หนุมานยีนส์ แบรนด์ไทยไปนอก

หลายยุคหลายสมัย “หนุมาน” เป็นฮีโร่ในวรรณคดีไทยสุดป๊อปตัวหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวแทนของ “วัฒนธรรมร่วมสมัย” อยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็น การสร้างภาพยนตร์ไทย เรื่อง หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์ นาฬิกา G-Shock Limited Edition รุ่น Mr.Windson (หนุมาน) ซึ่งออกแบบโดยเซเลบฯดัง อย่าง “นัท สารสาส” หรือกระทั่งกลายเป็นแบรนด์แฟชั่นแนวๆ ของ “ยีนส์ดีไซน์สำหรับผู้ชาย”

“ยีนส์หนุมานนี่ผมชอบของผมเอง มันเท่มากๆ” คำให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งของ “คุณชายอดัม-ม.ร.ว.ชาตรีเฉลิม ยุคล” ที่กล่าวถึงแบรนด์ในดวงใจ เขามักปรากฏกายในฟอร์แมต “เสื้อยืด+ยีนส์ (หนุมาน)” อยู่เสมอ

“วีร์ บัณฑิตวงศ์ไพศาล” เจ้าของหนุมานยีนส์ ยอมรับว่า ช่วงที่ผ่านมาตลาดยีนส์ถือว่าซบเซาตามวัฏจักรของยีนส์ที่รุ่ง-ร่วง ทุก 5-7 ปี โชคดีที่ธุรกิจหนุมานยีนส์มีสายป่านที่ยาว จากแบรนด์ “Gazoz” ธุรกิจยีนส์ของครอบครัวที่ฐานรากมั่นคงในตลาดเมืองนอกมายาวนาน “เมื่อก่อนส่งออกวันละสิบล้าน ขายดีจนผลิตไม่ทัน ผลิตได้เท่าไหร่ก็ไม่พอ แบบใหม่มี 5 แบบต่ออาทิตย์ ผลิตแบบละ 3,000 ตัว แต่ 2 ปีนี้ลดเหลือ 7-8 แบบต่อเดือน ผลิตแค่แบบละ 500 ตัว ที่อยู่ได้ในตอนนี้ ต้องเป็นโรงงานใหญ่จริงๆ”

ความไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาสินค้าช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้หนุมานยีนส์เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะยีนส์ทางเลือกใหม่ของวัยรุ่น “กางเกงยีนส์หนุมานรุ่นพิเศษ จัดทำขึ้น 999 ตัว ทั่วโลก ทำพิธีปลุกเสกที่หัวใจเรา ก่อนสวมใส่ควรท่องคาถา 3 จบ คิดดี-พูดดี-ทำดี ยีนส์รุ่นนี้ใส่แล้วดูดี ดูสมาร์ท ดึงดูดเพศตรงข้าม ใส่ทำงาน จะเจริญรุ่งเรือง” Tag ที่ติดมากับ “กางเกง(ยีนส์) ลิง” รุ่น “ลงยันต์” เป็นลูกเล่นซุกซนล่าสุดที่เขาครีเอตขึ้นมา

ยีนส์หนุมานโดดเด่นออกมาจากกว่าพันแบรนด์ในตลาด ด้วยการดึงเอาเอกลักษณ์ของความเป็นไทยต่างๆ มาผสมผสานบนผืนผ้า เช่น หมุด กระดุมที่สลักเป็นรูปหนุมาน เรียกสายตาด้วยลวดลายแบบไทยๆ เช่น ลายกนก ลายยันต์ รวมถึงการออกแบบ “ป้ายแบรนด์” ใหม่เพื่อให้เข้ากับกางเกงยีนส์แต่ละรุ่นอยู่เสมอ เช่น ยีนส์สไตล์วินเทจ ป้ายก็ต้องลุควินเทจ แต่ละคอลเลกชั่นของหนุมานจึงสร้างความตื่นเต้นให้ผู้ที่สะสมอยู่ไม่น้อย

เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาโทที่สหรัฐฯ วีร์เริ่มหารายได้พิเศษจากการฝากขายกางเกงยีนส์ผ้ายืดสำหรับผู้หญิงซึ่งเป็นธุรกิจหลักของครอบครัว “ยีนส์ Gazoz ของเราได้เปรียบด้านราคาที่ต่ำกว่าในคุณภาพที่ชาวต่างชาติให้การยอมรับ” หลังจากนั้นเขาจึงเริ่มทำ Made-to-order ให้กับยีนส์แบรนด์ ARMY และแฟรนไซส์ BB เสื้อผ้าดังในอเมริกา

