สายการบิน AirAsia ต่อลมหายใจเพื่อดิ้นรนจากวิกฤต COVID-19 เตรียมรับเงินกู้ช่วยเหลือจากรัฐบาลมาเลเซียจำนวน 1,000 ล้านริงกิต (ราว 7.5 พันล้านบาท) พร้อมวางเเผนปรับลดขนาดฝูงบิน หลังเพิ่งยุติกิจการในญี่ปุ่น เเละเตรียมปลดพนักงานรอบ 2
Nikkei Asian Review รายงานโดยอ้างแหล่งข่าว ระบุว่า AirAsia จะได้รับเงินกู้จำนวน 1,000 ล้านริงกิต ที่ดำเนินการโดยกลุ่มธนาคารท้องถิ่น ภายใต้โครงการของรัฐบาล เพื่อช่วยบริษัทเเละผู้ประกอบการต่างๆ สู้กับสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVId-19 โดยกระทรวงการคลังของมาเลเซียจะค้ำประกันให้ 80%
“เงินกู้ 1,000 ล้านริงกิตสำคัญมากกับ AirAsia เพราะจะได้นำไปใช้ชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นและเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ” แหล่งข่าวใกล้ชิดกับกระทรวงฯ รายหนึ่งกล่าวกับ Nikkei โดยคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ในเดือนหน้า
นอกจากนี้ แหล่งข่าวในสายการบินยังบอกกับ Nikkei ว่า บริษัทมีเเผนจะปรับลดพนักงานอีกรอบในเดือนหน้านี้ โดย AirAsia ได้ปลดพนักงานไปแล้ว 2,400 คน จากจำนวนก่อน COVID-19 ที่มีอยู่ราว 2 หมื่นคน เเละกำลังจะเตรียมปลดพนักงานอีกรอบ ซึ่งครั้งนี้จะมีจำนวนราว 400 คน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่บริษัทจะปลดลูกเรือและนักบิน เเต่ครั้งนี้จะรวมหน่วยงานทั้งหมด
เมื่อ Nikkei สอบถามไปยัง AirAsia เพื่อขอความเห็น แต่ทาง AirAsia บอกว่ายังไม่มีอะไรจะประกาศในเวลานี้ และปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น ขณะที่แถลงการณ์ของกระทรวงการคลังของมาเลเซียระบุว่า “ยังไม่ได้อนุมัติการจัดหาเงินทุนของรัฐบาลหรือการค้ำประกันให้กับสายการบินใดๆ”
สถานการณ์ของ AirAsia กำลังสั่นคลอนเช่นเดียวกันกับสายการบินทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ที่ทำให้การเดินทางลดลงอย่างมาก เเม้จะกลับมาบินในประเทศได้บ้างเเล้ว เเต่ก็ไม่สามารถทดเเทนรายได้จากการบินระหว่างประเทศได้
AirAsia ภายใต้การนำของซีอีโอเเละผู้ก่อตั้งอย่าง Tony Fernandes ต้องปรับลดพนักงานไปเเล้วกว่า 10% เเละมีเเผนจะลดขนาดฝูงบินเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต้องเเบกรับ
เมื่อเดือนกรกฎาคม Fernandes ได้ให้สัมภาษณ์กับ Nikkei ว่า AirAsia จำเป็นต้องได้รับเงินทุน 2 พันล้าน
ริงกิต (ราว 1.5 หมื่นล้านบาท) ในอีก 6 เดือนข้างหน้า เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถไปต่อได้เเบบ “สบายๆ”
“ถ้าได้ 1 พันล้านริงกิต เราก็สบายเเล้ว เเต่ถ้าเราหาเงินได้ 2 พันล้านริงกิต เราจะอยู่ในสถานะที่สบายมาก”
โดยสายการบิน AirAsia ตั้งเป้าที่จะระดมทุนครั้งใหญ่ ส่วนหนึ่งมาจากการออกหุ้น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วง 4 เดือนต่อจากนี้
ก่อนหน้านี้ จากรายงานของ Reuters ระบุว่า ผู้ก่อตั้งสายการบิน AirAsia กำลังหารือกับ Airbus เพื่อลดคำสั่งซื้อที่รอดำเนินการของเครื่องบิน A320 และ A321 ตลอดจน A330 โดย AirAsia ต้องการลดฝูงบินให้เหลือ 180 ลำ ภายในปี 2021 จากปัจจุบันที่มีอยู่ 245 ลำ
ในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้ AirAsia รายงานผลขาดทุนสุทธิ 1.8 พันล้านริงกิต เทียบกับกำไรสุทธิ 111.78 ล้านริงกิตในช่วงเดียวกันของปี 2019 ทำให้รายได้ลดลงมากกว่าครึ่งเป็น 2.43 พันล้านริงกิต จาก 5.65 พันล้านริงกิต เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา สายการบินยังได้ประกาศหยุดให้บริการ AirAsia Japan หลังจากดำเนินการมา 3 ปี
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมาเลเซีย ยังไม่มีนโยบายสนับสนุนสายการบิน “มาเลเซีย แอร์ไลน์” (Malaysia Airlines) หลังจากล่าสุดได้ให้เงินสนับสนุนไป 1.5 พันล้านริงกิต (ราว 1.1 หมื่นล้านบาท) ในช่วงที่เครื่องบินประสบอุบัติเหตุ เมื่อปี 2014 เเละตอนนี้รัฐบาลยังไม่มีแผนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติมกับ “สายการบินประจำชาติ” ในวิกฤต COVID-19
ที่มา : Nikkei Asian Review , Asian Aviation