-
อโกด้า เปิดพฤติกรรมการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย มีแนวโน้มจองโรงแรม “หรูขึ้น” หลังงบท่องเที่ยวเหลือเพราะออกเที่ยวต่างประเทศไม่ได้
-
กลุ่มจังหวัด “เมืองรอง” มีโอกาสสูงขึ้น เพราะคนไทยต้องการสถานที่แปลกใหม่ที่ไม่เคยไปมาก่อน ยกตัวอย่างที่มาแรง เช่น เกาะกูด จันทบุรี นครศรีธรรมราช ฯลฯ
-
“เราเที่ยวด้วยกัน” ได้ผลในการผลักดันธุรกิจท่องเที่ยว โดยมีการจองมากกว่า 1 ล้านคืนแล้วในแคมเปญนี้ แต่ถ้าหากยังไม่มีวัคซีนรักษาโรค COVID-19 และนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเข้าประเทศได้ตามปกติ เชื่อว่าการท่องเที่ยวไทยจะยังไม่ฟื้นเต็มที่
“จอห์น บราวน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อโกด้า ประเทศไทย เปิดข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยและพฤติกรรมท่องเที่ยวของคนไทยหลังผ่านสถานการณ์ COVID-19 จอห์นมองว่า อโกด้ารวมถึงทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วเมื่อเดือนเมษายน และสถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้น คาดว่าจะยังเติบโตต่อเนื่องในไตรมาส 4/63
ในประเทศไทย อย่างที่ทราบกันดีว่าต้องหันมาพึ่งท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก เพราะประเทศไทยยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามปกติ แม้จะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวรูปแบบวีซ่าระยะยาวแล้ว แต่ก็น่าจะยังเป็นสัดส่วนที่น้อย เปรียบเทียบกับช่วงก่อน COVID-19 ที่การจองห้องพักในไทยกับอโกด้า 50% เป็นคนไทย และ 50% เป็นชาวต่างชาติ ขณะนี้การจองของชาวต่างชาติมีน้อยมาก ทำให้สัดส่วนเป็นคนไทย 90% และต่างชาติ 10%
ด้านกลุ่มพาร์ตเนอร์โรงแรมของบริษัท 53,000 แห่งทั่วประเทศ ยังไม่พบการถอนการลงทะเบียนกับอโกด้า แต่มีบางส่วนที่ปิดชั่วคราวในเดือนเมษายน และกำลังทยอยกลับมาเปิดให้บริการ
จองที่พักหรูขึ้นเพราะงบเหลือ
เมื่อคนไทยคือลูกค้าหลัก ทำให้การทำความเข้าใจพฤติกรรมท่องเที่ยวของคนไทยสำคัญมาก จอห์นเปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้คนไทยเลือกที่พักด้วยปัจจัย 3 ประการคือ
1) ที่พักมีความสะอาด ปลอดภัยจากโรคระบาด COVID-19
2) ยืดหยุ่นในการจอง สามารถยกเลิกหรือเลื่อนได้ เนื่องจากลูกค้ายังกังวลว่าอาจเกิดการระบาดซ้ำก่อนที่จะถึงกำหนดทริปท่องเที่ยวของตน
3) ราคาถูกกว่าปกติ เป็นประเด็นสำคัญมากในเวลานี้ที่เศรษฐกิจค่อนข้างซบเซา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะต้องการโปรโมชันราคาคุ้มค่า แต่คนไทยที่ออกท่องเที่ยวก็มีพฤติกรรมใช้จ่ายมากกว่าที่เคยโดยมักจะเลือกที่พักที่มีระดับสูงขึ้น เช่น เคยเลือกโรงแรม 3 ดาวขยับมาเป็น 4 ดาว ซึ่งอโกด้าวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะคนไทยไม่สามารถออกเที่ยวต่างประเทศได้ ทำให้ “งบเหลือ” และนำเงินมาใช้จ่ายกับที่พักที่ดีขึ้น
คนไทยนิยมเที่ยวเมืองรองสูงขึ้น
ด้านจุดหมายปลายทางยอดนิยมของคนไทยที่มีการจองเข้าพักระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน-31 ธันวาคม 2563 (เก็บข้อมูลเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563) 10 อันดับแรก ได้แก่