“ผมก็เลยเริ่มมั่นใจในสินค้าของบ้านเรา เมื่อก่อนลูกทุ่งอ่ะนะ พี่น้องทำกันเอง แบบยีนส์ที่เราได้ทุกวันนี้ก็เรียนรู้จากต่างชาติ เพราะสิบปีก่อนโน้น แฟชั่นมันมาจากยุโรปก่อนลามไปนิวยอร์ก กว่าจะถึงบ้านเราก็ต้องใช้เวลาสามถึงหกเดือน” ทำอยู่สองปีจึงพบจุดเปลี่ยนเมื่อโควต้าสินค้าสิ่งทอจากเมืองไทยถูกระงับการนำเข้าจากรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วยเหตุที่อ้างว่าพบผู้ประกอบการไทยนำสินค้าจีนมาตีตราเมดอินไทยแลนด์

สิบปีที่แล้วในอเมริกา ดีเซล (Diesel) เป็นแบรนด์เดียวที่ทำตลาด “ยีนส์แฟชั่น” สำหรับ “ผู้ชาย” จนฮิตติดตลาดในระยะเวลาอันรวดเร็ว ยีนส์ดีเซลปฏิวัติวงการยีนส์ชายด้วยการฟอกสี สร้างดีไซน์เก๋ๆ ขึ้นมา วีร์เองก็เห็นแนวโน้มการตลาดว่า อนาคตผู้ชายจะช้อปปิ้งมากขึ้น แต่งตัวมากขึ้น จึงโทรศัพท์มาบอกทางบ้านว่าจะกลับเมืองไทยเพื่อเป็นผู้ผลิตยีนส์ดีไซน์สำหรับผู้ชายอย่างเต็มตัว แล้วก็เป็นจริง เมื่อสินค้าในตลาดช่วงหลายปีหลัง มีผลิตภัณฑ์ประเภท “For Men” ออกมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งดีเซลยังติดอันดับแบรนด์ยีนส์ที่ผู้บริโภคไทยอยากเป็นเจ้าของมากที่สุด ทั้งที่ตลาดบ้านเราสมัยนั้น ชายส่วนใหญ่รู้จักเพียงยีนส์เบสิกอย่าง “แมคยีนส์” และ “ลีวายส์”

“หนึ่ง ผมอยากทำแบรนด์ยีนส์ผู้ชาย สอง ผมอยากแตกแบรนด์ใหม่เพื่อที่จะลองตลาด สาม ผมอยากทำตลาดเมืองไทย อยากเปลี่ยนทัศนคติคนไทย ว่าของไทยนี่แหละดีจริง” ความมุ่งมั่นของวีร์มาลงตัวที่แบรนด์ “Hanuman Jeans” ซึ่งจดลิขสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อย “ผมอยากได้ชื่อแบรนด์ไทยๆ เพราะไปอยู่เมืองนอกแล้วมันภาคภูมิใจในสินค้าของเรา อย่างเสื้อกอล์ฟยี่ห้อคาราเว ที่อเมริกาขายห้าหกพันบาท ของเขาดีจริงๆ ไง หรือรองเท้าไทยยี่ห้อนึงคุณภาพดีมากๆ ขายในห้างไทยคู่ละพัน ขายที่อเมริกาคู่ละหมื่น ผมใส่ทำงานเสิร์ฟทั้งวัน ไม่เมื่อยเลย ด็อกเตอร์มาร์ตินจากอังกฤษยังสู้ไม่ได้”

กลยุทธ์ในตำราพิชัยสงครามของหนุมานยีนส์ก็คือ ส่งทัพหนุมานออกไปบุกตลาดเมืองนอก จนเป็นที่ยอมรับและกล่าวขานถึง กระทั่งรอเวลาให้ชื่อเสียงสะท้อนกลับมาเข้าหูผู้บริโภคชาวไทย “เปลี่ยนทัศนคติคนไทยให้เชื่อว่าของเราดีกว่าน่ะยาก” วีร์กล่าว เขาจึงเรียนรู้วิธีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนไทยโดยเทียบกับตัวเอง

ช่วงแรกที่นำเสนอตัวเองสู่ตลาด (โลก) วีร์ใช้วิชาหนุมานประสายกาย พ่วงขายความน่าเชื่อถือไปพร้อมๆ กับแบรนด์ Gazoz ที่ติดตลาดมาเป็นเวลากว่าสิบปี แรกๆ จึงจำเป็นใช้ชื่อแบรนด์ว่า “Hanuman by Gazoz” กระทั่งตอนหลัง ก็สามารถแยกแบรนด์ออกมาเป็น Hanuman Jeans ได้อย่างภาคภูมิ

