมาณให้ง่ายๆ บริษัทต้องนำเสนอว่าทำอย่างไรการจัดงานนี้จะคุ้มค่าสำหรับลูกค้า และต้องเข้าให้ถูกอุตสาหกรรมที่ยังต้องการใช้งบประมาณกับธุรกิจอีเวนต์ สำหรับกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทขณะนี้จะเป็นสินค้าเครื่องดื่ม ธุรกิจโทรคมนาคม และหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่ต้องการใช้อีเวนต์ฟื้นเศรษฐกิจท้องถิ่น
ลดต้นทุน เปลี่ยนขั้นตอนการทำงานเป็นเชิงรุก
รายรับลดแล้ว รายจ่ายต้องลดด้วย ส่วนนี้เทพวรรณมองว่าเป็นโชคดีที่ทุกคนในอุตสาหกรรมร่วมมือกันลดราคา ยกตัวอย่างเจ้าของสถานที่แทบทุกแห่งยินดีลดราคาเกิน 50% เพื่อให้ได้จัดงาน หรือซัพพลายเออร์สนับสนุนงานต่างมีส่วนลดให้ ซึ่งทำให้อีเวนต์ตัดต้นทุนไปได้มาก การจัดงานจึงยังคงมีกำไรเหมือนเดิม
นอกจากนี้ COVID-19 ยังทำให้บริษัทเปลี่ยนมาทำงานเชิงรุกมากกว่าเดิม โดยให้ครีเอทีฟคิดรูปแบบงานไว้เป็นแคตตาล็อก ถ้ามีคอนเซ็ปต์ไหนเหมาะสมกับลูกค้าสามารถดึงมาใช้ได้ทันที ทำให้การทำงานเร็วขึ้น
“ผมให้ครีเอทีฟคิดงานรอไว้เป็นสิบๆ งานเลย ปกติเราไม่ทำขั้นตอนแบบนี้ เมื่อก่อนเราจะไปรับบรีฟจากลูกค้าก่อน แล้วมาคิดงานอีก 2-3 อาทิตย์ค่อยกลับไปเสนอ ตอนนี้เรามีแบบงานพร้อมใช้ได้เลย” เทพวรรณกล่าว
ขยายไปจัดงานที่ไม่เคยทำมาก่อน
ปีนี้ ZAAP ยังพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วย คือโอกาสที่จะทำงานใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน จากจุดแข็งเดิมจะเน้นการจัดปาร์ตี้และคอนเสิร์ต ปีนี้สถานการณ์บีบให้ต้องรับงานทุกรูปแบบ ทำให้จะได้เห็นบริษัทออร์กาไนซ์งานวิ่ง ลานเบียร์ เทศกาลอาหาร ไปจนถึงงานเกมมิ่ง โดยอาศัยจ้างฟรีแลนซ์หรือบริษัทที่ถนัดงานรูปแบบนั้นๆ เข้ามาช่วยจัดอีเวนต์ร่วมกัน
“เราอยู่นิ่งไม่ได้แล้ว” เทพวรรณกล่าว “หลายคนบอกว่าต้องรอจนกว่าสถานการณ์จะเป็นปกติ แต่ผมว่ามันรอไม่ได้ เราต้องทำให้เห็นว่าอีเวนต์มันจัดได้และไปได้”
จากสถานการณ์ทั้งหมด ดูเหมือนกับว่า ZAAP จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ที่จริงบริษัทได้ผ่านจุดที่ “เหมือนเริ่มนับหนึ่งใหม่” มาแล้ว โดยช่วงที่ไม่มีงานเลยทำให้บริษัทต้องลดขนาดองค์กรลงครึ่งหนึ่ง โชคดีที่พนักงานส่วนใหญ่เป็นฟรีแลนซ์อยู่แล้ว ทำให้การลดและกลับมาเพิ่มคนทำงานยังง่ายกว่าบริษัทที่จ้างพนักงานประจำจำนวนมาก
เมื่อถามว่าถ้าสถานการณ์การจัดอีเวนต์ยังต้อง New Normal แบบนี้ไปจนถึงปีหน้า บริษัทจะยังไหวหรือไม่ เทพวรรณตอบว่า “ถ้าถามผมเมื่อเดือนที่แล้วผมอาจจะยังไม่แน่ใจ แต่ถ้าเป็นตอนนี้เราคิดว่าเรารับมือไหว”