1) กรุงเทพมหานคร
2) พัทยา
3) เชียงใหม่
4) หัวหิน/ชะอำ
5) ภูเก็ต
6) เขาใหญ่
7) ชลบุรี
8) กาญจนบุรี
9) กระบี่
10) ระยอง
อย่างไรก็ตาม จอห์นระบุว่ามีบางเมืองที่อยู่ในกลุ่ม “เมืองรอง” ได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างเช่น “เกาะกูด” ที่เข้าไปติด Top 10 จุดหมายปลายทางที่คนไทยค้นหามากที่สุดในอโกด้า นอกจากนี้จะมีจังหวัดที่มาแรง เช่น นครศรีธรรมราช จันทบุรี นครนายก ขอนแก่น อุดรธานี
“คาดว่าเป็นเพราะคนไทยที่ไปต่างประเทศไม่ได้จะเริ่มมองหาสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ในประเทศแทน” จอห์นกล่าว “ดังนั้นอโกด้ากำลังพยายามหาพาร์ตเนอร์โรงแรมเพิ่มในจุดที่เห็นว่าลูกค้าค้นหามากขึ้น และโชคดีที่อโกด้ามีพาร์ตเนอร์ในพื้นที่เมืองรองอยู่บ้างแล้ว ทำให้ได้ประโยชน์จากเทรนด์นี้”
“เราเที่ยวด้วยกัน” ช่วยพยุง แต่ถ้าไร้ต่างชาติก็ยังไม่ฟื้นเต็มที่
ขณะที่ดีมานด์การท่องเที่ยวคนไทยยังมีอยู่ แต่ก็ต้องได้รับการกระตุ้นด้วย ซึ่งจอห์นให้ความเห็นว่าแคมเปญ “เราเที่ยวด้วยกัน” ของภาครัฐสามารถกระตุ้นดีมานด์ได้สำเร็จ จนถึงปัจจุบันมีการจองผ่านแคมเปญนี้ไปแล้วมากกว่า 1 ล้านคืน โดย “อโกด้า” เป็นหนึ่งในพาร์ตเนอร์หลักในการใช้สิทธิเราเที่ยวด้วยกัน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของการใช้สิทธิเราเที่ยวด้วยกันที่จองผ่านอโกด้า
ทั้งนี้ อโกด้าไม่มีการเก็บค่าคอมมิชชันกับโรงแรมเมื่อลูกค้าจองผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกัน (ปกติจะมีการเก็บค่าคอมมิชชัน 10-15%) และงานนี้เป็นงานอาสาพัฒนาแพลตฟอร์มให้รัฐบาลโดยไม่รับเงินสนับสนุน ด้วยแนวคิดของพนักงานอโกด้าที่นำเสนอทีมผู้บริหารเองว่า บริษัทควรเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ บริษัทจึงตัดสินใจส่งทีมโปรแกรมเมอร์ราว 12 คนช่วยพัฒนาแพลตฟอร์มฟรี และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แคมเปญเปิดตัวได้เร็ว
อย่างไรก็ตาม แม้เราเที่ยวด้วยกันจะได้ผล และคนไทยมีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากยิ่งกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 แต่จอห์นกล่าวว่า ยังไม่สามารถครอบคลุมส่วนที่หายไปเพราะขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้
เนื่องจากพฤติกรรมการเที่ยวต่างกัน ขณะที่ชาวต่างชาติมักจะพักผ่อนนาน 1-2 สัปดาห์ต่อทริป แต่คนไทยมักจะจองห้องพักเพียง 1-2 คืนต่อทริป ทำให้นักท่องเที่ยวหนึ่งคนมีกำลังซื้อต่ำกว่าในการเที่ยวหนึ่งครั้ง
“มองว่าต้องมีวัคซีนเท่านั้น จึงจะทำให้การท่องเที่ยวไทยกลับไปเป็นปกติเท่ากับปี 2562” จอห์นกล่าวถึงอนาคตระยะยาวของธุรกิจนี้
สำหรับบริษัทอโกด้าเอง ได้ผ่านจุดที่ยากที่สุดคือกระบวนการ “ลดต้นทุน” ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจเลย์ออฟพนักงานบางส่วน ลดเงินเดือนผู้บริหาร ลดงบการตลาด งดกิจกรรมของพนักงาน ลดพื้นที่เช่าออฟฟิศ ทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะเดินต่อได้ โดยจอห์นมองว่าถ้ายังไม่มีวัคซีนใน 1-2 ปีนี้ บริษัทก็อยู่ในจุดที่อยู่ตัวพอจะดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