H&M สวีเดนเปิดตัวเครื่องจักร “รีไซเคิล” เสื้อผ้า ให้ลูกค้าสามารถนำเสื้อผ้าเก่าที่ไม่ใช้แล้วมาปั่นเส้นด้ายขึ้นรูปเป็นตัวใหม่ได้ที่สาขาสตอกโฮล์ม โดยลูกค้าสามารถชมทุกกระบวนการได้จากด้านนอกตู้คอนเทนเนอร์ พร้อมรับเสื้อผ้าใหม่กลับบ้านได้ทันที หวังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้บริโภครู้คุณค่าของเสื้อผ้า ตามแนวทางของ H&M ที่พยายามมุ่งสู่เส้นทางความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อีกหนึ่งความพยายามบนเส้นทางเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม H&M สวีเดน เปิดตัวระบบรีไซเคิลเสื้อผ้า Looop ที่สาขา Drottninggatan กรุงสตอกโฮล์ม โดยเครื่องจักรรีไซเคิลผ้าจะอยู่ภายในตู้คอนเทนเนอร์กระจกใส ทำให้ลูกค้าสามารถชมกระบวนการทำงานได้จากภายนอก และรอรับเสื้อผ้าใหม่หลังรีไซเคิลได้ทันที
กระบวนการทำงานของเครื่องจักรนี้ จะนำเสื้อผ้าเก่าของลูกค้ามาทำความสะอาด หั่นเป็นเส้นใย ปั่นเป็นเส้นด้าย และถักทอขึ้นรูปเป็นเสื้อผ้าชิ้นใหม่ โดยระหว่างกระบวนการจะมีการเติมวัสดุใหม่ลงไปด้วย แต่จะใส่เป็นสัดส่วนให้น้อยที่สุดที่เป็นไปได้ รวมถึงตลอดกระบวนการจะไม่มีการใช้น้ำและสารเคมีเพิ่ม
ลูกค้าสามารถมาใช้เครื่องจักรที่เหมือนย่อส่วนโรงงานรีไซเคิลผ้าให้เหลือเท่าตู้คอนเทนเนอร์นี้ได้ โดยผู้ที่เป็นสมาชิก H&M จะมีค่าธรรมเนียม 100 โครนาสวีเดน (ประมาณ 350 บาท) ส่วนผู้ที่ไม่เป็นสมาชิกจะมีค่าธรรมเนียม 150 โครนาสวีเดน (ประมาณ 525 บาท) โดยรายได้ทั้งหมดบริษัทจะนำส่งให้โครงการต่างๆ ที่วิจัยเกี่ยวกับวัสดุ
ตัวโครงการเครื่องจักรรีไซเคิล Looop นี้เองก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการไม่แสวงหากำไร H&M Foundation ร่วมมือกันพัฒนากับ HKRITA (สถาบันวิจัยด้านสิ่งทอและเครื่องแต่งกายแห่งฮ่องกง) และบริษัทปั่นเส้นด้ายจากฮ่องกง Novetex Textiles
“จุดประสงค์ของโครงการนี้คือการให้แรงบันดาลใจกับลูกค้าของเรา ให้พวกเขาเก็บเสื้อผ้าของตนไว้ใช้ให้นานที่สุดที่เป็นไปได้ แต่ก็ยังช่วยให้พวกเขาเข้าใจด้วยว่า เสื้อผ้าเก่าเหล่านั้นยังมีคุณค่าเมื่อนำไปรีไซเคิล” พาสคาล บรุน หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนแบรนด์ H&M กล่าวกับสำนักข่าว Reuters
“สิ่งที่เราต้องการรีไซเคิลนั้นนอนอยู่ก้นตู้เสื้อผ้าของลูกค้านั่นเอง” อีริค แบง แห่ง H&M Foundation กล่าวเสริม ทั้งนี้ บริษัทไม่เปิดเผยว่าจะมีการขยายตู้คอนเทนเนอร์ปั่นเสื้อผ้าตัวใหม่จากตัวเก่านี้ไปสาขาใดอีกหรือไม่
อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ก่อให้เกิดมลพิษมากที่สุด จากการใช้น้ำและสารเคมีมหาศาลในการผลิตผ้าสักชิ้น โดยมีธุรกิจเสื้อผ้าแบบฟาสต์แฟชั่นเป็นตัวเร่งให้มีการผลิตเสื้อผ้ามากเกินจำเป็น เพราะลักษณะธุรกิจเน้นการกระตุ้นให้ลูกค้าใส่เสื้อผ้าแบบครั้งเดียวทิ้ง และเปลี่ยนเสื้อผ้าตามแฟชั่นอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงผลเสียมากขึ้น ทำให้แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นต่างต้องปรับตัว
เป้าหมายของ H&M หลังการปรับตัวดังกล่าวนั้น ต้องการให้วัสดุ 100% ที่ใช้ผลิตเสื้อผ้าของแบรนด์ทำจากผ้ารีไซเคิลหรือมาจากแหล่งผลิตที่มีความยั่งยืนภายในปี 2030 โดยตัวเลขล่าสุดในปี 2019 อยู่ที่ 57% นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าจะกำจัดการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดระหว่างขั้นตอนผลิตให้ได้ภายในปี 2040
- ครั้งแรกของโลก! Coca-Cola โชว์ขวดใหม่สุดกรีน รีไซเคิลจากขยะพลาสติกทางทะเล 25%
- Marubeni พร้อมลุยปีหน้า จับมือสตาร์ทอัปอเมริกันรีไซเคิลไฟเบอร์ใยผ้า
ก่อนหน้านี้ H&M มีโครงการเพื่อกระตุ้นด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นระยะ เช่น โครงการรับคืนเสื้อผ้าเก่าที่สาขาเพื่อบริษัทจะนำไปรีไซเคิล อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ต้องหยุดกะทันหันเพราะโรคระบาด COVID-19 ทำให้เกิดความกังวลในการเก็บเสื้อผ้ามือสอง
นอกจากนี้ H&M Foundation กับ HKRITA มีความร่วมมือกันอีกโครงการหนึ่งในสเกลที่ใหญ่กว่า คือการพัฒนาระบบแยกส่วนเส้นใยฝ้ายกับเส้นใยโพลีเอสเตอร์ออกจากกันในกลุ่มผ้าเส้นใยผสม โดยโรงงานที่จะใช้ระบบนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง
Source: H&M และ Reuters