ขณะที่ผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากไวรัส COVID-19 กำลังจะแตะ 1 ล้านคน ‘องค์การอนามัยโลก’ หรือ ‘WHO’ กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า มีความ ‘เป็นไปได้’ ที่ผู้เสียชีวิตจะเพิ่มเป็น 2 เท่า หากประเทศต่าง ๆ ไม่ดำเนินการในการปราบปรามการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างสม่ำเสมอ
นับตั้งแต่ไวรัส COVID-19 อุบัติขึ้นจากเมืองอู่ฮั่นประเทศจีนเมื่อปลายปีที่แล้ว ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 32 ล้านคนทั่วโลก และคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 983,900 ราย ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ อย่างไรก็ตาม แม้อัตราการเสียชีวิตจาก COVID-19 จะลดลงอย่างช้า ๆ ในช่วงที่เกิดการระบาด เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพมีความก้าวหน้าในการรักษาผู้ป่วยที่ป่วยหนักด้วยการใช้ออกซิเจนและสเตียรอยด์ที่ดีขึ้น รวมถึงการรักษาอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ดร.ไมเคิล ไรอัน ศัลยแพทย์และนักระบาดวิทยา ผู้อำนวยการบริหารโครงการสุขภาพภาวะฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้เสียชีวิตจะทะลุ 2 ล้านรายก่อนที่วัคซีน COVID-19 จะพร้อมใช้งานหากผู้นำระดับโลกไม่ดำเนินมาตรการช่วยชีวิตให้ดีขึ้น รวมถึงพัฒนาลักษณะและขนาดและความเข้มข้นของความร่วมมือ
“มันไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าเรามองไปที่การสูญเสียทั่วโลกในตลอด 9 เดือนที่ผ่านมานั้นเกือบจะแตะ 1 ล้านคนแล้ว และถ้าเราก็ดูความเป็นจริงของการผลิตวัคซีนที่อาจจะมาในอีก 9 เดือนข้างหน้า มันเป็นงานใหญ่สำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง คำถามคือ เราเตรียมพร้อมพร้อมที่จะทำในสิ่งที่ต้องทำเพื่อหลีกเลี่ยงตัวเลขนั้นหรือไม่”
มาเรีย แวน เคอร์โกโฮฟ หัวหน้าฝ่ายโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดต่อขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อ COVID-19 และการรับผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง โดยผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้น 5% หรือมากกว่า เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่แล้วโดยอ้างอิงจากค่าเฉลี่ย 7 วัน
ทั้งนี้ องค์กรด้านสุขภาพของสหประชาชาติกำลังดำเนินการเพื่อจัดหาวัคซีนให้กับประชากรทั่วโลก ผ่านโครงการ COVAX ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแจกจ่ายวัคซีน COVID-19 ในอนาคตอย่างเท่าเทียมทั่วโลก โดยปัจจุบันมีกว่า 159 ประเทศที่จะเข้าร่วม
“การที่จะป้องกันคนอีกล้านคนไม่ให้เสียชีวิตด้วย COVID-19 นั้นไม่ได้หมายความแค่จะต้องมีวัคซีน แต่มันเป็นหน้าที่ของการที่เราจะนำเครื่องมือแนวทางและความรู้ที่เรามีในวันนี้มาใช้เพื่อช่วยชีวิตและป้องกันการแพร่เชื้อ ดังนั้น เราไม่ควรรอที่จะหวังพึ่งเพียงวัคซีน” ดร.บรูซ อิลเวิร์ด ที่ปรึกษาอาวุโสของผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าว