ราคาขายส่งที่ตั้งไว้บวกกำไรเพียง 10-15 เปอร์เซ็นต์ หากเป็นราคาปลีกหน้าร้านจะอยู่ที่ 690-950 บาท เพื่อเจาะกลุ่มวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ที่รักแฟชั่นโดยเฉพาะ ล่าสุด หนุมานเริ่มผลิตยีนส์สำหรับผู้หญิงออกมาวางจำหน่ายเพื่อเติมเต็มช่องว่างของแบรนด์อีกด้วย

ปัจจุบันหนุมานยีนส์ยังคงอยู่ในขั้นเก็บชื่อเสียงอยู่ในตลาดต่างประเทศ เพราะส่งออกถึง 80-90% ครึ่งหนึ่งเป็นตลาดยุโรป มีตัวแทนจำหน่ายเช่น ในฟินแลนด์ แคนาดา ขณะที่อีกครึ่งบุกตลาดแอฟริกา

“เคยมีลูกค้าแอฟริกันเข้ามาดูยีนส์ในร้าน เขาก็ชมว่าของเราสวยดี แต่เขาไม่ซื้อแล้วล่ะ เพราะเขามีกางเกงยีนส์ดีๆ แพงๆ อยู่แล้ว ว่าแล้วก็ชี้ให้ดู ผมถึงกับหัวเราะ ว่าเอ๊านี่ยีนส์ของร้านเรานี่ เขาบอกที่นั่นขายตัวละแปดเก้าพันบาท” สำหรับคนไทย วีร์เห็นว่า ราคาของยีนส์หนุมานอาจแพงเกินไปในสภาพตลาดที่มีตัวเลือกเยอะ

ในอดีต เสื้อผ้าฮ่องกงขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพ เสื้อผ้าไทยราคาถูกกว่าในคุณภาพที่ใกล้เคียง กระทั่งวันเวลาเปลี่ยนไป ไทยผลิตสิ่งทอเกรดเอ ในขณะที่ประเทศจีนเริ่มตั้งตัวได้ และเริ่มจะผลิตสินค้าเกรดบี “ผมเชื่อว่าอีกสิบปีของจีนจะแพงเท่าของเรา กะไว้เลยว่าวันนึงจะต้องเอายีนส์ไปขายเมืองจีน เพราะตลาดใหญ่ คนเยอะ แต่ตอนนี้ยังเข้าไปไม่ได้ ราคาเรายังสูงอยู่”
วีร์วางแผนว่าปลายปีนี้ หากการเมืองนิ่ง ก็น่าจะเริ่มลงทุนอะไรใหม่ๆ ให้กับแบรนด์ ภายใน 1-2 ปี เขาตั้งใจจะเปิดช็อปของหนุมานยีนส์ในห้างสรรพสินค้า แล้วต่อยอดสู่ไอเท็มอื่นๆเช่น เสื้อยืด หมวก “ผมไม่เคยเจอคุณอดัมเป็นการส่วนตัว แต่ดีใจที่เขาชอบงานของเรา ถ้าเป็นไปได้วันนึงผมอยากเชิญมางานเปิดร้าน”

ดูท่า ยีนส์เป็นวัฒนธรรมการแต่งกายที่เป็น “อมตะ” เฉกเช่นหนุมานที่มีมากด้วยอิทธิฤทธิ์และ “ไม่มีวันตาย”
แม้จะมีวิธีการทำตลาดต่างกัน แต่โลคอลแบรนด์ทั้งสองต่างถือกำเนิดจากความเป็น “พื้นบ้าน” หรือ “รากฐานของความเป็นไทย” ใส่ไอเดียให้แหวกและแตกต่าง หาใช่เพียงเฉพาะวัตถุดิบ หรือแรงงาน หากแต่รวมถึงวิธีคิดที่มีจุดกำเนิดจากความ “ภาคภูมิใจ” ใน “ต้นทุนทางปัญญา” ของคนไทยด้วยกันเอง

ทำไมต้องหนุมาน
1.ชื่อแบรนด์ บ่งบอกถึงความเป็นไทยชัดเจน ให้ความรู้สึกแหวกและแตกต่างไปจากแบรนด์ยีนส์ทั่วไป ที่มักใช้ชื่อภาษาอังกฤษเป็นหลัก

2.การใส่รายละเอียดในงานดีไซน์ เช่น กระดุมที่สลักเป็นรูปหนุมาน เรียกสายตาด้วยลวดลายแบบไทยๆ เช่น ลายกนก ลายยันต์ รวมถึงการออกแบบ “ป้ายแบรนด์” ใหม่เพื่อให้เข้ากับกางเกงยีนส์แต่ละรุ่นอยู่เสมอ

3.ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคนี้ ต้องการแสดงออกถึงความเป็นตัวตน มีไม่น้อยที่ปฏิเสธความเป็นแบรนด์เนม เพราะไม่ต้องการซ้ำ หรือเลียนแบบใคร